‘ดอน-บลิงเกน’ ลงนามเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ชูสัมพันธ์สองชาติแข็งแกร่ง

‘ดอน-บลิงเกน’ ลงนามเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ชูสัมพันธ์สองชาติแข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือกับนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยหลังการหารือทั้งคู่ได้ลงนามในเอกสาร 2 ฉบับคือ แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา (Communiqué on Strategic Alliance and Partnership) และบันทึกความเข้าใจในการส่งเสริมความยืดหยุ่นด้านซัพพลายเชน (Memorandum of Understanding on Promoting Supply Chain Resilience)

นายดอนกล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับรัฐมนตรีบลิงเกนในการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งทำให้เราสามารถติดตามผลการเยือนที่ได้หารือกันในครั้งก่อน ไทย-สหรัฐจะฉลอง 190 ปีความสัมพันธ์การทูตในปีหน้า หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญได้เกิดขึ้นในวันนี้คือการเราได้ลงนามเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนถึงความเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดและความสัมพันธ์ที่มีอยู่อย่างยาวนานของทั้งสองประเทศ แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา เป็นการวางเป้าหมายบนพื้นฐานของค่านิยมและสิ่งที่เรามีความสนใจร่วมกัน

นอกจากนั้นแล้วยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจที่เป็นการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลาย ซึ่งจะรับรองความร่วมมือด้านซัพพลายเชนโดยเฉพาะในสาขาที่มีความสำคัญและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ

เรายังมีการหารือในเรื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นการหารือที่เป็นประโยชน์มากในหลายประเด็น ซึ่งมีทั้งประเด็นทวิภาคี ประเด็นภูมิภาค และประเด็นระหว่างประเทศ และพูดถึงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ซึ่งเราจะส่งมอบตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคให้สหรัฐต่อไป

Advertisement

เรายังได้วางรากฐานสำหรับความร่วมมือในอีก 190 ปีข้างหน้าต่อไปด้วย

ด้านนายบลิงเกนแสดงความยินดีที่ได้เดินทางมาเยือนไทย ซึ่งถือเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐในอินโด-แปซิฟิก ในฐานะประธานเอเปคในปีนี้ ประเทศไทยอยู่ในแนวหน้าของการกำหนดประเด็นในการหารือ ซึ่งขอยกหนึ่งตัวอย่างว่า ต้องขอบคุณความเป็นผู้นำของไทย ที่ทำให้เราได้เห็นเขตเศรษฐกิจในเอเปคทำงานร่วมกันในปีนี้เพื่อส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ

Advertisement

ประเทศของเรามีเป้าหมายเดียวกันในอินโด-แปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง เชื่อมโยงถึงกัน เจริญรุ่งเรือง ยืดหยุ่น และปลอดภัย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์นั้น

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของเราแข็งแกร่ง เรารู้สึกขอบคุณสำหรับความร่วมมือของประเทศไทยในการเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework – IPEF) ซึ่งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ยุติธรรม และยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับครอบครัวต่างๆ แรงงาน และธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาค

ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงของเราก็แข็งแกร่ง เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ได้หารือถึงแนวทางใหม่ๆ ในการยกระดับความมั่นคงในภูมิภาค รวมถึงการขยายการฝึกอบรมและการฝึกด้านการปฏิบัติการร่วมกัน และการทำงานร่วมกันในพื้นที่ใหม่ๆ อาทิ ไซเบอร์และอวกาศ

ประเทศของเราทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมกับโครงการริเริ่มความต้องการพลังงานสะอาด ซึ่งเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ที่ต้องการขยายการใช้พลังงานหมุนเวียนกับบริษัทต่างๆ ที่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้

ขณะนี้บริษัทเจ็ดแห่งได้ส่งสัญญาณแสดงความสนใจในการลงทุนมูลค่าสูงถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์ในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดของประเทศไทย และประเทศไทยกำลังก้าวไปข้างหน้าด้วยความร่วมมือเหล่านั้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาได้กระชับความสัมพันธ์ของเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเอกสารสองฉบับที่เราเพิ่งลงนามจะทำให้พันธมิตรของเราแข็งแกร่งขึ้น

แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งของเราและกำหนดขอบเขตใหม่ ๆ ที่เราสามารถทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เช่น การส่งเสริมเทคโนโลยีสะอาดและเทคโนโลยีหมุนเวียน รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน และสร้างความมั่นใจว่าประชาชนของเราสามารถมีส่วนร่วม และมีส่วนร่วมมากขึ้น รวมถึงได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล

นายดีน รัสก์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ และพันเอกพิเศษถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีต่างประเทศไทย ได้ลงนามในแถลงการณ์ถนัด-รัสก์ในกรุงวอชิงตันเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับพันธมิตรสหรัฐ-ไทย ด้วยข้อตกลงใหม่นี้ เรากำลังขยายวิสัยทัศน์ ขยายความร่วมมือ และนำความเป็นหุ้นส่วนนี้ไปสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่

เอกสารอีกฉบับที่เราลงนามร่วมกันกล่าวถึงประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนไทยและชาวอเมริกัน นั่นคือ ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน บันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานจะช่วยให้ประเทศไทยและสหรัฐสามารถแบ่งปันข้อมูลอย่างรวดเร็ว และปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่อาจหยุดชะงักได้ง่ายขึ้น ดังนั้นเราจึงสามารถดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เอ็มโอยูนี้จะช่วยให้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนของเราได้ง่ายขึ้น ในการระบุวิธีที่จะทำให้ซัพพลายเชนที่มีอยู่ดำเนินไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น

การระบาดใหญ่ของโควิดทำให้เห็นชัดเจนว่าการมีห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อถือได้มีความสำคัญเพียงใด ตัวอย่างเช่น เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนสามารถเข้าถึงยาช่วยชีวิตและพีพีอี

ด้วยข้อตกลงใหม่เหล่านี้ ประเทศของเราจะร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อส่งมอบให้กับผู้คนของเรา ทำให้ชีวิตของพวกเขาปลอดภัยขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น และเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น

จิตวิญญาณของการแสวงหาความก้าวหน้าร่วมกันนั้นมีอยู่ในการเป็นหุ้นส่วนของเราตั้งแต่เริ่มต้น ในปีหน้าไทยและสหรัฐอเมริกาจะฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต 190 ปี สนธิสัญญาไมตรีและการค้า พ.ศ. 2376 ซึ่งเป็นเอกสารที่เริ่มต้นมิตรภาพของเราที่ลงนามบนม้วนกระดาษ แน่นอนว่ามันไม่รวมถึงการกล่าวถึงพลังงานหมุนเวียนหรือห่วงโซ่อุปทาน

สิ่งที่กล่าวในนั้นคือประเทศของเราจะมีส่วนร่วมในการค้า “ตราบใดที่สวรรค์และโลกจะคงอยู่” และเราจะมีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วย “สันติภาพนิรันดร์” เกือบสองศตวรรษแล้วที่เราทำอย่างนั้น เอกสารที่เราลงนามในวันนี้จะต่อยอดจากสันติภาพนั้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนของเราและของโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image