เริ่มยิ้มออก! ไอเอ็มเอฟไฟเขียว ‘ข้อตกลงเบื้องต้น’ เงินช่วยเหลือศรีลังกา 1.044 แสนล้านบาท

เริ่มยิ้มออก! ไอเอ็มเอฟไฟเขียว ‘ข้อตกลงเบื้องต้น’ เงินช่วยเหลือศรีลังกา 1.044 แสนล้านบาท

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายน ว่าประเทศศรีลังกาได้บรรลุ “ข้อตกลงเบื้องต้น” ร่วมกับไอเอ็มเอฟ เพื่อดำเนินการอนุมัติเงินกู้ราว 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.044 แสนล้านบาท ในการช่วยเหลือและคลี่คลายปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี

ข้อตกลงเบื้องต้นที่ว่าเป็นเพียงก้าวแรกของการแก้ปัญหาเรื้อรังของศรีลังกา เพราะยังจะต้องผ่านกระบวนการอนุมัติโดยคณะบริหารของไอเอ็มเอฟ และยังขึ้นอยู่กับท่าทีของเจ้าหน้าที่ศรีลังกาที่จะปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ตกลงร่วมกันแล้ว
โดยที่แผนการดำเนินการของศรีลังกาตลอด 4 ปีหลังจากนี้จะมุ่งไปที่การกระตุ้นรายรับของรัฐบาล การเพิ่มศักยภาพทางการคลัง การปรับค่าไฟและราคาน้ำมัน การเพิ่มรายจ่ายของภาคประชาชน การสร้างอิสระให้กับธนาคารกลาง และการฟื้นฟูเงินสำรองต่างประเทศ สอดคล้องกับเงื่อนไขเงินกู้ของไอเอ็มเอฟที่รวมถึงการได้รับการรับประกันทางการเงินจากพนักงานควบคุมหนี้ของศรีลังกา และความพยายามของประเทศที่จะบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ภาคเอกชน

ไอเอ็มเอฟกล่าวอีกว่าแผนงานนี้จะปฏิรูปการเก็บภาษีครั้งใหญ่ที่จะรวมถึงการปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ก้าวหน้ามากขึ้น รวมถึงขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคาดหวังว่าแผนงานดังกล่าวจะทำให้เกิดการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เกินดุล 2.3% ของจีดีพีในปี 2024 และหากแผนการดำเนินงานนี้ผ่านการอนุมัติ ศรีลังกาก็มีแนวโน้มที่จะได้รับการช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมจากผู้ให้กู้อื่นๆ

นายอูดีชาน โจนาส หัวหน้าเจ้าหน้าที่ยุทธศาสตร์ของธนาคารเพื่อการลงทุนศรีลังกา CAL Group กล่าวว่า ไอเอ็มเอฟมีท่าทีเชิงบวกต่อมาตรการทางการเงิน อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่าบริษัทรัฐวิสาหกิจจะมีการใช้มาตรการรัดเข็มขัดและลดอัตรากำลังเพิ่มขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในอนาคต ซึ่งโจนาสคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า

Advertisement

ส่วนนายปีเตอร์ บริวเออร์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ข้อตกลงเบื้องต้นนี้ให้ความสำคัญกับความยึดมั่นของรัฐบาลศรีลังกาที่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้เกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในจุดนี้ญี่ปุ่นได้เสนอตัวที่จะช่วยเป็นผู้นำในการเจรจากับเจ้าหนี้หลักอื่นๆ อย่างอินเดียและจีน

ศรีลังกายังต้องทำข้อตกลงกับธนาคารนานาชาติและผู้จัดการทรัพย์สินที่ถือครองส่วนใหญ่ของพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ในปัจจุบันศรีลังกาไม่สามารถหาเงินมาจ่ายคืนผู้ถือพันธบัตรได้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของศรีลังกาในสายตาของเจ้าหนี้อีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image