คอลัมน์ Think Tank: ‘ข่าวปลอม’ กุญแจสู่ชัยชนะของทรัมป์

AFP PHOTO / John GURZINSKI

จากการที่สื่อกระแสหลัก หรือ “เมนสตรีม มีเดีย” เรียกได้ว่าแทบจะทุกสำนักเป็นปฏิบักษ์ต่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผู้นี้ต้องระดมผู้สนับสนุนในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ด้วยการส่งสารของตนผ่านทางทวิตเตอร์ และเครือข่ายสื่อทางเลือก

นักวิเคราะห์ระบุว่า ความสามารถของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐในการฝ่าวงล้อมสื่อกระแสหลักช่องทางต่างๆ เพื่อส่งสารไปยังผู้รับและขับเคลื่อนผู้สนับสนุนของตน เป็นปัจจัยสำคัญในชัยชนะของเขา

“ทรัมป์มีวิธีการใช้ทวิตเตอร์ที่เรียกได้ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่างๆ ได้ เนื่องจากเขามีผู้ติดตามจำนวนมาก” อลัน โรเซนบลัตต์ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ดิจิทัลแห่งสำนักวิจัยเลกรีเสิร์ชและเทอร์เนอร์ 4 ดี บอก

มหาเศรษฐีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รักษาแรงหนุนไว้ได้แม้ว่าองค์กรสื่อกระแสหลักยักษ์ใหญ่หลายแห่งจะขุดคุ้ยเรื่องน่าอับอายในอดีตของเขามาเผยแพร่ครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ประวัติทางการเงินและความประพฤติที่ไม่เหมาะสมทางเพศ

Advertisement

สื่อกระแสหลักยังตรวจสอบทรัมป์อย่างเข้มข้น ไปไกลจนถึงขั้นเรียกเขาว่า “คนโกหก” แต่ทรัมป์สามารถโต้ตอบเรื่องนี้ได้อย่างมั่นคงโดยใช้โซเชียลมีเดียและสื่อทางเลือกแนวคิดฝ่ายขวาหรืออนุรักษนิยมที่ยังคงเป็นมิตรกับตัวแทนพรรครีพับลิกัน

เครือข่ายผู้สนับสนุนบนโซเชียลมีเดียนี่เอง ที่คอยแพร่กระจายสารของทรัมป์ ไม่เพียงตอกย้ำวิสัยทัศน์ของเขาเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ตอบโต้และแก้ต่างสารจากฝ่ายต่อต้านทรัมป์อย่างแข็งขัน

“นี่เรียกได้ว่าเป็น ‘ดิจิทัล บูลลีอิ้ง’ หรือการระรานทางออนไลน์อย่างเป็นระบบ” โรเซนบลัตต์บอก “พวกเขาพยายามพุ่งเป้าเล่นงานทวิตเตอร์ของฝั่งเดโมแครตหัวก้าวหน้าและรุมถล่มอย่างรุนแรงเพื่อพยายามยั่วยุให้เกิดการตอบโต้ที่ไม่เหมาะสม”

Advertisement

กราเบรียล คาห์น อดีตผู้สื่อข่าวและศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า สารจากกลุ่มสนับสนุนทรัมป์ช่วยให้เขาเอาตัวรอดมาได้จากข่าวในทางลบ และช่วยให้ทรัมป์สามารถสร้างเรื่องราวอีกอย่างขึ้นมา ที่เรียกว่าเป็นความจริงทางเลือก

“ด้วยวิธีการนี้คุณสามารถทำให้เรื่องโกหกและความเชื่อผิดๆ ผ่านสื่อออกมาและสร้างผลกระทบใหญ่หลวงได้” คาห์นบอก

สื่อทางเลือกแนวคิดฝ่ายขวาเหล่านี้ อาทิ ไบรต์บาร์ตนิวส์ ที่สตีเฟน แบนนอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) รับหน้าที่เป็นประธานทีมหาเสียงของทรัมป์ด้วย

ผลที่เกิดขึ้นคือ “แฟกต์เช็ก” หรือการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสื่อกระแสหลักที่เปิดเผยให้เห็นถึงการพูดเกินจริงและความคิดและความเชื่อที่ผิดๆ ของทรัมป์ มีผลน้อยลง

นอกจากนี้ กลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์จำนวนมากยังใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ในการเผยแพร่ข่าวสารเป็นการโต้ตอบสื่อกระแสหลัก ซึ่งข่าวเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไม่จริง

แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ด้วยความเชื่อมั่นในสื่อกระแสหลักที่น้อยลงและรูปแบบตามธรรมชาติของเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว ทำให้คนจำนวนมากเชื่อถือข่าวไม่จริงได้อย่างง่ายดาย ซึ่งแม็กซ์ รีด บรรณาธิการนิตยสารนิวยอร์ก แม็กกาซีนเห็นด้วยว่า

การแพร่กระจายของข่าวปลอมเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญในชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image