‘สวานเต เพโบ’ คว้าโนเบลสาขาการแพทย์ ค้นพบจีโนมบรรพบุรุษมนุษย์

แฟ้มภาพ นายสวานเต เพโบ นักบรรพชีวินวิทยาชาวสวีเดน (เอเอฟพี)

‘สวานเต เพโบ’ คว้าโนเบลสาขาการแพทย์ ค้นพบจีโนมบรรพบุรุษมนุษย์

คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ประกาศผลรางวัลโนเบลรางวัลแรกประจำปี 2022 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งเริ่มขึ้นด้วยรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลคือนายสวานเต เพโบ นักบรรพชีวินวิทยาชาวสวีเดน ที่สามารถค้นพบจีโนมของมนุษย์โฮมินิน เดนิโซแวน ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วและไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อนหน้านี้ ซึ่งช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์

คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุว่า นายเพโบประสบความสำเร็จในการทำบางสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เมื่อเขาสามารถจัดลำดับจีโนมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลคนแรก และพบว่าโฮโมเซเปียนได้ผสมข้ามสายพันธุ์กับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล การเปิดเผยความแตกต่างทางพันธุกรรมทำให้เห็นความแตกต่างของมนุษย์ในยุคปัจจุบันกับมนุษย์โฮมินินที่สูญพันธุ์ไปแล้ว การค้นพบของเขาเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาว่าอะไรที่ทำให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

หลักฐานสำคัญของการค้นพบของเพโบปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี 2010 หลังจากที่เพโบได้บุกเบิกวิธีสกัด เรียงลำดับ และวิเคราะห์ดีเอ็นเอโบราณจากกระดูกมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลหรือมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเขาพบว่ามีการถ่ายทอดยีนจากโฮมินินที่สูญพันธุ์ไปแล้วไปยังโฮโมเซเปียน

คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุว่า ต้องขอบคุณผลงานของเขาที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถที่จะเปรียบเทียบจีโนมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลกับบันทึกพันธุกรรมของมนุษย์ในปัจจุบันได้ ขณะที่การถ่ายทอดยีนจากมนุษย์สมัยโบราณสู่มนุษย์ยุคปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องทางสรีรวิทยา อาทิ มันส่งผลต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของเราต่อการติดเชื้อ

Advertisement

ทั้งนี้ เพโบ ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 67 ปี จะได้รับเงินรางวัล 10 ล้านโครนสวีเดน หรือราว 34.25 ล้านบาท ในพิธีมอบรางวัลที่จะจัดขึ้นในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image