ในหลวง กับการต่างประเทศของไทย (จบ)

หมายเหตุ – พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่เพียงแต่เป็นศูนย์รวมจิตใจคนไทยทั้งประเทศ แต่พระองค์ยังทรงมีบทบาทเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งในฐานะองค์พระประมุขที่ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในโลก และทรงเป็นนักพัฒนาจนได้รับการทูลเกล้าฯรางวัลมากมาย “มติชน” จึงได้สัมภาษณ์บุคคลที่มีส่วนต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในประเด็นดังกล่าว


เตช บุนนาค 
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ 11

เตช บุนนาค
เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ 11

หลังเสด็จฯเยือนสหรัฐและยุโรปแล้ว ในระยะต่อมาก็เป็นเรื่องของการรับรองอาคันตุกะจากต่างประเทศเป็นการตอบแทน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็เสด็จมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะประมุขแห่งรัฐ หรือ State Visit ถึง 2 ครั้ง ซึ่งเกือบจะไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ ซึ่งในช่วงเสด็จเยือนครั้งแรกเป็นช่วงปี 2515 ประธานาธิบดีสหรัฐแทบทุกคนก็เดินทางมาเยือนไทย ตั้งแต่เริ่มต้นรับราชการในปี 2512 จนเกษียณอายุราชการเมื่อ 13 ปีมาแล้ว ก็ได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมี เวลาที่พระองค์ท่านเสด็จออกทรงรับพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ จนกระทั่งผมมาเป็นที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ 11 ก็ได้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงเป็นผู้แทนราชอาณาจักรไทยที่สุดยอดมาโดยตลอด

ไทยประกาศตัวอยู่ข้างโลกเสรี แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็นและไทยกลับไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอีกครั้งในปี 2518 จีนก็ยกย่องพระองค์ในฐานะผู้วางรากฐานความสัมพันธ์ไทย-จีนเช่นกัน

Advertisement

แน่นอนว่าในแง่ของนโยบาย รัฐบาลไทยของเราอยู่ข้างโลกเสรีและอยู่ข้างเดียวกับประเทศตะวันตกในสมัยนั้น แต่สิ่งสำคัญที่พระองค์ทรงทำคือทรงเป็นผู้แทนของศักดิ์ศรีของประเทศมีที่มีอิสรเสรี

ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ข้างเดียวกับโลกตะวันตก เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการแสดงความเป็นไทแก่ตน ซึ่งความเป็นไทก็คือความอิสระเสรีนั่นเอง

เมื่อเราเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน และสามารถสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราขึ้นใหม่ ซึ่งแม้แต่ 41 ปีที่แล้ว จีนก็เปลี่ยนแปลงไปแล้วเช่นกัน ผู้นำจีนเขาก็เห็นว่าไทยเป็นประเทศเสรีจริง เป็นตัวของตัวเองจริง ด้วยเหตุนี้เขาถึงให้ความสำคัญกับเรา

Advertisement

การเสด็จฯเยือนประเทศต่างๆ ของพระองค์ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะได้รับความชื่นชมในทุกๆ ที่ และหลังจากที่พระองค์ไม่เสด็จฯเยือนประเทศต่างๆ ก็ทรงทำหน้าที่ต้อนรับแขกและอธิบายความเป็นไปของบ้านเมืองให้ฟัง จากบริบทและจุดยืนของเราคือประเทศไทยเป็นประเทศเสรี ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร เราเป็นตัวของเราเอง เราเป็นไท เป็นประเทศที่มีศักดิ์ศรี มีเสรีภาพ เราสามารถที่จะยืดอกได้ ซึ่งเรามีความเป็นเอกลักษณ์ในแง่นี้

สำหรับตัวผมเอง มีสองโอกาสที่อยากเอ่ยถึง คือตอนที่นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์จากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ซึ่งได้กล่าวถวายพระพรได้อย่างสุดยอด

และครั้งสุดท้ายที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทคือในราวเดือนสิงหาคม 2551 ตอนผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและได้นำนายฮอ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ไปเข้าเฝ้าฯที่วังไกลกังวล หัวหิน เมื่อการเข้าเฝ้าฯเสร็จสิ้น ผมได้กลับเข้าไปกราบพระบาทพระองค์ท่าน พระองค์รับสั่งว่า ?เวลาเจรจากับเขาให้แน่นหนาหน่อย? แปลว่าทรงเตือนให้ทำการบ้านและให้รอบคอบ ซึ่งเป็นการเตือนสติที่สุดยอด และผมก็ได้นำกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวไปใช้

สมัยก่อนเวลาที่เราไปเป็นเอกอัครราชทูต ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะเอกอัครราชทูตยังเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นองค์ประมุขของราชอาณาจักรไทย ก่อนที่จะไปรับหน้าที่เอกอัครราชทูต ถือเป็นเกียรติและเป็นโชคสูงสุดที่จะได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลลาไปรับราชการในต่างประเทศ พระองค์จะทรงรดน้ำ เจิม ทัดใบมะตูม และจะพระราชทานพระบรมราโชวาทเล็กน้อยซึ่งเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา

ผมยังประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ว่าเมื่อไปเป็นทูตครั้งแรกที่ปักกิ่ง พระองค์รับสั่งว่า ?ปักกิ่งนี่หนาวนะ ระวังสุขภาพด้วย? เห็นว่าทรงเมตตาอย่างไร ผมโชคดีที่ได้เข้าเฝ้าฯกราบบังคมทูลลาอีก 2 ครั้งเมื่อตอนไปฝรั่งเศสและสหรัฐ รู้สึกประทับใจและเป็นเกียรติอย่างสูง พวกเราจะซาบซึ้งในพระเมตตาอย่างยิ่ง

ปกติเอกอัครราชทูตจะไปเข้าเฝ้า ครั้งละ 4-5 คน แต่จะเข้าไปกราบบังคมทูลลาทีละคน พระองค์ท่านจะรับสั่งกับทูตแต่ละคน หลังจากนั้นพวกเราจะมายืนส่งเสด็จ พระองค์ก็จะเสด็จฯมาและทรงมีพระราชปฏิสันถารกับทั้ง 5 คน ซึ่งแสดงถึงพระเมตตาต่อข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศโดยรวม

นอกจากนี้ เมื่อก่อนจะมีการประชุมทูตปีละครั้ง หรือ 2 ปีครั้ง ทุกครั้งเอกอัครราชทูตก็จะได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อฟังพระบรมราโชวาททีละชั่วโมงหรือสองชั่วโมง ซึ่งมีประโยชน์กับการปฏิบัติราชการและการดำเนินชีวิตของเราอย่างยิ่ง และยังพระราชทานโอกาสในการตั้งคำถามด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างที่จะไม่มีวันลืมตลอดชีวิต

 

กษิต ภิรมย์  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

กษิต ภิรมย์
กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทำให้ประเทศไทยมีสถานะในโลกในฐานะประเทศที่กำลังพัฒนายุคใหม่ และเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่มีพระมหากษัตริย์และราชวงศ์สมัยใหม่ ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ได้เสด็จฯเยือนมิตรประเทศและได้ให้การต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ เมื่อพระองค์ไม่เสด็จฯเยือนก็ยังส่งพระบรมวงศานุวงศ์ไปดำเนินความสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังมีพระราชสาส์นติดต่อไปต่างประเทศทั้งในยามทุกข์และในยามสุขอย่างสม่ำเสมอ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านก็มีความเป็นสากลที่สามารถใช้ได้กับทุกคน เพราะให้ข้อคิดเกี่ยวกับการพินิจพิจารณาตัวเอง ไตร่ตรองขีดความสามารถ วางแผนขั้นตอนในการดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง โดยมีความระมัดระวัง ประมาณตน มีโครงการตามแนวพระราชดำริและโครงการทดลองต้นแบบที่ไม่หวงแหน แต่เอื้ออำนวยให้คนยากจนเพื่อให้อยู่รอดและสามารถขยายทำเป็นธุรกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเป็นองค์พระประมุขและผู้นำประเทศที่เป็นแบบอย่าง ทั้งจากสิ่งที่ทรงคิด พูด และปฏิบัติให้ดู ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรมตั้งแต่วันแรก เหนือสิ่งอื่นใดความประพฤติของพระองค์ไม่ว่าจะในฐานะบุคคลและในฐานะพระมหากษัตริย์ไม่มีความด่างพร้อย ทุกลมหายใจมีแต่คิดและทำเพื่อประชาชน ให้ทั้งวิถีทางการดำเนินชีวิต ให้ความคิดในโครงการพระราชดำริ นำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้ พระองค์ให้ในสิ่งที่จับต้องได้ในหน้าที่องค์ประมุขและผู้นำประเทศ

ขณะที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เข้าเฝ้าฯเพื่อรับพระราชทานสาส์นตราตั้งเพื่อเป็นผู้แทนพระองค์ในต่างประเทศ พระองค์ยังทรงกรุณาสนทนาเกี่ยวกับประเทศที่จะไปประจำการด้วย ทรงให้ข้อแนะนำว่าจะไปปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้แทนพระองค์และผู้ที่ไปเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศนั้นๆ อย่างไร ซึ่งสะท้อนว่าพระองค์ทรงศึกษาเรื่องราวต่างๆ ทันเหตุการณ์ ทันสมัย รู้ประเด็นปัญหาและอยากใฝ่หาความร่วมมือ

พอบอกว่าเป็นทูตไทย ประตูทุกประตูมันเปิด เหมือนมีใบเบิกทาง และมีความยกย่องตั้งแต่ต้น ประโยคแรกที่พบปะก็จะมีการถามถึงพระพลานามัย รับทราบเรื่องภารกิจต่างๆ ของพระองค์ แน่นอนว่ามีความสงสัยอยู่ว่าท่านเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารหรือเปล่า ซึ่งต้องบอกว่าภารกิจทั้งหมดของพระองค์ทำให้มองว่าทรงเป็นผู้ให้บริการต่อประเทศ ต่อประชาชนพลเมือง ไม่ได้เป็นการเข้าไปแทรกแซง แต่เป็นเรื่องของการเข้าไปเติมให้เต็มหรือเสริมงานที่เป็นภาระหน้าที่ของผู้บริหารและรัฐบาล

พระองค์ทรงงานตลอดพระชนม์ชีพ และยังทรงอยู่ได้อย่างสง่างามท่ามกลางความท้าทาย ไม่ว่าบริบทของโลกและสังคมไทยจะมีขึ้นมีลงอย่างไร ในใจก็มีพระองค์เป็นเครื่องเตือนสติให้นึกคิด ถอยมาตั้งหลักเพื่อให้เดินหน้าไปด้วยกันใหม่ ฉะนั้น ความรุนแรง การหักล้าง เอาแพ้เอาชนะกันให้ถึงที่สุด ไม่เคยอยู่ในความคิดของพระองค์ท่านเลย พระองค์ท่านใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อสังคมไทย ไม่เคยเฉียดใกล้กับคำว่าอภิสิทธิ์ การเหนือกว่าหรือต่ำกว่า แต่มุ่งเสริมสร้างความทั่วถึงและทัดเทียม

สิ่งที่สำคัญมากคือ พระองค์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงชีวิตและชาติสามารถทำได้อย่างสันติวิธี พระองค์จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นนักพัฒนาผู้มีวิสัยทัศน์

เป็นทั้งผู้คิดและผู้ปฏิบัติ สิ่งที่ทรงคิด ทำและสั่งสอน มีความเป็นสากล มีความทันสมัย สิ่งที่พระองค์ทำไว้ เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องช่วยกันสานต่อ อย่ามาแค่ถวายสัตย์ปฏิญาณวันรับตำแหน่ง หรือกราบบังคมทูลลาวันตาย แต่ต้องปฏิบัติทุกวัน ทุกคน และทุกเวลา โดยเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ที่ประชาชนมอบให้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image