เป้าหมายลดโลกร้อนประเทศส่วนใหญ่ไม่คืบ มีแค่ ‘อียู’ พอใกล้เคียง

AP

เป้าหมายลดโลกร้อนประเทศส่วนใหญ่ไม่คืบ มีแค่ ‘อียู’ พอใกล้เคียง

บริษัทวิจัยโรเดียมกรุ๊ปเปิดเผยถึงติดตามการดำเนินการของประเทศต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ตามข้อตกลงกรุงปารีสปี 2558 พบว่า คำสัญญาของประเทศส่วนใหญ่ว่าจะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกนั้น ง่ายกว่าการลงมือปฏิบัติให้เกิดผลจริงมาก

นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามการดำเนินการในประเทศต่างๆ ระบุว่า ในกลุ่มผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ 10 อันดับแรกของโลก มีเพียงสหภาพยุโรป (อียู) เท่านั้นที่มีการประกาศใช้นโยบายที่ใกล้เคียงหรือสอดคล้องกับเป้าหมายระหว่างประเทศ ที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้

อย่างไรก็ดียุโรปกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่พุ่งสูงทำลายสถิติในหลายประเทศ ก็มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงานระยะสั้นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งอาจทำให้การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต้องถดถอยลงเล็กน้อย และทำหใประเทศต่างๆ ต้องหันกลับไปใช้พลังงานสกปรกอีกครั้ง ในห้วงเวลาที่ยาวนานขึ้น

เคท ลาร์เซน หัวหน้าฝ่ายพลังงานและสภาพอากาศระหว่างประเทศของบริษัทวิจัยโรเดียมกรุ๊ป กล่าวว่า ต่อให้ยุโรปสามารถบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่วางไว้ทั้งหมด แต่ถ้าประเทศที่เหลือทำไม่ได้ ทุกคนก็จะสูญเสียเช่นกัน เพราะก๊าซที่ถูกปล่อยออกมาเหล่านี้ไม่ได้หยุดอยู่ที่พรมแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง และสภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้วก็กำลังปรากฎขึ้นทั่วทั้งซีกโลกเหนือ

Advertisement

เช่นเดียวกับบิล ฮาเร นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ และซีอีโอของไคลเมท อันนาไลติกส์ ที่ได้ร่วมงานกับสถาบันนิว ไคลเมท เพื่อสร้างระบบติดตามการปฏิบัติตามแผนการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action Tracker) ซึ่งวิเคราะห์ถึงเป้าหมายและการดำเนินนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศต่างๆ เปรียบเทียบกับเป้าหมายในข้อตกลงกรุงปารีส ที่เห็นว่า มันเป็นมุมมองที่น่ากลัว และเราไม่มีทางหนีจากสภาพดังที่ลาร์เซนระบุได้

ระบบติดตามชี้ว่า นโยบายและการดำเนินการของผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ 2 อันดับต้นของโลกคือจีนและสหรัฐนั้นไม่เพียงพอ หริอแม้แต่ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย อินโดนีเซีย รัสเซีย ไปจนถึงเกาหลีใต้และอิหร่าน ก็อยู่ในสถานะที่ไม่มีการดำเนินการอย่างเพียงพอ หรือไม่เพียงพออย่างมากเช่นกัน ขณะที่สถานะของอินเดีย ซึ่งรั้งอันดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์มากเป็นลำดับ 3 ของโลกก็ยังคงเป็นปริศนา

ไนเจล พูร์วิส ที่ปรึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีประสบการณ์ในการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ กล่าวว่า เรากำลังสูญเสียพื้นที่ในการบรรลุเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน อาทิ การรักษาระดับอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ขณะนี้อุณหภูมิโลกก็อุ่นขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส

Advertisement

“เมื่อ 7 ปีก่อนโลกตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน แต่ตอนนี้เมื่อเข้าไปสู่ขั้นตอนของการนำไปปฏิบัติจริง ฉันไม่คิดว่าประชาคมระหว่างประเทศรู้วิธีที่จะดำเนินการ”ลาร์เซนกล่าว และว่า แม้แต่ในสหรัฐ ขณะนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็เผชิญกับแรงต้านในรัฐสภาต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ศาลฎีกาก็ออกมาควบคุมกฎระเบียบเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า ซึ่งถือเป็น 2 อุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายของสหรัฐ

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศจากหลายสำนักมองตรงกันว่า ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีนต่างมอว่าสหรัฐทำอะไรเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และก็จะไม่เต็มใจที่จะเพิ่มความพยายามของตนให้บรรลุเป้าหมาย หากสหรัฐก็ไม่สามารถทำอะไรในประเด็นนี้ได้มากนักเช่นกัน

นอกจากนี้วิกฤตด้านพลังงานในยุโรปอันเนื่องมาจากปัญหากับรัสเซีย ก็จะกลายเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ แม้มันอาจจะเป็นปัญหาระยะสั้นสำหรับยุโรป หรอแม้แต่กฎเกณฑ์บางอย่างจะถูกผ่อนคลายลง แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ากรอบนโยบายระยะยาวของยุโรปแข็งแกร่งมาก ซึ่งน่าจะช่วยให้เขาสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นและหันไปเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทดแทนได้ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image