ประวิตรกล่าวถ้อยแถลงเวทีผู้นำยูเอ็นด้านการศึกษา ชูไทยหนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ประวิตรกล่าวถ้อยแถลงเวทีผู้นำยูเอ็นด้านการศึกษา ชูไทยหนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ตามเวลาในสหรัฐ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา โดยขอบคุณนายอันโตนิอู กุแตเรส เลขาธิการสหประชาชาติ ที่จัดการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการศึกษาอย่างเป็นที่ประจักษ์

การประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีที่ผู้นำของแต่ละประเทศจะได้แสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 4 ในการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม รวมถึงการสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการศึกษามาโดยตลอด เนื่องจากเป็นพื้นฐานของการพัฒนากำลังคนและประเทศในภาพรวม โดยได้บรรจุการพัฒนา การศึกษาไว้ในแผนงานสำคัญๆ ของประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่ ผู้เรียน ผู้สอน และ ระบบการศึกษา ผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้การศึกษาได้รับการพัฒนา อย่างครอบคลุมในทุกมิติตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงสนับสนุนหัวข้อการดำเนินงานหลักที่สหประชาชาติได้นำเสนอในการพลิกโฉมการศึกษา เพื่อสร้างหลักประกันในการจัดการศึกษาในอนาคต ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อให้สามารถเป็นพลเมืองที่ดีของโลกต่อไป

ADVERTISMENT

ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยมุ่งมั่นในการสร้างหลักประกันการกลับเข้าสู่การเรียนอย่างปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษามาตรฐานและคุณภาพของระบบการศึกษา รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทุกฝ่าย ทั้งนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และผู้ปกครอง

ขณะเดียวกันในโลกปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจำเป็นต้องตระหนักว่าความรู้ และทักษะที่มอบให้แก่ผู้เรียนนั้นมีความจำเป็นต่อการทำงานในอนาคต รัฐบาลไทยจึงส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนในการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดรับกับความคาดหวังของนายจ้าง โดยผลักดันแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ผู้เรียนมีการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง และก้าวทันกระแสกาเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน

ประการสำคัญรัฐบาลได้ส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการลดภาระของผู้เรียน และเพิ่มขีดความสามารถให้แก่สถาบันการศึกษาโดยการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการส่งเสริม การลงทุนด้านการศึกษาที่เพียงพอ เท่าเทียม ยุติธรรม โปร่งใส และสอดคล้องกับกาเปลี่ยนแปลง

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือการพัฒนาวิชาชีพครู รัฐบาลไทยตระหนักดีว่าครู ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีบทบาทในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพลิกโฉมการศึกษา จึงมุ่งเน้นการพัฒนาครูให้สามารถใช้ทักษะด้านการสอนเชิงนวัตกรรมและมีความสร้างสรรค์ ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ครูสามารถดูแลห้องเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่หลากหลายได้

รัฐบาลไทยส่งเสริมการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อปวงชน และเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถใช้ชีวิตในโลกยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมั่นใจ ภายใต้ความเป็นศูนย์กลางของผู้เรียน รวมทั้งมุ่งเน้นการเข้าถึงการศึกษาออนไลน์อย่างครอบคลุม เสมอภาค โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านแพลตฟอร์มที่เปิดให้เข้าถึงได้โดยทั่วไป ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ที่มั่นคงปลอดภัย

สุดท้ายนี้ขอเน้นย้ำความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการทำงานร่วมมกับสหประชาชาติและประเทศสมาชิก เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและเตรียมเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมเพียงพอ ผ่านการพลิกโฉมการศึกษาภายใต้การขับเคลื่อนอย่างแข็งขันของท่านเลขาธิการสหประชาชาติ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง