สัมภาษณ์พิเศษ : เบื้องลึกเบื้องหลัง ยูเอ็นสดุดีในหลวง

REUTERS/Brendan McDermid

วีรชัย พลาศรัยวีรชัย พลาศรัย

เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

ช่วยเล่าถึงที่มาของประชุมสมัชชาสหประชาชาติวาระพิเศษเพื่อแสดงความอาลัยและสดุดีแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเดิมกำหนดว่าจะประชุม 15 นาที แต่พอประชุมจริงเหตุใดกลับยาวถึง 45 นาที

การประชุมในลักษณะนี้สามารถมีได้ ซึ่งขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะจัดให้มีหรือไม่ เพราะการประชุมในลักษณะนี้เคยมีมาก่อน ไม่ใช่ไม่เคยมีมา สำหรับการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากการหารือร่วมกันเป็นการภายในระหว่างสำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ สำนักงานของนายปีเตอร์ ทอมสัน ประธานสมัชชาสหประชาชาติ และสำนักงานของนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อหารูปแบบและวันที่เหมาะสม

Advertisement

ในส่วนของท่านประธานสมัชชาสหประชาชาติ ท่านดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม 77 เมื่อปี 2556 เคยเดินทางเยือนไทยหลายครั้ง มีความชื่นชมคนไทย ประเทศไทย โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการตามแนวพระราชดำริในไทยเป็นอย่างดี ขณะที่เลขาธิการสหประชาชาติเองก็พูดกับผมหลายครั้งว่า ประทับใจที่ได้เคยเข้าเฝ้าฯ และเขาถือว่าเป็นหนึ่งในโอกาสของชีวิตที่ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ส่วนหนึ่งคนเกาหลีใต้ทุกคนจะมีความประทับใจและชื่นชมไทยอยู่ก่อน เพราะในรัชสมัยของพระองค์ ไทยเคยส่งทหารไปช่วยเกาหลีใต้ ดังนั้นเขายินดีที่ได้มีส่วนร่วมในงานที่เกิดขึ้น

ขณะที่ประธานแต่ละกลุ่มภูมิภาคได้ติดต่อผมมาเป็นการส่วนตัวเพื่อหารือถึงแนวทางต่างๆ ซึ่งเป็นการประสานงานกันอย่างจริงจัง รวมถึงฝ่ายสหรัฐด้วย ส่วนที่แต่ละท่านจะพูดอย่างไรนั้น เราก็ไปกำหนดไม่ได้ ได้แต่แนะนำว่า หากอยากจะค้นหาอะไรให้ไปค้นได้จากที่ไหนสำหรับผู้ที่อาจจะไม่คุ้นเคย ขณะที่ในส่วนของท่านทูตซาแมนธา พาวเวอร์ ของสหรัฐนั้น โดยที่ได้พูดคุยและพบปะกันอยู่เสมอ ก็ได้ทราบว่าเขามีความสนใจในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอยู่แล้ว และมีความรู้เกี่ยวกับพระองค์พอสมควร ท่านก็ไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเองโดยที่ไม่ได้มีการพูดคุยหารือกับผมในแง่สาระเลย

สำหรับช่วงเวลาที่ได้หารือกัน ผมเห็นว่าวันที่เหมาะสมควรเป็นวันที่ 28 ตุลาคม เพราะครบ 15 วันที่เสด็จสวรรคต เดิมทียังนึกว่าจะไม่ได้ เพราะในวันเดียวกันนั้นที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติจะมีการเลือกตั้งสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติพอดี ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญมากเพราะมีการต่อสู้กันอย่างรุนแรง แต่สุดท้ายเขาก็เห็นชอบให้จัดในวันนั้น ซึ่งการประชุมเพื่อเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็เป็นการหารือที่ใช้เวลายาวนานมากอย่างที่คาดกัน

ก่อนหน้าการประชุมวันนั้น นายมานซูร์ อัยยาด อัล โอไทบีเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรคูเวตประจำสหประชาชาติ ซึ่งขึ้นพูดในฐานะผู้แทนกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก และทำการยกร่างคำกล่าวด้วยตนเอง ไม่ทราบว่าท่านไปได้ข่าวลือมาจากไหนว่าจะมีการเลื่อนการประชุมดังกล่าวออกไปเป็นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งท่านจะพ้นวาระการทำหน้าที่ประธานกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิกแล้ว ท่านได้ทำจดหมายมาถึงผมอย่างเป็นทางการ แสดงความเสียใจที่จะไม่ได้ขึ้นกล่าวเพราะมีการเลื่อนวันออกไป พร้อมกับแนบถ้อยแถลงที่ท่านเตรียมไว้มาให้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ผมก็ได้ทำหนังสือตอบไปอย่างเป็นทางการเช่นกันว่าไม่ได้มีการเลื่อนวันแต่อย่างใด

งานที่เกิดขึ้นเป็นความริเริ่มที่คิดและทำร่วมกัน แม้การประชุมแบบนี้มันเคยมีมา แต่ที่ผ่านมาจะไม่ได้ลงลึกหรือยาวขนาดนี้ ขณะที่ในทางปฏิบัติ ทุกคนทำอย่างพิเศษ ซึ่งแม้แต่เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติเองก็ยังบอกว่าไม่เคยเห็นอย่างนี้มานานแล้ว ดังนั้น หากจะบอกว่าพิเศษก็พิเศษอย่างยิ่ง

ในฐานะทูตไทยประจำยูเอ็น หลังฟังถ้อยแถลงของแต่ละประเทศแล้วรู้สึกอย่างไร

รู้สึกปลื้มใจ เพราะเราไม่ได้บอกให้เขาพูด หรือเป็นเรื่องที่คนไทยพูดกันเอง แต่คนอื่นพูดถึงพระองค์โดยที่เราไม่ได้ไปบังคับและคงไปบังคับไม่ได้ด้วย เขาพูดในสิ่งที่ดี มีคนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามผมว่า เราสรรเสริญในหลวงหรือทึกทักไปเองหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ชัดเจนว่าเราไม่ได้ทึกทัก ไม่อย่างนั้นผู้แทนแต่ละท่านคงขึ้นมาพูดกันแค่คนละ 1-2 นาที ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่นี่ทุกคนทำกันอย่างจริงๆ จังๆ

การประชุมครั้งนี้ก็พิเศษกว่าครั้งอื่นๆ เพราะไม่ได้ทำพอเป็นพิธี แต่ทำอย่างจริงจังและมีสาระ

 

โครงการความร่วมมือตามแนวพระราชดำริในประเทศเพื่อนบ้าน

ดนัย การพจน์ดนัย การพจน์

กงสุลใหญ่ไทย ณ สะหวันนะเขต

โครงการความร่วมมือตามแนวพระราชดำริในลาวโครงการแรกเกิดจากการที่ท่านไกสอน พมวิหาน ประธานประเทศลาว ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้จัดตั้งโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) ขึ้น ในปี 2535 หลังมีโอกาสเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน จ.สกลนคร

อันเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้เกิดความประทับใจ และอยากให้มีโครงการด้านการพัฒนาในลักษณะเดียวกันในลาว ปัจจุบันก็เข้าสู่ปีที่ 15 ของโครงการห้วยซอน-ห้วยซั้ว ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรแบบครบวงจร

จากนั้นก็มีโครงการต่างๆ ตามมาในหลายแขวง อาทิ โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้า (หลัก 67) ที่จัดตั้งขึ้นเพราะเห็นว่ามีเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตหลังสงคราม ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มารับช่วงต่อ โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้สอนแต่เพียงด้านวิชาการ แต่เน้นให้เด็กมีความรู้ในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ การปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลา ซึ่งถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมาก โรงเรียนมีชื่อเสียงอยู่ในระดับแนวหน้า กระทั่งปัจจุบันมีผู้สนใจส่งบุตรหลานเข้าเรียนเป็นจำนวนมากจนถึงกับต้องแย่งกันเข้า

โครงการพัฒนาต่างๆ ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข ไปจนถึงการเกษตร มุ่งเน้นการยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรเป็นสำคัญ เมื่อเสด็จฯไปที่ที่มีอากาศดี ก็เห็นว่าน่าจะส่งเสริมให้มีรายได้มากขึ้น ด้วยการปลูกพืชเมืองหนาวที่ปากซอง พระราชทานเมล็ดพันธุ์พืช ฯลฯ ในโครงการพัฒนาด้านกสิกรรมบนพื้นที่สูง และโครงการแปลงสาธิตเกษตรแบบผสมผสานที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยจำปาสัก ขณะที่ในแขวงอุดมไซทางเหนือ ก็มีโครงการช่วยเหลือด้านสาธารณสุข พระราชทานรถพยาบาลและอุปกรณ์การแพทย์ ขณะที่แขวงสะหวันนะเขต ก็มีศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรม-ป่าไม้ ที่หนองเต่า ซึ่งเริ่มมาเพียงไม่กี่ปีแต่ก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน โดยไทยจะส่งมอบโครงการให้กับรัฐบาลลาวเป็นผู้ดูแลทั้งหมดต่อไป

ปัจจุบันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนลาวทุกปี นอกจากเพื่อเจริญพระราชไมตรีแล้ว ท่านยังทรงทำโครงการที่ได้ประโยชน์ระยะยาว ตกแก่ชาวบ้านจริงๆ บนพื้นฐานของความร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเวลาที่พระราชทานความช่วยเหลือ พร้อมกับยกย่องให้เกียรติฝ่ายลาว รัฐบาลลาวก็รักเคารพพระองค์ท่านเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image