คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ประชากรจีนหดตัวเร็วกว่าที่คิด!

REUTERS

คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ประชากรจีนหดตัวเร็วกว่าที่คิด!

เมื่อกว่า 2 สัปดาห์ก่อน องค์การสหประชาชาติเปิดเผยรายงานการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 8,000 ล้านคนได้ในวันที่ 15 พฤศจิกายนปีนี้ และอินเดียจะแซงหน้าจีนกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกได้ภายในปีหน้า ซึ่งเร็วกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ถึง 4 ปี

แนวโน้มข้างต้นยิ่งเห็นความเป็นไปได้เด่นชัดยิ่งขึ้น เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ของทางการจีนออกมา ผ่านสื่อกระบอกเสียงอย่าง โกลบอลไทม์ส บ่งชี้ว่า การขยายตัวของประชากรจีนได้ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญและยังคาดว่าประชากรจีนจะเริ่มหดตัวลงก่อนหน้าปีค.ศ.2025 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณหดตัวลงในปี 2027

โดยข้อมูลอัตราการเกิดที่คณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติของจีน เปิดเผยออกมาระบุว่า อัตราการเกิดใหม่ของจีนในปี 2021 แสดงให้เห็นว่าในหลายพื้นที่หลายมณฑลของจีนมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และบางพื้นที่ยังไม่เคยเห็นอัตราการเกิดของทารกที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินเช่นนี้มาก่อนในรอบกว่า 60 ปี

REUTERS

โดยกวางตุ้ง ซึ่งเป็นมณฑลที่ร่ำรวยที่สุดและมีประชากรมากที่สุด เป็นเพียงหนึ่งเดียวในจำนวน 31 มณฑลของจีน ที่มีอัตราการเกิดใหม่ของประชากรในปี 2021 มากกว่า 1 ล้านคน ขณะที่ในปีดังกล่าว จีนมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 7.52 ต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดของจีน

Advertisement

ส่วนมณฑลหูหนาน มีอัตราการเกิดในปี 2021 ต่ำกว่า 500,000 คนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 60 ปี ขณะที่มณฑลเหอหนาน ทางตอนกลางของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศนั้น มีอัตราการเกิดต่ำกว่า 800,000 คนเป็นครั้งแรกนับจากปี 1978 ส่วนมณฑลเจียงซี ทางภาคตะวันออก มีอัตราการเกิดใหม่ในปีเดียวกัน ต่ำกว่า 400,000 คนเป็นครั้งแรกนับจากทศวรรษ 1950

หยาง เหวินจ้วง หัวหน้าฝ่ายกิจการประชากรและการวางแผน ของคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติของจีน บอกว่า คาดว่าประชากรจีนจะเริ่มหดตัวลงในระหว่างปี 2021-2025 โดยสาเหตุที่ทำให้ชาติที่ครองแชมป์มีประชากรมากที่สุดในโลกมายาวนานแห่งนี้ ประสบปัญหาอัตราการเกิดลดลงอย่างน่าใจหายเช่นนี้ มีหลายปัจจัยด้วยกัน หลักใหญ่มาจากคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จำนวนมาก เลือกที่จะไม่มีลูก ด้วยเหตุผลหลายอย่างซึ่งรวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นและความกดดันในการทำงาน

แม้ผู้กำหนดนโยบายของจีนจะหาทางแก้ปัญหา ด้วยการยกเลิกนโยบายลูกโทนและกระตุ้นให้แต่ละครอบครัวมีบุตรได้ 3 คน พร้อมออกมาตรการจูงใจต่างๆ เช่น การให้เงินโบนัสในการมีบุตร การอุดหนุนการคลอดบุตรและการช่วยเหลือค่าเรียนการศึกษาของเด็ก แต่กลับยังไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก โดยผู้หญิงในสังคมจีนส่วนใหญ่มองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มาช้าเกินไป และพวกเธอยังไม่มีความมั่นคงในการทำงานและความเท่าเทียมทางเพศมากเพียงพอ ที่จะทำให้นึกอยากมีลูก!

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image