คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: เดอะ นิว อเมริกา?

ผมเขียนเรื่องนี้เมื่อมีเวลาอีก 4 วันจะถึงกำหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 วันที่บรรดา รีพับลิกัน ระดับ “ฮาร์ดคอร์” ระบุว่าจะเป็นวาระของการสร้างประวัติศาสตร์ นำประเทศไปสู่ความเป็น “นิว อเมริกา” และเป็นช่วงเวลาที่ผลกระเทือนจากการประกาศการสอบสวนกรณี “อีเมล์” ส่วนตัวของ ฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครตของสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) กำลังสะท้อนออกมาเต็มที่ในโพลต่างๆ

โพลหลายสำนักแสดงให้เห็นถึงอาการกระเตื้องขึ้นของ โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนของรีพับลิกัน มีอยู่หนึ่งหรือสองสำนักโพลที่แสดงให้เห็นว่า ทรัมป์มีคะแนนนิยมนำหน้าคลินตัน นำไปสู่คำถามจากหลายคนมากว่า มหาเศรษฐีหลงตัวเองที่ความคิดไม่อยู่กับร่องกับรอย คนที่เห็นผู้หญิงเป็นของเล่นทางเพศและไม่เคยจ่ายภาษีเงินได้มานานร่วม 20 ปี จะชนะคลินตันได้อย่างไรกัน?

หรือทรัมป์จะสามารถสร้างปรากฏการณ์ช็อกโลกสวนผลโพลแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับประชามติ “เบร็กซิท” ได้อีกครั้ง?

คำตอบไม่ควรเป็นเพียงข้อสรุปง่ายๆ ที่ว่า นั่นเป็นเพียงโพลหนึ่งหรือสองโพล และผลโพลทั่วประเทศที่สะท้อนถึง “คะแนนดิบ” หรือ “ป๊อปปูลาร์ โหวต” ซึ่งไม่ใช่เครื่องชี้ขาดแพ้-ชนะในระบบการเลือกตั้งแบบใช้ตัวแทน (คณะผู้เลือกตั้ง หรืออิเล็กเทอรัล คอลเลจ) ของสหรัฐอเมริกา

Advertisement

และไม่ควรเป็นคำตอบตรงไปตรงมาเพียงว่า ทั้งหมดเกิดขึ้นเนื่องจากความทะเล่อทะล่า หรือเจตนาร้ายของ เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ เรื่อยไปจนกระทั่งถึง ความเลินเล่อ พลั้งเผลอที่กลายเป็นวิบากกรรมของ ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งทำให้การเลือกตั้งหนนี้ต้องมีลุ้นและสูสีกันมากกว่าที่เคย

ลึกลงไปจากปรากฏการณ์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ยังมีนัยที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลง ผันแปร ภายในสังคมอเมริกัน ที่ถูกกระตุ้น เร่งเร้า จนปรากฏชัดเจนมากขึ้นทุกทีจากการปรากฏขึ้นในแวดวงการเมืองอเมริกันของคนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์

คือสิ่งที่ จอร์จ แพคเกอร์ แห่ง วอชิงตันโพสต์ เรียกว่า “อเมริกาที่กำลังแตกแยกอย่างขมขื่นตามรอยปริของชนชั้น, ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม”

อันเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ เบนจามิน ดิสเรลี รัฐบุรุษอังกฤษในศตวรรษที่ 19 บรรยายเอาไว้ว่า เป็น “การแตกแยกเป็น 2 ชาติ ที่ไม่มีสังฆกรรมและความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างเมินเฉยต่ออุปนิสัย, ความคิด และความรู้สึกของอีกฝ่าย ราวกับว่ากำลังอาศัยอยู่ในต่างที่ ต่างโซน หรือแม้กระทั่งอยู่กันคนละโลก”

พูดง่ายๆ ก็คือว่า อเมริกาของทรัมป์ กับอเมริกาของฮิลลารี แตกต่างกันมากชนิดที่ไม่มีโอกาสสวมกอดหรือทับซ้อนกันได้เลยนั่นเอง

สิ่งที่สะท้อนออกมาในโพล ไม่ว่าจะในเวลานี้หรือเมื่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมาก็คือการแสดงให้เห็นว่า มีอเมริกันจำนวนหนึ่ง อาจไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป ซึมซับ ชื่นชม และยึดกุมวิสัยทัศน์ โลกทัศน์ ที่เป็นแบบฉบับของทรัมป์อย่างแน่นหนา ไม่ว่าในฐานะปัจเจกแล้ว ทรัมป์จะเป็นอย่างไรในสายตาของพวกเขาก็ตามที คนเหล่านี้ไม่เพียงชื่นชมและรับเอาจุดยืนทั้งหลายของทรัมป์มาเป็นของตัวเองอย่างแนบแน่น ไม่ว่าในด้านของความเป็นชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม หรือการประกาศตนเป็นปฏิปักษ์โดยสิ้นเชิงกับบรรดา “ชนชั้นสูง” ที่ “หยามหมิ่น” พวกตนมาโดยตลอด

คนเหล่านี้คือคนที่ยืนกรานเป็นมั่นเหมาะว่า “หัวเด็ดตีนขาด” อย่างไรก็จะลงคะแนนเลือกทรัมป์เป็นประธานาธิบดีในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้

นอกเหนือจากผู้สนับสนุนที่เป็น “แกน” ของทรัมป์ดังกล่าวแล้ว ยังมีรีพับลิกันอีกจำนวนหนึ่ง รีพับลิกันที่ขยับเข้ามาใกล้แทบจะอยู่ตรงกลางแทนที่จะเทไปทางขวาสุดกู่ รีพับลิกันที่เอนเอียงไปในแนวทางความคิดที่เป็นอิสระ ซึ่งมีเหตุผลอยู่ในตัวพอที่จะส่ายหน้าปฏิเสธ “พฤติกรรมส่วนบุคคล” ของคนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์

แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังเต็มใจที่ลงคะแนนเสียงให้กับทรัมป์ ไม่ใช่เพื่อทรัมป์ แต่เพื่อรีพับลิกันและเพื่อกีดกัน ฮิลลารี คลินตัน ไม่ให้พาเหรดตบเท้าเข้าสู่ทำเนียบขาว

กระนั้น ในทันทีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงพฤติกรรม “เหลือรับประทาน” ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีอย่างหยาบกร้านต่อครอบครัวของทหารผู้เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในสงครามอิรัก หรือการปฏิบัติต่อเพศหญิงเหมือน “สมบัติ” ง่ายๆ ชิ้นหนึ่ง คนเหล่านี้ก็อึดอัด คับข้องใจมากพอที่จะเดินห่างออกมาจากทรัมป์ ส่งผลให้โพลของตัวแทนพรรครีพับลิกันลดต่ำลงจนเห็นได้ชัด แต่แน่นอนเมื่อคลินตันตกเป็น “ข่าว” แทน คนเหล่านี้ก็สะวิงกลับมาที่เดิมอีกคำรบ

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สัดส่วนในโพลของคลินตันค่อนข้างนิ่ง แกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบๆ เป็นสัดส่วนในโพลของทรัมป์ต่างหากที่แกว่งขึ้นและลงตามสถานการณ์

น่าสนใจติดตามอย่างมากทีเดียวว่า กรณีอีเมล์ที่ เจมส์ โคมีย์ เปิดเผยออกมาเพียงแค่ว่ามี และมีส่วนเกี่ยวข้องกับคลินตันจนทำให้ต้องเปิดการสอบสวนใหม่อีกครั้ง ไม่มีการเปิดเผยถึงเนื้อหาเพิ่มเติมนอกเหนือจากนั้น จะยังจัดว่าอยู่ในข่ายนี้หรือไม่

หรือจะเป็นการเปิดเผยที่มีอิทธิพลขนาดชี้ขาดการเลือกตั้งครั้งนี้

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ทีมหาเสียงของคลินตัน น้อยครั้งที่จะรณรงค์ในเชิงรุก แตกต่างอย่างใหญ่หลวงกับทีมงานทรัมป์ ที่ฉกฉวยทุกโอกาสที่ตกมาถึงมือโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีอีเมล์ ที่ถูกเปลี่ยนเป็นเรื่อง “อภัยไม่ได้” หรือ “ไว้วางใจไม่ได้” ในขณะที่สารพัดเรื่องของทรัมป์ที่ถูกนำออกมาแฉ นำออกมาเปิดโปงแทบเป็นรายวัน รายสัปดาห์ กลับไม่เคยถูกนำมาตอกย้ำบนเวทีรณรงค์หาเสียงของเดโมแครต

ตั้งแต่กรณี “ทรัมป์ ยูนิเวอร์ซิตี” (กรณีการเปิดอบรมราคาแพง โฆษณาสรรพคุณของวิทยากรใหญ่โต แต่ลงเอยไม่เป็นไปตามคำกล่าวอ้าง จนกลายเป็นคดีความฟ้องร้องคาศาลอยู่ในเวลานี้) ซึ่งเป็นเหตุให้ จอห์น แคสซิดี แห่ง วอชิงตันโพสต์ ขนานนามทรัมป์ว่าเป็น “คอน แมน” หรือ “นักตุ๋น” เรื่อยไปจนถึงกรณีการไม่เสียภาษีนานร่วม 2 ทศวรรษ และอาจไม่เสียภาษีอีกเลยตลอดชีวิต ที่นิวยอร์ก ไทม์ส นำออกมาแฉ แม้กระทั่งบรรดาผู้หญิงคนแล้วคนเล่า (รวมแล้ว 11 คน) ว่าถูกลวนลามด้วยพฤติกรรมหยาบโลน และการกล่าวอ้างอย่างกลวงเปล่าปราศจากข้อเท็จจริงรองรับนับครั้งไม่ถ้วน

เหล่านี้ไม่เคยถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพโดยฝ่ายเดโมแครตเลยสักครั้งเดียว

อย่างไรก็ตาม การที่ทรัมป์ยังคงมีคะแนนนิยมอยู่ในระดับสูงมาได้จนกระทั่งถึงขณะนี้ แสดงให้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่อยู่นอกเหนือ หรือเกินเลยไปจากยุทธวิธี หรือกลยุทธ์ทางการเมือง แต่เป็นภาพสะท้อนของสังคมใน “อเมริกาใหม่” ที่แตกแยก แบ่งขั้วแบ่งฝ่ายกันลึกซึ้งมากกว่าที่เห็นกันเพียงผิวเผิน

ประเทศที่มองฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองเป็น “ศัตรู” เป็นคนที่ “ควรประณาม” และเป็นกลุ่มก้อนที่ “ไม่มีวันมีความชอบธรรมทางการเมือง”

ตัวอย่างวาทกรรมที่สะท้อนแนวความคิดทำนองนี้จากเวทีหาเสียงของรีพับลิกัน มีอาทิ “ล็อค เฮอร์ อัพ!” ตลอดจนความจริงครึ่งเดียว ความจริงบิดเบือน ทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลาย

สำหรับ “นักปลุกระดม” จากรีพับลิกันทั้งหลาย วันที่ 8 พฤศจิกายน ไม่ได้เป็นเพียงโอกาสในการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็น “โอกาสสุดท้าย” ที่จะ “รักษาชาติ” ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของนักการเมืองและพวกเสรีนิยมที่ครองอำนาจทางการเมืองมายาวนานทั้งหลายที่ “ระดมกันออกมา” เพื่อ “ทำลาย” ประเทศนี้ในทุกๆ ทาง

ขณะเดียวกัน ในอีกฟากหนึ่งของสเปคตรัมการเมืองอเมริกัน กลุ่มเสรีนิยมนิยามบรรดาผู้สนับสนุนทรัมป์ว่าคือพวก “เงอะงะ งุ่มง่าม” หรือไม่ก็เป็น “พวกหัวดื้อไร้การศึกษา”

การต่อต้านทรัมป์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การตัดสินใจทางการเมืองปกติธรรมดา แต่ยังเป็น “ภารกิจที่ชอบธรรม” และเป็น “ความจำเป็นของสังคม” อีกด้วย

เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศตกอยู่ในมือของพวก “บ้านนอก” ที่ “เหยียดผิว” และ “เซ่อซ่า” ทั้งหลาย

ชาดี้ ฮามิด นักวิชาการสังคมวิทยาจากสถาบันบรูกกิ้ง ชี้ว่า บรรดาผู้มีแนวความคิดเสรีนิยมและเดโมแครตทั้งหลาย แนบแน่นกับพรรคเดโมแครตน้อยกว่าความแนบแน่นที่พวกเขามีให้กับวิสัยทัศน์ “อเมริกาใหม่” ของตนเอง นั่นคืออเมริกาที่แตกต่างทั้งทางกายภาพและทางความคิดกับอเมริกาที่ย้อนยุคกลับไปสู่อดีตของรีพับลิกันและทรัมป์

และคนเหล่านี้ยืนกรานเด็ดเดี่ยวว่า จะไม่ยอมให้สังคม ไม่ยอมให้ประเทศย้อนกลับไปเหมือนเดินถอยหลังลงคลองเช่นนั้น

“สิ่งที่เป็นยิ่งกว่าพรรค ก็คือรูปแบบการใช้ชีวิตที่พวกเขาคุ้นเคย วัฒนธรรม การรับรู้ต่างๆ ที่พวกเขาสัมผัสและรู้สึกมาตลอด ภายใต้ค่านิยม, ขนบประเพณี, สถาบันต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชนที่เป็นของพวกเขาเอง”

ฮามิดชี้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการเลือกตั้ง อเมริกันเสรีนิยมยังคงได้เปรียบและเหนือกว่าทั้งในเชิงประชากร รูปแบบของการลงคะแนนเสียงล่วงหน้า เรื่อยไปจนถึงการใช้ระบบตัวแทนหรือ

อิเล็กเทอรัล คอลเลจ กระนั้น ความพ่ายแพ้ของทรัมป์ในสัปดาห์หน้านี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า ความแตกแยกลึกซึ้งและกว้างขวางที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเด่นชัดมากในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้จะสิ้นสุดลงแต่อย่างใด

ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้ในทรรศนะของฮามิด ก็คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเมื่อ “คนขาว” กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ “ที่มีขนาดเล็กลง” หรือยิ่งไปกว่านั้นก็คือ “กลายเป็นเสียงส่วนน้อย-ชนกลุ่มน้อย” ไปเลย

“แนวโน้มที่จะเกิดการเมืองเชิงชาติพันธุ์ที่เราได้เห็นมากับตาในฤดูกาลหาเสียงหนนี้ ที่รุนแรง ดุเดือดมากขึ้นอาจเกิดขึ้นตามมา”

แม้ว่าคนอเมริกันในตอนนี้คิดถึงเรื่องใครจะชนะอยู่มากกว่าก็ตามที!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image