เอกอัครราชทูตไทย ณ นิวเดลี มอง 75 ปีสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินเดีย

ภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย

เอกอัครราชทูตไทย ณ นิวเดลี มอง
75 ปีสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินเดีย

หมายเหตุ “มติชน” ถือโอกาสที่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-อินเดีย ครบ 75 ปี ในวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา พูดคุย น.ส.ภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ถึงความสัมพันธ์ในช่วงที่ผ่านมา และโอกาสสำหรับความร่วมมือและการค้าระหว่างกันในอนาคต

 

๐เพิ่งจะครบ 75 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไปเมื่อต้นเดือนนี้ ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-อินเดียตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร

แม้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอินเดียจะยาวเพียง 75 ปี แต่ความผูกพันย้อนกลับไปไกลนับมากกว่าพันปีก่อน ผ่านความเชื่อมโยงทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมที่สืบเนื่องส่งต่อกันมา จากการเผยแผ่ของพระพุทธศาสนา สู่การค้าในสมัยกรุงศรีอยุธยา และการเดินทางของผู้คนที่ทำให้ในวันนี้วิถีไทยและอินเดียยังคงปรากฏมรดกทางวัฒนธรรมที่มีลักษณะร่วมกันให้เห็นอยู่ชัดเจนมากมาย ทั้งด้านความเชื่อ ประเพณี สถาปัตยกรรม ภาษา วรรณคดี รวมทั้งงานหัตถศิลป์ ที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดียมีรากฐานที่แข็งแกร่งและแน่นแฟ้นมาโดยตลอด

แต่ในวันนี้ อยากให้คนไทยมองเห็นความสัมพันธ์ไทย-อินเดียในยุคสมัยใหม่ มิได้เพียงจำกัดอยู่แต่มิติวัฒนธรรมเช่นก่อน แต่มีพัฒนาการขยายรอบทุกด้าน แต่วัฒนธรรมยังคงเป็นแก่นหลักที่ผูกโยงเราด้วยกัน และมิได้แค่ในกรอบทวิภาคีแต่ไปสู่กรอบพหุภาคีระดับภูมิภาค

Advertisement

แรงส่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ในปัจจุบันมีความหลากหลายอาจเริ่มมาจากการที่อินเดียได้ปรับนโยบายมาสู่ “Act East” เมื่อปี 2557 โดยมุ่งส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างจริงจัง และไทยมีนโยบาย “Look West” ในปี 2559 ที่สอดรับกัน จากจุดนี้ นำมาสู่การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในระดับราชวงศ์ รัฐบาล และภาคส่วนต่างๆ เปิดประตูไปสู่ความร่วมมือทางการทหาร ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว รวมทั้งแตกออกไปสู่สาขาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ และสาธารณสุข

โดยเฉพาะการค้า ที่อินเดียกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ มูลค่าการค้าสองฝ่ายในปี 2564 เพิ่มเป็น 14.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้าสถิติระดับ 12.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เคยสูงสุดก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 เมื่อช่วงปี 2561 และที่โดดเด่นที่สุดคือการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายใน 5 ปี จาก 1.04 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 1.96 ล้านคนในปี 2562 ด้วยจำนวนเที่ยวบินระหว่างกันกว่า 330 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และนับจากไทยเปิดประเทศตั้งแต่ 1 ม.ค.- 20 ก.ค. ปีนี้ เกิดสถิติใหม่คือชาวอินเดียกลายเป็นอันดับหนึ่งสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยทางอากาศ ถึงกว่า 294,000 คน

ความสัมพันธ์ไทย-อินเดียได้ขยายตัวไปสู่กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค โดยเฉพาะกลไกอาเซียน-อินเดีย ซึ่งอินเดียให้ความสำคัญอาเซียนในฐานะศูนย์กลางของนโยบาย Act East และใกล้กับไทยมากขึ้นนับตั้งแต่ที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2562 อีกทั้ง ไทยและอินเดียยังเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-คงคา และ BIMSTEC ซึ่งยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้อินเดียมองเห็นไทยเป็นเสมือนประตูสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทุกเวทีล้วนแล้วแต่เอื้อให้มีโอกาสต่อยอดหรือเสริมผลประโยชน์ในกรอบทวิภาคีให้กว้างขวางขึ้น

Advertisement

ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสที่ผ่านมา การติดต่อระหว่างไทยและอินเดียก็ยังคงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนช่วยเหลือกันและกันในด้านอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ ในช่วงที่ต่างประสบวิกฤตอย่างรุนแรงจากการระบาด ไมตรีจิตที่สำคัญสะท้อนได้ชัดเจนจากความช่วยเหลือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานให้อินเดียเมื่อ 8 พฤษภาคม 2564 เป็นถังออกซิเจน เครื่องผลิตออกซิเจน และอุปกรณ์อื่นๆ ในช่วงที่เกิดการระบาดอย่างรุนแรงในอินเดีย และอินเดียก็ได้ให้อุปกรณ์และผ่อนปรนการส่งออกยาต้านไวรัสให้แก่ไทยเช่นกันในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน

ในปี 2565 นี้ เมื่อสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายมากขึ้น ภาพที่เห็นได้ชัดเจนคือทั้งสองฝ่ายได้กลับมามีการติดต่อในระดับสูงและขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ อย่างทันที ได้มีการประชุมกลไกระดับสูงที่สำคัญคือการประชุมระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทย-อินเดีย ครั้งที่ 6 เมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่กรุงนิวเดลี และจะมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย-อินเดีย ครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่กรุงเทพฯ ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ รวมทั้งอินเดียได้มีการจัดกิจกรรม North Eastern Festival ในปลายเดือนกรกฎาคม ที่กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับรัฐต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความเชื่อมโยงใกล้ไทย โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย มุขมนตรีจากรัฐต่างๆ ในภูมิภาคนี้เดินทางมาร่วม

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงสายสัมพันธ์ไทยและอินเดียที่ไม่เคยขาดจางหายและมีความราบรื่นมาโดยตลอด และในวันนี้ต่างตระหนักถึงศักยภาพของกันและกันและมีความจริงจังที่จะเดินหน้าผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมร่วมกันทั้งในกรอบทวิภาคีและภูมิภาคต่อไป

๐อะไรคือจุดแข็งในความสัมพันธ์ระหว่างกัน และอะไรที่มองว่ายังอาจเป็นความเข้าใจผิดของคนไทยต่ออินเดีย

จุดแข็งที่มองเห็นลำดับแรกคือด้านวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงสองประเทศมาอย่างยาวนาน แทบจะเรียกว่าเป็นแก่นของความผูกพันระหว่างกันก็ว่าได้ ทั้งด้านภาษาที่ได้รับอิทธิพลร่วมกันจากภาษาบาลีสันสฤต ศาสนาและความเชื่อ ที่มีรากมาจากทั้งพุทธศาสนาและฮินดู รวมถึงคนไทเผ่าต่างๆ ในรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยเฉพาะรัฐอัสสัม ซึ่งมีรากเหง้าในด้านชาติพันธุ์ และภาษาร่วมกับคนไทย จุดร่วมทางวัฒนธรรมนี้จึงนับว่าเป็นจุดแข็งที่เกื้อกูลและเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ระหว่างไทย-อินเดียในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม จากความรู้ความเข้าใจต่ออินเดียที่จำกัดในมุมเดิมๆ หรือภาพจำเก่าๆ ส่งผลให้คนไทยไม่น้อยมองข้ามความเป็นจริงของอินเดียในปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นประเทศที่มีพัฒนาการก้าวหน้าในหลายด้าน มีเสถียรภาพทางการเมืองที่ทำให้รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาประเทศได้อย่างเข้มข้น เช่น Make In India/ Digital India/ Self Reliance India / Pharmacy of the World จนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3-4 ของโลก เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงมากขึ้น มีประชากรในวัยทำงานเกือบ 400 ล้านคนจากทั้งหมดกว่า 1,300 ล้านคน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวในระดับร้อยละ 8 และมีการส่งเสริม IT อย่างจริงจังซึ่งเกื้อกูลต่อการสร้าง Start-up จนมียูนิคอร์นเพิ่มมากขึ้นถึง 105 ตัว และยังไม่นับบทบาทของอินเดียในเวทีระหว่างประเทศที่มีการกล่าวว่าเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคที่ได้รับการยอมรับ และสามารถจับมือกับประเทศมหาอำนาจหรือกลุ่มต่างๆ ได้อย่างรอบด้านบนความสมดุลของผลประโยชน์

ความท้าทายต่อไทยคือ ด้วยความแข็งแกร่งของอินเดียในวันนี้ประกอบกับจุดแข็งของการรากทางวัฒนธรรมร่วมกันมาช้านาน ไทย-อินเดียจะพัฒนาไปสู่จุดแข็งในด้านอื่นๆ ร่วมกันต่อไปได้อย่างไร

การมองอินเดียเพื่อวันหน้า แม้จำเป็นต้องมองให้เห็นพลวัตรทั้งประเทศ แต่ด้วยความหลากหลายของอินเดีย หากจะให้เข้าถึงและมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาผลประโยชน์ต่อได้ คงต้องมองแยกแต่ละรัฐต่างกันออกไป เพราะต่างมีนโยบาย ข้อโดดเด่นที่แตกต่างกัน และกำหนดพื้นที่เป้าหมายให้ชัด การมองอินเดียทั้งประเทศแบบเหมารวมเหมือนกันทั้งหมดอาจทำให้เราพลาดโอกาส การทำความเข้าใจอินเดียในมุมแยกและมุมปัจจุบัน จะทำให้รู้จักอินเดียดียิ่งขึ้นและนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ต่อไป

๐อินเดียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดและมีศักยภาพสูงที่สุดในเอเชียใต้ ที่ผ่านมา คนไทยได้ตระหนักถึงโอกาสสำหรับการค้าการลงทุนในอินเดียมากน้อยเพียงใด

ปัจจัยจากเรื่องนี้อาจมี 3 ส่วน เรื่องแรก ศักยภาพของตลาดอินเดียปัจจุบัน อยากให้มองในระดับโลก เพราะอินเดียถูกจับตามองว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลกแม้ว่าจะเผชิญผลกระทบอันเป็นผลมาจาก COVID-19 มีจำนวนประชากรกำลังจะแซงหน้าจีนในอีกไม่กี่ปี ปัจจัยส่งเสริมเรื่องนี้มาจากนโยบายของรัฐบาลอินเดียเอง อาทิ Self-Reliant India ที่มุ่งเปิดประตูรับการลงทุนจากต่างชาติ รวมทั้งการสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและการเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทระดับโลก ค่าแรงที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และการลงทุนของรัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และรัฐบาลของแต่ละรัฐเองก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

เรื่องที่สอง เอกชนไทยมองทะลุถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินเดียเหล่านี้ดี จึงเห็นได้ว่าในปัจจุบันมูลค่าการค้า ไทย-อินเดีย ได้ขยายเพิ่มเป็น 14.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 ตามที่กล่าวไป ธุรกิจหลักๆ ของอินเดียก็มีการลงทุนไทยอย่างต่อเนื่อง และที่น่าสนใจมากคือการลงทุนของไทยในอินเดียเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันมีประมาณ 38 บริษัท เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ การแปรรูปการเกษตร แต่ก็อาจมีเอกชนไทยอีกมากที่ยังขาดข้อมูลที่จะสร้างความมั่นใจพอเพียงและยังมีความเข้าใจที่จำกัดเกี่ยวกับอินเดียหลายด้าน

อีกส่วนคือประสบการณ์ของนักธุรกิจไทยกับอินเดีย ซึ่งอาจจะพบปัญหาและอุปสรรคโดยเฉพาะจากกฎระเบียบต่างๆ และวัฒนธรรมการทำงาน สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ช่วยประสานฝ่ายอินเดียเพื่อแก้ไขปัญหาหลายกรณี อาทิ การอนุญาตการนำเข้าวัตถุดิบการผลิต การผ่อนปรนมาตรการที่มิใช่ภาษี และการอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจ ข้อมูลเช่นนี้ย่อมบั่นทอนความสนใจในการประกอบธุรกิจกับอินเดียไม่มากก็น้อย แต่อยากให้ไทยมองศักยภาพอินเดียในระยะยาว เพราะตลาดขนาดอินเดียเป็นตลาดที่ไม่ควรมองข้าม การเข้าสู่ตลาดก่อนก็จะมีข้อได้เปรียบก่อน

สิ่งที่ต้องผลักดันต่อไป คือการสร้างโอกาสให้เอกชนทั้งสองฝ่ายเข้าถึงศักยภาพของกันและกัน โดยให้มีการพบปะกันเป็นประจำ ผ่านกลไก Thailand – India Business Council และ India-Thailand Joint Business Forum เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างเครือข่ายระหว่างกัน แต่แน่นอนการเข้าถึงอินเดีย ต้องอาศัยความกล้า ค่อยเป็นค่อยไป และมีข้อมูลรอบด้าน ซึ่งเคยมีคนกล่าวว่า “Thai people are not seafaring type.” หรือคนไทยไม่ใช่นักผจญภัยที่ออกเดินเรือไปยังที่ต่างๆ แต่อาจจะเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่ที่ถนัด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าอย่างไร สถานเอกอัครราชทูต และทุกหน่วยงานไทยในอินเดียพยายามอย่างเต็มที่ช่วยเคาะประตูฝ่ายอินเดีย และให้ข้อมูลกับฝ่ายไทยให้มากที่สุดในช่องทางต่างๆ

๐จะมีการจัดกิจกรรมอะไรบ้างเนื่องในโอกาสสำคัญนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดตัวตราสัญลักษณ์ครบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินเดียไปแล้ว

โอกาสฉลอง 75 ปีความสัมพันธ์ฯ ถือเป็นโอกาสในการยกระดับภาพลักษณ์ไทยในทุกระดับในอินเดีย และต่อยอดไปสู่โอกาสทางด้านเศรษฐกิจ แผนจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองตลอดปี 2565 จึงครอบคลุมทั้งด้านวัฒนธรรม เช่น อาหารไทย นาฏศิลป์ ด้านเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมสินค้าไทย โดยเฉพาะผลไม้และอาหารแปรรูป การท่องเที่ยวไทย และการแลกเปลี่ยนด้าน start-up กับอินเดีย โดยจัดร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของไทยและอินเดีย ที่จัดไปแล้วคือ การจัดเสวนาและแสดงนิทรรศการผ้าทอไทย Thailand and India: a Journey of Friendship through Textiles ที่อินเดีย ระหว่าง 21-29 มิถุนายน 2565 สะท้อนสายสัมพันธ์ไทย-อินเดียผ่านการค้าและการสืบสานผ้าทอมือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ก็เพิ่งมีงานฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ฯ ที่โรงแรม The Oberoi กรุงนิวเดลี ภายใต้ Celebrating Indo – Thai Friendship นำเสนอนาฏศิลป์ การท่องเที่ยวไทย สินค้าอาหารและผลไม้ไทย และจัดเทศกาลอาหารไทย เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวและบริโภคสินค้าไทย

ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน นี้ จะมีการจัดนิทรรศการภาพเขียนไทย-อินเดีย 75 ปี – 75 ภาพ ที่ Lalit Kala Academy กรุงนิวเดลี โดยจัดแสดงผลงานของศิลปินไทยภายใต้การประสานของศูนย์ศิลป์สิรินธร ร่วมกับของศิลปินชาวอินเดีย และการนำคณะผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียมาเยือนไทย เพื่อสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนติดต่อกับกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ไทยในช่วงปลายเดือนกันยายน

นอกจากนี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา เมืองมุมไบ และเมืองเจนไน และหน่วยงานทีมประเทศไทยในอินเดีย ต่างก็ร่วมจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญนี้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image