ย้อนรอยความผูกพันอันแน่นแฟ้น ‘ควีนเอลิซาเบธ’ และสกอตแลนด์

AP

ย้อนรอยความผูกพันอันแน่นแฟ้น ‘ควีนเอลิซาเบธ’ และสกอตแลนด์

AFP

หลังจากที่การเดินทางครั้งสุดท้ายของพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เริ่มต้นขึ้น ภายหลังการเคลื่อนหีบพระบรมศพจากปราสาทบัลมอรัล เมืองแอเบอร์ดีน ไปสู่เมืองเอดินบะระของสกอตแลนด์ ซึ่งมีเหล่าพสกนิกรน้อมส่งเสด็จครั้งสุดท้ายตลอดเส้นทาง เมื่อวันที่ 11 กันยายน ความผูกพันอันแน่นแฟ้นที่พระองค์ทรงมีต่อสกอตแลนด์จึงได้ถูกกล่าวขานอีกครั้ง

สมัยทรงพระเยาว์

สายสัมพันธ์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ต่อสกอตแลนด์เริ่มมาตั้งแต่สายพระโลหิตจากฝั่งพระราชมารดาของพระองค์ที่ทรงมาจากครอบครัวชาวสกอต ซึ่งมีที่ประทับ ณ ปราสาทกลามิส ในเขตปกครองท้องถิ่นแองกัส ของสกอตแลนด์ ทำให้ขณะทรงพระเยาว์ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงฤดูร้อนที่สกอตแลนด์ ไม่ที่พระราชวังบัลมอรัลของพระชนกและพระชนนี ก็ที่ปราสาทกลามิสของพระอัยยิกา อีกทั้งควีนเอลิซาเบธที่ 2 ยังมีพระดำรัสต่อสาธาณรณะครั้งแรกในเมืองแอเบอร์ดีน ปี 1944 เมื่อทรงเป็นองค์ประธานเปิดบ้านสำหรับชุมชนทหารเรืออังกฤษ

AP

เหตุประท้วง “ตู้ไปรษณีย์”

Advertisement

ในช่วงแรกที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงขึ้นเป็นองค์ประประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ในปี 1952 ได้เกิดเหตุประท้วงการเรียกขานพระยศของพระองค์ว่า “สมเด็จพระราชีนีนาถเอลิซาเบธที่ 2” ขึ้นในสกอตแลนด์ เนื่องจากสกอตแลนด์มองว่า “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ” ไม่เคยเป็นกษัตริย์ของสกอตแลนด์ ทำให้การขีดฆ่าตราประจำพระองค์ “อีอาร์ 2” ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 บนตู้ไปรษณีย์ เพื่อคัดค้านการใช้พระนามนั้นในสกอตแลนด์ จนมีการระเบิดตู้ไปรษณีย์ดังกล่าวทิ้งในที่สุด

พระราชวังบัลมอรัล

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ตทรงซื้อพระราชวังบัลมอรัลในปี 1852 และตั้งแต่นั้นมา พระราชวังดังกล่าวได้กลายเป็นที่ประทับในช่วงฤดูร้อนสำหรับราชวงศ์ ซึ่งควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสืบทอดธรรมเนียมหลวงในการมาประทับที่ “สกอตติช ไฮด์แลนด์” ดินแดนตอนเหนือสุดของสหราชอาณาจักรในทุกๆ ฤดูร้อน ดังที่จะสามารถเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ขณะพักพระอิริยาบถที่นี่จำนวนมาก ซึ่งเจ้าหญิงยูเชนีเคยตรัสผ่านสารคดีโทรทัศน์เรื่องหนึ่งในปี 2016 ว่า “คุณย่ามีความสุขที่สุดที่นั่น”

Advertisement

อีกทั้งควีนเอลิซาเบธที่ 2 ยังทรงเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองวัฒนธรรมดั้งเดิมของสกอตแลนด์ในหมู่บ้านเบรมาร์ เมืองแอเบอร์ดีนเป็นประจำทุกๆ ปีตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ซึ่งทำให้พสกนิกรชาวสกอตแลนด์มีความจงรักภักดีต่อควีนเอลิซาเบธอย่างมาก แม้ว่าปีนี้พระองค์ทรงไม่ได้เข้าร่วมงานดังกล่าวเนื่องจากปัญหาด้านพระพลานามัยของพระองค์

เอกราชของสกอตแลนด์
แม้ว่าราชวงศ์อังกฤษจะต้องสงวนท่าทีเป็นกลางทางการเมือง แต่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเผยมุมมองทางการเมืองของพระองค์ต่อประเทศที่ทรงปกครอง โดยในปี 1977 พระองค์มีพระราชดำรัสในงานเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบรอบ 25 ปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าที่จะมีการลงประชามติในการก่อตั้งรัฐสภาเอดินบะระว่า “บางทีการฉลองการครองราชย์ครั้งนี้คือเวลาที่จะเตือนพวกเราอีกครั้งถึงผลประโยชน์ที่สหราชอาณาจักรมีร่วมกัน”

อีกทั้งก่อนหน้าที่จะมีการลงประชามติในการประกาศเอกราชของสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักรในปี 2014 พระองค์ทรงแสดงพระประสงค์ให้ประชาชน “ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนในเรื่องอนาคต” ขณะที่นายเดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวว่า พระองค์ทรงส่งเสียงดีพระทัยเมื่อเขาโทรศัพท์แจ้งว่าสกอตแลนด์ปฏิเสธการเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร

REUTERS

รัฐสภาสกอตแลนด์

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเปิดรัฐสภาสกอตแลนด์ขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1999 ซึ่งทำให้สกอตแลนด์สามารถเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีและบัญญัติกฎหมายต่างๆ ได้

ขณะที่พระองค์ทรงเป็นที่ปรึกษาในเรื่องการประกาศเอกราชของสกอตแลนด์ นางนิโคลา สเตอร์เจียน มุขมนตรีของประเทศ กล่าวภายหลังการเสด็จสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ว่า สกอตแลนด์ “จงรักภักดี” ต่อพระองค์อย่างยิ่ง

REUTERS

ความรักที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีให้ต่อสกอตแลนด์ ถูกสะท้อนผ่านพระราชดำรัสที่ทรงมีต่อรัฐสภาสกอตแลนด์เมื่อปีที่แล้ว ที่ว่า “ฉันเคยพูดถึงความรักอันลึกซึ้งและผูกพันต่อประเทศอันมหัศจรรย์นี้” และ “ประชาชนคือผู้ที่ก่อสร้างประเทศ และมันก็มีอีกไม่กี่แห่งที่จะจริงยิ่งไปกว่าสกอตแลนด์อีกแล้ว”

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ยังตรัสถึง “ความรักอันลึกซึ้งและยั่งยืน” ที่พระองค์มีต่อสกอตแลนด์ ขณะระลึกถึง “ความทรงจำและความสุขมากมาย” ที่พระองค์มีร่วมกับเจ้าชายฟิลิป พระสวามีผู้ล่วงลับในดินแดนแห่งนี้

หนึ่งปีก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตในดินแดนอันเป็นที่รัก เพื่อกลับไปอยู่ร่วมกับพระสวามีผู้เป็นที่รักยิ่งของพระองค์ในท้ายที่สุด

AP
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image