ฟังสถานการณ์เมียนมาในมุมมอง ‘พรพิมล กาญจนลักษณ์’ ที่ปรึกษา-ผู้แทนพิเศษ รมว.กต.

หมายเหตุ “มติชน” – นางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านเมียนมา ให้สัมภาษณ์ถึงความพยายามในการดำเนินการของไทยในเรื่องเมียนมา และตอบข้อสงสัยในหลายประเด็นที่ถูกพูดถึง

ฟังสถานการณ์เมียนมาในมุมมอง ‘พรพิมล กาญจนลักษณ์’ ที่ปรึกษา-ผู้แทนพิเศษ รมว.กต.

หมายเหตุ “มติชน”นางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านเมียนมา ให้สัมภาษณ์ถึงความพยายามในการดำเนินการของไทยในเรื่องเมียนมา และตอบข้อสงสัยในหลายประเด็นที่ถูกพูดถึง

ในฐานะผู้แทนพิเศษฯ ด้านเมียนมา คิดว่ามีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเมียนมาที่คนไทยควรรู้

เมียนมาเป็นเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย 2,401 กิโลเมตร ยาวที่สุดในพรมแดนกับเพื่อนบ้านทั้งหมด การค้าชายแดนระหว่างกันในปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจไม่ดีและเขามีการสู้รบก็ยังสูงถึง 2 แสนกว่าล้านบาท ไทยส่งออกแสนกว่าล้าน และนำเข้าประมาณ 8 หมื่นล้าน นอกจากนี้ยังมีประมงไทยที่บางครั้งก็มีการรุกล้ำน่านน้ำเมียนมา พลังงานที่นำมาผลิตฟ้าในภาคตะวันตกของไทย ซึ่งรวมถึงกรุงเทพฯและนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เป็นก๊าซที่มาจากเมียนมา แรงงานในประเทศไทยซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง ก็มาจากเมียนมาเป็นส่วนใหญ่ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชนของทั้งสองฝ่ายก็เป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาในท่าทีที่เป็นมิตร

เมียนมาเป็นประเทศที่มีความพิเศษเฉพาะตนมากหลายอย่าง มีอารยธรรมและประวัติศาสตร์ที่มีทั้งเจริญรุ่งเรืองที่สุดจนถึงยากลำบากที่สุดเป็นเรื่องสลับซับซ้อนมาก เขามีชนกลุ่มน้อยมากกว่า 150 กลุ่ม เต็มไปด้วยความชอกช้ำและรุนแรง ก่อนที่จะเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เมียนมาเคยมีจีดีพีเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และกำลังพุ่งทะยาน เมียนมาส่งออกข้าวขณะที่ในประเทศในภูมิภาคขาดแคลนอาหาร ครั้งหนึ่งเมืองท่าในเมียนมารับผู้อพยพต่อวันมากกว่าจำนวนผู้ที่อพยพไปเกาะเอลลีสเพื่อไปสหรัฐเสียอีก ช่วงที่เมียนมาเป็นประเทศราชอังกฤษ กองทัพเมียนมาถูกทำลายไปเกือบหมดสิ้น และซ้ำยังถูกโจมตีจากกองทัพเพื่อนบ้าน ช่วงที่เป็นประเทศราชจะมีผลต่อความคิดของกองทัพเมียนมามาก ว่าเขาจะต้องสร้างกำลังไว้ให้เข้มแข็งเพื่อสิ่งร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับกองทัพในช่วงนั้นจะไม่เกิดอีก ปัญหาเรื่องชาติพันธ์ต่างๆ ก็มีมากขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น

พออังกฤษยึดเมียนมามาเป็นเมืองขึ้น ก็ได้ทำลายทหารเมียนมาทั้งหมด และเลือกเอาทหารกุรข่าและชนกลุ่มน้อยมาเป็นกองทัพ ชนกลุ่มน้อยที่รับเข้ามาใหม่รวมถึงโรฮีนจาจึงเข้ามาในเมียนมาตอนนั้น อังกฤษก็สร้างชนชั้นขึ้นมาว่าชาวพม่าที่มีประมาณ 60% เป็นพวกชนชั้นสูง มีหน้าที่ตำแหน่งการงานรับราชการ ขณะเดียวกับกองทัพก็พยายามกอบกู้ตัวเองขึ้นมา เพราะฉะนั้นทุกวันนี้กองทัพเมียนมาจะไม่มีวันยอมที่จะกลับไปสู่ความหลังอันเจ็บปวดในช่วงที่เป็นเมืองขึ้นอย่างเด็ดขาด

Advertisement

เมียนมาเป็นประเทศที่มีการก่อการร้ายภายในประเทศยาวนานที่สุดในโลก มีมาตั้งแต่ปี 1947 ฉะนั้นประวัติศาสตร์เมียนมาเต็มไปด้วยการสู้รบและมันก็มาถึงทุกวันนี้

ตอนที่ ดอว์ออง ซาน ซูจี มาเป็นรัฐบาล เป็นโอกาสที่ประชาชนรู้สึกได้ถึงความมีเสรีภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันกองทัพเขาจะถือว่าเขาควรมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศด้วย เขามีศักดิ์ศรีของเขาแบบนั้น และการที่มีชนกลุ่มน้อยกว่า 150 กลุ่ม และหลายกลุ่มก็จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาล ทุกคนพยายามที่จะมีอะไรบางอย่างที่เป็นของตัวเองและมีอำนาจเป็นของตัวเอง กองทัพจึงเห็นว่าหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของเขาคือทำให้ศูนย์กลางมีความเข้มแข็งเพื่อที่คุมไม่ให้ทุกอย่างแตกเป็นเสี่ยงๆ ตอนซูจีขึ้นมาเป็นรัฐบาลกองทัพก็ยินดีจะร่วมมือ เป็นการแบ่งปันอำนาจ (power sharing) กันกับฝ่ายรัฐบาลพลเรือน

อยากให้มองว่าประชาธิปไตยในเมียนมามันเป็นกระบวนการ ไม่ได้เริ่มจากการเข้ามาสู่อำนาจการปกครองของอองซาน และไม่ได้จบที่ทหารกุมอำนาจและปิดประเทศ ทหารเห็นว่าการปฎิวัติยึดอำนาจของเขาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญก็ระบุว่าหลังจากนั้น เขาต้องจัดเลือกตั้งใหม่ให้ได้ตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด หน้าที่ของเราคือพยายามจะให้เมียนมากลับเข้าสู่ขบวนการประชาธิปไตยอีกครั้งได้ โดยทำอย่างเคารพอธิปไตยของเขา เมียนมาเป็นประเทศเอกราช มีศักดิ์ศรีที่เราต้องเคารพ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐาน และประชาคมโลกก็ควรช่วยกันให้เมียนมากลับไปสู่จุดนั้นได้ เพื่อประชาชนจะได้กลับมามีชีวิตปกติอีกครั้งได้ ไม่ใช่ไปปิดกั้นหนทางนั้นเสียเอง มันไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ต้องพยายาม

Advertisement
พรพิมล กาญจนลักษณ์ ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ

การทำงานของไทยหลังเกิดปัญหาในเมียนมาเริ่มขึ้นเมื่อใด

เราติดตามพัฒนาการทางการเมืองในเมียนมามาตลอด ตั้งแต่หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง และเมื่อการเจรจาแบ่งปันอำนาจระหว่างรัฐบาลพลเรือนอละกองทัพไม่บรรลุผลและมีการปฎิวัตเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ตอนที่ทราบข่าวก็อยู่กับท่านดอน ท่านคิดว่าโอกาสที่จะเกิดความไม่สงบในเมียนมามีมาก สิ่งแรกที่ท่านสั่งใคือให้ตั้ง “คณะทำงานด้านมนุษยธรรม” (Humanitarian Task Force) ขึ้น เพราะในสถานการณ์เช่นนั้นความลำบากของประชาชนจะตามมา เราเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ตั้งคณะทำงานนี้ขึ้นมา โดยท่านเป็นประธานเอง มีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงและเชิญคนนอกมาร่วมด้วย เพื่อหาทางระดมกำลังช่วยประชาชนเมียนมา ไทยเป็นประเทศแรกที่บริจาคเงินให้สภากาชาดเมียนมาผ่านสภากาชาดไทย และท่านดอนยังได้นำสิ่งของที่ภาคเอกชนบริจาคไปมอบให้กับสภากาชาดเมียนมาด้วยตนเอง

ท่านดอนได้มอบดิฉันให้ทำเรื่องเมียนมามาตั้งแต่วันแรก ไม่ใช่เพิ่งทำตอนที่แต่งตั้งเป็นผู้แทนพิเศษ โดยทำหน้าที่ประสานกับกรมกองต่างๆ ของกระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง ภาคเอกชน เอ็นจีโอ เพื่อระดมกำลัง ความคิด และพลังของเราว่าจะทำอะไรเพื่อช่วยประชาชนเมียนมา และท่านยังสั่งให้ทำ diplomacy track 1.5 ด้วย (การดำเนินการทูตภายใต้สถานการณ์ที่ทางการและผู้เล่นที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทางการอย่างเดียว แต่เป็นการระดมความรู้ความสามารถการแลกเปลี่ยนข้อมูลในทุกด้านรอบด้านเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น) เพื่อนำความสงบสุขกลับมาสู่ประเทศและประชาชนเมียนมา

งานของผู้แทนพิเศษฯ คืออะไร และยังมีคนสงสัยว่าทำไมไทยต้องอยากจะเข้าไปช่วยเมียนมาขนาดนี้

ในระยะต่อมาหลายประเทศก็ตั้งผู้แทนพิเศษขึ้นเพื่อทำ track 1.5 เพื่อหาทางออกเรื่องเมียนมาทั้งนั้น ขณะที่งานของกรมกองต่างๆ ต้องมีคนประสาน นี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องตั้งผู้แทนพิเศษฯ ขึ้นมา เพื่อจะดูภาพใหญ่ในทุกมิติ มันต้องมีคนให้เวลากับเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่งานที่ทำก็เป็นการรับนโยบายของท่านดอนมาปฏิบัติ และช่วยประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ

เมียนมามีปัญหาก็เหมือนข้างบ้านเราไฟไหม้ แต่ถ้าเราบอกว่าคนข้างบ้านไม่ดี ไม่ยอมเรียกรถดับเพลิงให้ช่วยเขา สุดท้ายเราก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เราไม่ได้ซ้ำเติมใครเพราะเขามีปัญหาของเขาเอง แต่เราจะหาทางช่วยให้สถานการณ์ในเมียนมาดีขึ้นได้อย่างไร เพราะเราไม่อยากมีเพื่อนบ้านที่มีสถานการณ์ภายในไม่สงบ ไม่มีความไม่มั่นคง และการสู้รบต่างๆ ถ้าไม่ช่วยกันรีบแก้ไขอาจจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง แล้วประเทศเราในฐานะเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันก็จะมีปัญหาตามไปด้วยในหลายๆด้าน

ยกตัวอย่างปีที่แล้ว ยาเสพติดทะลักเข้ามาในไทยจากตามแนวชายแดนเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าจากปีก่อน มันเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เพราะการค้ายาเสพติดก็เพื่อนำเงินไปซื้ออาวุธ การสู้รบก็จะวุ่นวายหนักเข้าไปอีก

การประหารชีวิตที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมียนมา มีผลกระทบกับงานที่ทำแค่ไหน

เรามีความกังวลมากมาก การที่เขาเลือกจะประหารมันบอกอะไรหลายอย่าง ซึ่งประเทศไทยไม่ต้องการจะให้เกิดขึ้น การตัดเมียนมาออกไปการปฎิสัมพันธ์กับนานาชาติโดยสิ้นเชิง ทำให้การตัดสินใจทุกอย่างอยู่ในมือของเขาทั้งหมด ไม่ว่าอาเซียนหรือใครก็จะไม่มีอิทธิพลต่อความคิดหรือการกระทำของเขาทั้งนั้น และการที่เรามีปฏิสัมพันธ์ (engage) กับเขา ไม่ได้หมายความว่าเราให้การรับรองความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย (legitimacy) แต่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเขา เพราะไม่มีการเจรจาสงบศึกใดๆ ที่จะทำได้โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับทุกภาคส่วน (stakeholders) ที่เกี่ยวข้อง

สิ่งที่ไทยทำคือต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับทุกฝ่าย ให้เขาหันหน้ามาคุยกัน หาทางออกทางการเมืองด้วยความสงบ ไม่มีการสู้รบกันต่อไป นี่คือจุดประสงค์หลักของท่านดอนและท่านนายกรัฐมนตรี เราไม่ได้เลือกว่าจะสนับสนุนใคร แต่เราเลือกหาทางออกจากปัญหาโดยสันติวิธี

มองอย่างไรที่ในระยะหลังมีการนำเรื่องเมียนมามาโยงกับการเมืองไทยพอสมควร

เราไม่ควรที่จะเอาเรื่องเมียนมามาใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีทางการเมือง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดมันไม่ได้มีผู้เล่นอยู่แค่ในเมียนมาเท่านั้น แต่มีอยู่ทั่วโลก มันเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก การต่างประเทศคือการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยในทุกมิติไว้ให้ดีที่สุด คนไทยอาจทะเลาะกันเองได้ แต่การต่างประเทศไม่ควรจะถูกเอามาเป็นเครื่องมือในการทะเลาะกัน เพราะการต่างประเทศต้องเลือกสิ่งเดียวคือการรักษาผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของประเทศไทยเป็นหลัก

ในเรื่องการต่างประเทศ หลายท่านสร้างทฤษฎีอะไรขึ้นมาพูดก็ได้ทั้งนั้น เป็นทฤษฏีหรือความเห็นส่วนตน และคงไม่มีใครมาจ้องจับตาพิสูจน์ว่าผิด เป็นเรื่องที่สะดวกที่จะเอามาใช้ แต่ไม่อยากให้คิดหรือทำอย่างนั้น เพราะมันเกิดผลเสียกับประเทศในหลายๆ ด้านโดยไม่จำเป็น การเมืองของเราก็ให้อยู่ในประเทศของเรา แต่การพูดทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงจะยิ่งสร้างปัญหาให้กับประเทศมากขึ้นไปอีก

พรพิมล กาญจนลักษณ์ ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ

ตลอดเวลาที่ผ่านมามีการโจมตีเรื่องติดคุกในต่างประเทศมาตลอด

เรื่องติดคุกในต่างประเทศหรือข่าวที่ว่าเป็นล็อบบี้ยิสต์เป็น 2 เรื่องที่ถูกโจมตีมาตลอด ดิฉันอยากเรียนว่าไม่เคยเป็นล็อบบี้ยิสต์ ไม่เคยรับเงินมาล็อบบี้ให้ใคร และไม่เคยติดคุก ไม่เคยแม้แต่จะถูกทางการสหรัฐใส่กุญแจมือ หรือถูกห้ามเข้าอเมริกา ตอนที่มีคดีเกิดขึ้นเพราะผู้ที่มีตำแหน่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองเป็นผู้ให้คำแนะนำและข้อมูลว่าทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เราก็ทำตามนั้นทุกอย่าง เราไม่ได้เป็น doner (ผู้บริจาค) แต่เป็น fundraiser (ผู้ระดมทุน) ไม่เคยคิดเลยว่าจะทำสิ่งผิดกฎหมาย

ธุรกิจที่ทำตอนนั้นคือการจับคู่บริษัทหรือธุรกิจของไทยกับสหรัฐ ที่มีความต้องการเหมือนๆ กัน เป็นตัวกลางที่จะเอาคนที่มีความต้องการเหมือนกันมาเจอกัน ตอนถูกดำเนินคดีก็จ้างทนาย ทำตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่อัยการไม่ต้องการให้คดีดำเนินต่อไป จะให้ยอมความ มิฉะนั้นสมาชิกของครอบครัวจะต้องเดือดร้อน ดิฉันไม่ต้องการให้ใครเดือดร้อนโดยเฉพาะครอบครัว เดือดร้อนคนเดียวพอแล้ว ดิฉันผ่านอะไรมาเยอะ แต่คิดว่าตราบใดที่สำนึกของเรากระจ่าง เราอยู่กับตัวเองได้ เราไม่เป็นไรหรอก ก็รับโทษตามที่กฎหมายบอกว่าต้องรับโทษ แต่ไม่เคยติดคุก ดิฉันรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ไม่เคยโทษว่าเป็นความผิดของผู้อื่น

มาทำงานกับรองนายกฯดอนได้อย่างไร

มาทำงานตอนที่ท่านเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านมีนโยบายว่าจะไปเปิดความสัมพันธ์ในตะวันออกกลาง เพราะเป็นตลาดที่เรายังไม่ได้มีความสัมพันธ์กับเขาบ่อยนัก ดิฉันมีความคุ้นเคยกับประเทศในภูมิภาคนั้นมาก เลยช่วยประสานงานในการเยือนโอมานให้ จากนั้นท่านก็ชวนให้มาช่วยงาน

จะมาบอกว่าทำงานแทนท่านดอนนั้นก็ไม่ใช่เลย แต่ทำงานตามที่ท่านสั่่ง ด้วยการมอบอำนาจที่จำกัด ที่บอกว่าดิฉันกร่างในกระทรวง ทำให้ผู้คนและข้าราชการไม่สบายใจ ก็ไม่เป็นความจริงเลย อยู่ที่นี่มา 7 ปีกว่า ไม่เคยออกคำสั่งใครเลยสักคำเดียว เพราะไม่ได้มีหน้าที่ออกคำสั่งใคร มีหน้าที่อย่างเดียวคือทำตามนโยบายและสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด

ถามว่ารู้จักตั้งแต่เมื่อไหร่ พบกันหนแรกตอนอยู่ ม.8 ไปพบที่สอบชิงทุนเกือบจะทุกทุน แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร พอเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปี 1 ท่านก็อยู่ปี 2 แต่ไม่รู้จักและไม่ได้คุ้นเคยกัน ระหว่างอยู่มหาวิทยาลัยเจอกันไม่ถึง 10 ครั้ง แล้วก็ไปเจอกันตอนประชุมต่างๆ บ้าง เพราะดิฉันเคยทำงานอยู่ที่สถานทูตไทยในสหรัฐและทำงานให้กับหม่อมราชวงศ์เกษมสโมสร เกษมศรี ก็เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image