‘กษิต ภิรมย์’ มองไทย ควรยืนตรงไหนท่ามกลาง การแข่งขันของมหาอำนาจโลก

‘กษิต ภิรมย์’ มองไทย
ควรยืนตรงไหนท่ามกลาง
การแข่งขันของมหาอำนาจโลก

๐มองการแข่งขันของมหาอำนาจโลกที่ค่อนข้างร้อนแรงในปัจจุบัน คิดว่าไทยควรอยู่ตรงไหน

ขอตอบคำถามด้วยการยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นมาเป็นข้อคิดว่าไทยควรวางตัวอย่างไร ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของจีน มีการเจริญเติบโตทางมากด้วยการลงทุน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งทำให้ญี่ปุ่นได้กำไร ส่วนจีนได้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่ได้ขัดขวางเมื่อจีนจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือยุยงประเทศละแวกเดียวกันให้กีดกันจีน เพราะมองว่าการค้าเป็นเรื่องประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และยังมีประโยชน์ต่อภูมิภาคและต่อโลกด้วย ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เป็นมหามิตรและเป็นพันธมิตรร่วมอุดมการณ์กับสหรัฐ แต่ก็ยังมีสามารถความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน แม้อยู่ในอุดมการณ์ทางการเมืองความมั่นคงจะอยู่ตรงข้ามกันก็ตาม

มาถึงประเทศไทย เรามีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือทางการค้ากับสหรัฐมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1833 ช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 1 เราก็ร่วมเป็นพันธมิตรไปสู้ที่ยุโรป ชนะสงครามด้วยกัน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยได้เปิดให้ญี่ปุ่นกรีฑาทัพผ่านไทยเข้าไปพม่า แต่เราก็มีการจัดตั้งขบวนการเสรีไทย ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาก็ไม่ประณามไทยหรือถือว่าไทยประเทศผู้แพ้สงคราม เราไม่ได้ถูกจารึกไว้ว่าเป็นประเทศผู้พ่ายแพ้สงคราม ก็ด้วยมิตรไมตรีจากสหรัฐเป็นสำคัญ และก็ยังช่วยอำนวยทางอ้อมให้เราเข้าไปเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติด้วย

เมื่อโลกเข้าสู่สงครามเย็น เรากับสหรัฐก็เป็นพันธมิตรภายใต้ธงสหประชาชาติในสงครามคาบสมุทรเกาหลี และก็ได้มาเป็นพันธมิตรที่แหลมอินโดจีน โดยเฉพาะการช่วยเหลือฝ่ายรักชาติของเวียดนามใต้ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์เวียดนาม ช่วงสงครามอินโดจีน เราก็เคยเป็นฐานทัพไทยกับสหรัฐ แล้วก็มาสู่โลกยุคโลกาภิวัตน์ มีเรื่องการก่อการร้าย การสุดโต่งทางด้านความคิดทางด้านชาติพันธุ์ศาสนา เราก็ยืนอยู่กับสหรัฐและโลกเสรี
ขณะเดียวกันเมื่อสหรัฐเขาปรับความสัมพันธ์กับจีน เราก็ปรับตัวไปด้วย เราก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ในการปรับความสัมพันธ์กันนั้นจีนก็ทำตามสัญญา คือยุติการให้ความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และรัฐบาลเราก็รับรองว่าจีนเป็นประเทศเดียว มันก็มีการรักษาคำมั่นสัญญากันมาโดยตลอด ในช่วงเศรษฐกิจต้มยำกุ้งฟองสบู่แตกจีนก็เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือไทยทางด้านการเงิน ความสัมพันธ์ก็ราบรื่นด้วยดีทางด้านเศรษฐกิจ แม้ว่าระบบการเมืองการปกครองก็ยังอยู่กันคนละฝาก แต่ที่สำคัญคือจีนไม่เคยแทรกแซงกิจการภายในของไทย

Advertisement

พอมาถึงวันนี้สหรัฐอเมริกากับจีนไม่ได้แข่งขันกันในเรื่องอุดมการณ์ แต่แข่งขันกันว่าใครจะเป็นใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิ หรืออินโด-แปซิฟิก และในโลกกว้าง เพราะผู้นำชุดปัจจุบันของจีนในช่วงสิบปีที่ผ่านมาได้ประกาศชัดว่าจะขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลก จะเอาคืนความยิ่งใหญ่ของจีนเมื่อ 200 ปีที่แล้ว และได้เพิ่มแสนยานุภาพทางการทหาร และมีมาตรการฝ่ายเดียวเช่นในกรณีของทะเลจีนใต้ แล้วก็มุ่งมั่นในการที่จะขับออกไปซึ่งมีอิทธิพลของอเมริกาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่อเมริกาได้ประกาศแน่ชัดว่าจะไม่ออกไปจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แถมยังมีนโยบายสำคัญออกมา 2 อันคือยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก แล้วก็มีข้อเสนอล่าสุดก็คือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF)

คำตอบที่จะตอบก็คือว่าเราก็ไม่ต้องเลือกข้างหรอก แต่ว่าเราเลือกเรื่องราวและภารกิจที่เราจะทำ อันไหนที่ตอบสนองผลประโยชน์ของไทยเราก็ทำ อันไหนที่ไม่ใช่เราก็ไม่ทำ ฉะนั้นผลประโยชน์ด้านความมั่นคงก็อยู่ที่สหรัฐอเมริกา เพราะว่าประวัติศาสตร์และเราก็จะมีสนธิสัญญาที่มันยังมีอายุอยู่ทุกฉบับ โดยเฉพาะสนธิสัญญาว่าด้วยการป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) แล้วเราก็มีข้อตกลงที่เรียกว่าแถลงการณ์ถนัด-รัสก์ ไทยยังเป็น “ประเทศพันธมิตรอันสำคัญที่ไม่ใช่สมาชิกองค์การนาโต” (Major non-NATO ally) เป็นการยืนยันสถานะของไทยในแง่ของการร่วมมือด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาว่าเรายังเป็นพันธมิตรกันอยู่

เพราะฉะนั้นในเรื่องราวภารกิจที่เกี่ยวกับความมั่นคงเราก็อยู่กับสหรัฐ เพราะอยู่กันมาแล้ว มันก็ไม่แปลกอะไรและไม่ควรจะแปลกอะไรสำหรับจีน เพราะว่าเราก็ได้สู้กับจีนมาในเรื่องคอมมิวนิสต์ มันคนละอุดมการณ์ เราก็ต้องยืนยันในการเป็นพันธมิตรร่วมอุดมการณ์กับสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ณ วันนี้มันก็เริ่มที่จะมีกรอบของการเป็นไม่ใช่แค่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่เป็นการที่จะส่งเสริมสังคมเสรีประชาธิปไตย กฎหมาย การมีพหุพรรคการเมืองในการแข่งขัน เราก็ต้องรักษาอันนี้ไว้ ไม่ใช่ของแปลกใหม่

Advertisement

แต่ถ้าพูดถึงในเรื่องเศรษฐกิจแล้วเราก็ต้องทำเหมือนกับเกาหลีหรือไต้หวันซึ่งเป็นนักลงทุนใหญ่ที่สุดถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับจีนแผ่นดินใหญ่มากมายมหาศาล เราก็ทำเรื่องเศรษฐกิจไปตามผลประโยชน์ของเรา โดยที่เราไม่ต้องไปอะไรร่วมสังฆกรรมในเรื่องของการกล่าวหาจีน ในเรื่องการจารกรรมองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เราไม่มีความสามารถในการในตรงนั้น เขาจะทะเลาะกันก็เรื่องของเขา เขาจะไม่ค้าขายกันในเรื่องอื่นใดก็เป็นเรื่องของเขา แต่อะไรที่เราค้าขายกับสหรัฐเราก็ทำ อะไรที่เราจะทำกับจีนเราก็ทำต่อไป อย่างการการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือว่าการร่วมมือวิจัยค้นคว้าเรื่องแพทย์แผนโบราณเราก็ทำกับจีน เรื่องไบโอเทคโนโลยี เรื่อง BCG เราก็สามารถที่จะทำกับสหรัฐอเมริกาได้

ประเด็นปัญหามันคือเราไม่มีองค์กรของประเทศไทยที่เอาเรื่องเหล่านี้มาวางบนโต๊ะแล้วก็ปรึกษาหารือกัน ที่จริงแล้วมันก็เป็นหน้าที่ของแวดวงวิชาการโดยเฉพาะคณะรัฐศาสตร์ของทุกมหาลัยทั้งรัฐและเอกชน อันที่ 2 มันก็จะต้องหน่วยงานรัฐที่สำคัญมากที่สุดคือสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับกระทรวงต่างประเทศ อันที่ 3 ก็ต้องเป็นในรัฐสภา คณะกรรมาธิการต่างประเทศและความมั่นคงอะไรต่างๆ แต่ว่าวิธีเหล่านี้ไม่ได้ทำ

แม้กระทั่งเวทีระหว่างภาครัฐและเอกชนคือคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) มันก็ควรจะคุยกันด้วยเพื่อให้ภาคเอกชนเข้าใจว่าเราอยู่ที่ไหน อะไร อย่างไร ไม่งั้นมันจะเกิดให้มีความรู้สึกกันว่าเราไม่ควรจะทำอย่างนี้เดี๋ยวจีนเขาจะไม่พอใจ พูดอย่างนี้ไม่ได้เพราะมันครอบจักรวาล เราจะทำอะไรอย่างไรเราต้องชี้แจงกับคนไทยได้ และก็ชี้แจงต่อจีนและสหรัฐอเมริกาได้

เราต้องพูดให้ชัดว่าในเรื่องความมั่นคงเราก็จะไม่ฉีกความตกลงที่มีกับสหรัฐ เพราะที่สุดแล้วเราก็ยังต้องพึ่งสหรัฐในเรื่องความมั่นคง และเราก็ยังอยากจะอยู่กับสังคมเปิด ส่วนเรื่องการทำมาค้าขายเผื่อการส่งออกของเราก็ทำไปตามที่ควรจะทำ ไม่ได้หมายความว่าเรารักกับสหรัฐอเมริกาด้านความมั่นคงแล้วเราจะไปตัดการค้าขายกับจีน มันก็ไม่ถูก แล้วเราก็สามารถที่จะชี้แจงได้ว่าเรื่องเศรษฐกิจเราไม่เลือกข้าง เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของเราเอง แต่เรื่องความมั่นคงจากประวัติศาสตร์แล้วก็ข้อตกลงต่างๆ ที่เรามีอยู่ มันยังมีชีวิตอยู่ เราก็จะต้องรักษาตรงนี้ไว้

พอเราพูดถึงความมั่นคงปลอดภัย เราไม่ได้มองแค่ประเด็นที่มันที่มันอาจจะมาจากจีน เพราะเราก็ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้อินเดียมันจะเป็นยังไง เราก็ไม่รู้ว่าอินโดนีเซียหรือว่าประเทศมุสลิมเขาจะรวมตัวกันอย่างไรในอนาคต ที่อาจจะเข้ามามีผลกระทบต่อแวดวงมุสลิมของเราโดยเฉพาะทางภาคใต้ต่างๆ เหล่านี้ เราก็ต้องมีมิตรประเทศที่เราจะจับมือไว้ได้ เพื่อจะป้องกันตัวเองต่อภยันตรายที่มันอาจจะเกิดขึ้น แต่ทั้งหมดก็ต้องมานั่งคุยกันอย่างเปิดอกในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้นจะไปทางไหนก็บอกว่าเอาเรื่องที่มันมีผลประโยชน์ต่อประเทศไทย มันก็ต้องแยกเรื่อง

คู่ขนานกันไปทั้งหมด เราก็ต้องมาพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจของเราอันสืบเนื่องมาจากโควิด-19 ยูเครน-รัสเซีย ว่าที่เศรษฐกิจเราเติบโตมาตั้งแต่ยุคท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์นั้น เราเปลี่ยนมาเป็นอุตสหกรรมที่ใช้การส่งออกนำ และเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชน แต่โควิดกับยูเครนมันพิสูจน์แล้วว่าในยามยากหรือน้ำมันแพง ซัพพลายเชนมันไปไม่รอด และในสภาวะเช่นนี้เราก็แค่เป็นมือปืนรับจ้างผลิตชิ้นส่วน แต่เราไม่มีองค์ความรู้ เพราะฉะนั้นนี่เป็นโอกาสทองที่เราจะต้องมีการวิจัยและพัฒนา พึ่งตนเอง ขยายตลาดในประเทศ และตลาดชายแดนต้องถือว่าเป็นส่วนต่อขยายของตลาดในประเทศ เราก็ต้องเป็นเจ้าโลกทางด้านเศรษฐกิจภูมิภาคละแวกนี้ ต้องมาจัดกันใหม่ว่าเราจะผลิตอะไรด้วยสติปัญญา องค์ความรู้ของเราเองในการที่เราจะมีตลาด และเราก็ไม่ต้องไปพึ่งตลาดอเมริกาเหนืออะไรที่มันห่างไกล เพราะเดี๋ยวมันมีปัญหาแล้วเราจะเป็นยังไง

อีกอันที่น่าจะคิดก็คือเรื่องอาหาร เราก็ต้องมากำหนดจุดยืนของเราใหม่ว่าตัวเราเองว่าเราจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้กับตะวันออกกลางอย่างเป็นเรื่องเป็นราวไหม นอกนากนี้ก็ต้องโหมโรงอย่างจริงๆ จังๆ ในเรื่องของพลังงานหมุนเวียนและทดแทน นี่มันไปตรงกับตัวคำว่าคำว่าบีซีจีที่พล.อ.ประยุทธ์ว่าไว้ เศรษฐกิจชีวิภาพ เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ปัญหาคือพูดมาร่วมปีเรื่องบีซีจี ในทางปฏิบัติยังไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัยหรือสถาบันไหนวิจัย แล้วก็การโยงใยระหว่างเงินของรัฐบาล สถาบันวิจัย กับภาคเอกชนที่จะไปผลิต มันจะเป็นอย่างไร ในช่วงนี้นอกจากว่าเราจะอยู่อะไรกับใครแล้ว เราต้องคิดเรื่องของการที่จะต้องพึ่งสติปัญญาของตนเองไปควบคู่กันด้วย

๐ที่จริงกระทรวงต่างประเทศก็พูดว่าไม่ได้เลือกข้าง แต่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศไทยในทุกเรื่อง
ถูก แต่ว่ามันไม่มีการขยายความ และมันไม่ใช่เป็นการตัดสินใจของกระทรวงต่างประเทศแต่เพียงลำพัง มันต้องเอาสภา สมช. และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาด้วย ประเด็นของผมคือมันไม่มีการปรึกษาหารือ จะบอกว่าเป็นผลประโยชน์ของไทยก็ต้องแจงด้วยว่าแล้วผลประโยชน์ของไทยคืออะไร เหมือนที่ผมแยกเรื่องความมั่นคงออกจากเรื่องเศรษฐกิจ และต้องมีการลงรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ในประเด็นความร่วมมือให้ชัด

ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมามันมีแต่คำพูดทั้งนั้น แต่ก่อนนี้ก็ Smart City, Thailand4.0, digital economy, innovation, innovative ฟังมา 8 ปีแล้ว แล้วกระทรวงต่างประเทศว่าอย่างไร มันต้องแจงมาว่ามันต้องมาทางนี้ มันเป็น missing element ของการบริหารราชการ ต้องมีการชี้แจงในทุกเวที ต้องขยายวิสัยที่ต้องคุยออกไป

๐มองการเยือนไทยของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน และนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอย่างไร

ผมคิดว่าหวัง อี้ เขามาเพื่อจะมา Touch base มากกว่า เพราะเขารู้ว่าสหรัฐจะมา ก็ต้องทำอะไรที่เป็นถ่วงดุล แล้วมันก็ไม่ได้มากไปกว่านี้ ไม่งั้นข่าวมันต้องออกมาแล้วว่าเราจะแก้ปัญหาเครื่องยนต์ของเรือดำน้ำ 3 ลำอย่างไร อันที่ 2 มันยังไม่มีตารางของการปล่อยน้ำจากเขื่อนบนแม่น้ำโขง ที่มันจะต้องมันต้องคุยกันให้เป็นเรื่องเป็นราว อันที่ 3 ทำไมผักผลไม้จากเมืองจีนมันเข้าประเทศไทยแสนจะง่าย แล้วทำไมผักผลไม้เราจะไปเมืองจีนขั้นตอนมันมากมาย มันเป็นความไม่สมดุลในการปฏิบัติทางการ ประเด็นสำคัญๆ มันไม่มีการยกขึ้น เพราะฉะนั้นผมก็คิดว่าเขาเป็นแค่มาเพื่อย้ำเตือนว่าเราเป็นเพื่อนกัน แล้วก็บอกยูก็อย่าไปสังฆธรรมกับฝรั่งมังค่ามากนัก ผมอาจจะผิดก็ได้แต่ว่ามันไม่มีอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน

ส่วนบลิงเกนที่มาก็บอกไม่รู้จะมาทำไม เพราะแถลงการณ์ที่ออกมาตั้ง 2-3 หน้ากระดาษ มันครอบจักรวาลคลุมทุกเรื่อง แต่ไม่มีอะไรเป็นการเฉพาะเจาะจง รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐจะมาสักทีมันต้องมาพูดอะไรที่มันเฉพาะเจาะจง เหมือนเวลาไปที่ประเทศอื่นๆ แต่กับไทยไม่มีอะไรเลยที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นพันธมิตร ในเรื่อง Major non-Nato ally ขณะที่อาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยทั้งหมดเนี่ยมันไม่ได้คุยกันเลย

๐แต่ก็มีแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกาฉบับใหม่และเอ็มโอยูเรื่องซัพพลายเชน

สิ่งที่ผมเห็นมันแตกต่างกัน เพราะแถลงการณ์มันเป็นแค่กรอบกว้างๆ แต่มันไม่มีอะไรที่เฉพาะเจาะจง และมันไม่ได้ตอบสนองสิ่งที่ไทยขาด สิ่งที่ไทยต้องการ มันไม่มีอะไรที่มันเป็นสิ่งเฉพาะเจาะจงที่จะบ่งบอกความเป็นพิเศษของความสัมพันธ์ 2 ฝ่าย แถลงการณ์ครอบจักรวาลที่มันจับต้องไม่ได้ แล้วอะไรคือประเด็นที่เราให้ความสำคัญ มันไม่มีตรงนี้

ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐมา มันต้องมีอะไรที่เจ๋งกว่านี้ เขาไม่ได้มาผลักดันเรื่องประชาธิปไตย มันพูดภายในได้ว่าต้องการเห็นประชาธิปไตยที่มากขึ้นในไทย เพราะเรายังมีวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เขาต้องมายืนกับผลประโยชน์ของประชาชนคนไทยว่าเราต้องการประชาธิไตยมากกว่านี้

แล้วที่มันสำคัญที่สุดไม่มีการพูดถึง USAID แม้แต่คำเดียว การพัฒนาเมียนมาก็ไม่ได้พูด เพราะมันจะได้ปล่อยเงินออกมา จะไปซื้อของจากเมืองไทยแล้วก็ส่งไปช่วยเมียนมา มันน่าจะมีอะไรที่เป็นการคุยกับระหว่างบลิงเกนกับคุณดอน กับคุณประยุทธ์ในเรื่องที่มันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพราะเราจะได้เป็นซัพพลายเออร์ ต่างๆ เหล่านี้มันก็ไม่มี แล้วไม่ได้คุยกันเลยว่าเราจะร่วมกันในการแก้ปัญหาเมียนมาอย่างไร ออกมาก็พูดเหมือนเดิมว่าเราจะสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ซึ่งก็เห็นอยู่แล้วว่ามันไปไม่ได้

จีนมาเพื่อจะย้ำเตือนว่าเราอยู่แถวๆ นี้ อย่าไปกับสหรัฐมากเกินไป ส่วนบลิงเกนก็มาเพื่อภาพ แล้วก็ไม่ได้มาด้วยใจ เพราะรู้ว่าเอาอะไรจากรัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้ แล้วนี่เราก็มีข้อตกลงเรื่องซัพพลายเชนระหว่างไทยกับสหรัฐ แต่บลิงเกนไม่ได้พูดว่าบริษัทอเมริกันกี่บริษัทจะมาลงทุนในไทยอย่างชัดเจน ไม่ใช่พูดแค่กว้างๆ แต่ต้องลงให้ชัดว่าจะมาลงทุนในอุตสาหกรรมอะไร ประเด็นปัญหาคือมันไม่มีอะไรเฉพาะเจาะจง สำหรับผมในฐานะ professional มันไม่มีอะไรเลย แค่เราได้เอกสารมาไม่กี่ชิ้น ไม่มีอะไรเฉพาะเจาะจง และมันไม่ได้ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยที่ต้องปฏิรูปอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมดของกองทัพไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image