ทูตนอกแถว ฉะน่าอับอาย ไทย ‘งดออกเสียง’ ประณามรัสเซีย หากเอาใจยิ่งน่าอเนจอนาถ

ทูตนอกแถว ฉะน่าอับอาย ไทย ‘งดออกเสียง’ ประณามรัสเซียผนวกดินแดน หากเอาใจยิ่งน่าอเนจอนาถ

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม นายรัศม์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจ ทูตนอกแถว อดีตเอกอัครราชทูตไทย ระบุถึงกรณีที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก จัดลงมติประณามรัสเซียต่อกรณีการผนวก 4 ดินแดนยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่น โดยมี 143 ประเทศ จาก 193 ชาติสมาชิกที่ลงมติสนับสนุนข้อมติดังกล่าว

ขณะที่ “ไทย” อยู่ในกลุ่มประเทศที่ “งดออกเสียง” 35 ประเทศ ร่วมกับลาว เวียดนาม จีน อินเดีย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายรัศม์ระบุว่า น่าอับอาย ไร้ความรับผิดชอบ และตั้งอยู่บนความขลาดเขลา

Advertisement

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้จัดลงมติประณามรัสเซียต่อกรณีการผนวก 4 ดินแดนยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย โดยปรากฏมี 143 ประเทศ จาก 193 ชาติสมาชิกที่ลงมติสนับสนุนข้อมติดังกล่าว ขณะที่ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่งดออกเสียง 35 ประเทศ

จึงมีคำถามตามมาถึงท่าทีดังกล่าวของทางการไทย โดยเฉพาะทางกระทรวงการต่างประเทศถึงความเหมาะสม

เรามาดูคำอธิบายที่ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ให้ไว้กัน :

Advertisement

1.ในฐานะประเทศขนาดเล็กที่มีอำนาจธิปไตย ประเทศไทยยึดถือกฎบัตรบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นสำคัญเสมือนแนวป้องกันสุดท้าย ไทยยังยึดถือโดยชัดแจ้งต่อหลักการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐต่างๆ ตามหลักของกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ
ประเทศไทยยึดถือนโยบายมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องว่าจะคัดค้านการข่มขู่คุกคามหรือใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐใดรัฐหนึ่งและการใช้กำลังผนวกดินแดนของรัฐอื่นโดยไม่ได้ถูกยั่วยุ

2.อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเลือกที่จะงดออกเสียงลงคะแนนต่อข้อมติซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศและมีสถานการณ์ขึ้นลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการด้อยค่าต่อโอกาสที่การทูตจะยังผลให้เกิดการเจรจาข้อมติที่สันติและปฏิบัติได้จริงเพื่อแก้ไขความขัดแย้งซึ่งอาจผลักให้โลกไปสู่ความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์และการพังทลายของเศรษฐกิจโลก

3.ประเทศไทยมีความห่วงกังวลอย่างแท้จริงต่อการแบ่งแยกขั้วทางการเมืองที่สูงขึ้นในหลักการระหว่างประเทศซึ่งทำให้เกิดผลในทางลบต่อวิธีการและแนวทางการยุติสงคราม การประณามนั้นยั่วยุให้เกิดความขัดขืนและลดทอนโอกาสของการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่ง

ก็ต้องขอบอกว่า ประการแรก ข้อสองของคำอธิบายนี้มันอ่านไม่รู้เรื่อง มันไม่ได้มีตรรกะเหตุผลอะไรที่พอเป็นที่เข้าใจได้ และเมื่อรวมกับข้อสาม สิ่งที่พูดไว้ในข้อที่หนึ่งมันก็หมดซึ่งความหมายอย่างสิ้นเชิงไปโดยปริยาย โดยมันแปลได้ว่า บัดนี้ไทยเราไม่ได้เชื่อถือ ยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการเคารพหลักอธิปไตยและบรรณภาพแห่งดินแดนแล้ว
เพราะสิ่งที่พูดมามันขัดกันเองไปหมดจนไม่เหลือน้ำหนักความน่าเชื่อถือใดๆ

ปกติการลงมติเช่นนี้จะต้องดูว่าผลประโยชน์แห่งชาติเราอยู่ที่ไหน และเราจะปกป้องหรือส่งเสริมมันอย่างไร เราจึงลงมติตามนั้น ถามว่าในเรื่องนี้ ผลประโยชน์แห่งชาติเราอยู่ที่ใดแน่?

เป็นหลักการที่ไทยยึดถือมาโดยตลอด ในฐานะที่เราเป็นประเทศเล็ก ในการยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติ โดยเฉพาะการคัดค้านการใช้กำลังเข้ารุกรานและยึดครองดินแดนประเทศอื่น ซึ่งเรื่องนี้เมื่อกว่าสี่สิบมาแล้ว ไทยก็เคยใช้หลักการเดียวกันนี้ร่วมกับอาเซียน ในการรณรงค์ให้โลกประณามและคว่ำบาตรเวียดนามจากการรุกรานกัมพูชา ซึ่งกลายมาเป็นภัยคุกคามโดยตรงของไทยจากกองกำลังนับแสนของเวียดนามในกัมพูชาที่มาประชิดชายแดนไทย

จากการรณรงค์ทางการทางการทูตของไทยและอาเซียนโดยอาศัยหลักการนี้ ทำให้เราได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากโลก และทำให้เวียดนามต้องยอมถอนทหารออกจากกัมพูชาในที่สุด

การงดออกเสียงครั้งนี้ของไทย จึงไม่ต่างอะไรกับการกลืนน้ำลายตนเองอย่างไร้ศักดิ์ศรี และในอีกแง่ก็เหมือนกับการเนรคุณประชาคมโลกอย่างหนึ่ง ที่พอตัวเองมีภัยคุกคามก็ไปขอให้โลกช่วยเหลือ แต่ครั้นพอคนอื่นถูกรุกราน เรากลับเพิกเฉย

มันทั้งน่าอายและขลาดเขลา ไร้ซึ่งความรับผิดชอบของไทยบนเวทีระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ เรามาดูว่าการลงคะแนนในแบบทำตัวเป็นกลาง (แบบโง่ๆ) นี้ ในแง่ผลประโยชน์อื่นไทยได้เสียอะไรบ้าง?

สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดจากการลงคะแนนครั้งนี้ของไทยคือมันจะกลายเป็นหลักฐานบันทึกถึงการยอมรับโดยปริยายของไทยว่าการผนวกดินแดนโดยประเทศอื่นเป็นสิ่งที่ทำได้ ซึ่งมันหมายถึงว่าวันใดวันหนึ่งในอนาคต สมมุติว่ามีประเทศติดกับเราเขามาผนวกจังหวัดดินแดนของไทย ที่เขาอ้างว่าอยากแยกตัวออกจากไทย

เราจะว่าอย่างไร หรือจะขอให้ใครมาช่วยสนับสนุนเรา เพราะเราเองก็เคยยอมรับว่าสิ่งเช่นนี้ทำได้? ถามว่านี่ถือเป็นความผิดพลาดที่นำความเสี่ยงมาให้ประเทศชาติหรือไม่?

แล้วผลประโยชน์อื่นๆ ที่ไทยจะได้จากการนี้ล่ะมีอะไรอีกไหม?

คือถ้าจะเอาใจรัสเซียในฐานะความเป็นมหาอำนาจ ก็ต้องบอกว่ากระทรวงการต่างประเทศทุกวันนี้ดูเหมือนไม่ทันเกม อ่านแนวโน้มโลกไม่ออก เพราะในแง่เศรษฐกิจนั้น รัสเซียแทบไม่สามารถให้ผลประโยชน์ใดๆ กับไทยได้มากนัก โดยขนาดของเศรษฐกิจของรัสเซียเองนั้น เล็กกว่าเกาหลีใต้ด้วยซ้ำ และจากการถูกคว่ำบาตรก็ยิ่งมีแนวโน้มจะหดลงไปอีก จนแทบกลายเป็นแค่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมันเทียบไม่ได้เลยกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลที่ไทยมีกับกลุ่มโลกเสรีประชาธิปไตย

ส่วนในแง่ความมั่นคง ถึงตอนนี้ลำพังการรบในยูเครน รัสเซียยังเอาตัวแทบไม่รอด โดยสถานะความเป็นมหาอำนาจทางทหารของรัสเซียนั้น กล่าวได้ว่าแทบหมดลงแล้ว

ในแง่ความมั่นคง ถึงตอนนี้ แม้กลุ่มประเทศเอเชียกลาง อย่างคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ฯลฯ ที่เคยเป็นพันธมิตรใกล้ชิด ต่างล้วนตีตัวออกห่างด้วยกันทั้งสิ้น

แล้วสรุปเราไปลงคะแนนแบบนี้เพื่ออะไร? ที่ไม่สนองผลประโยชน์แห่งชาติสักอย่าง มองไปทางใดเห็นแต่ผลเสีย? ทำไมต้องเอาใจรัสเซียอีก?

ดูไปดูมา ก็ต้องขอเดาว่าคงจะต้องการเอาใจรัสเซียเพียงเพื่ออยากง้อให้ ปธน.ปูตินมาร่วมประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯในเดือนหน้า ซึ่งถ้าเป็นเหตุผลนี้จริงก็ยิ่งน่าอเนจอนาถใจหนักขึ้นไปอีก ที่เอาผลประโยชน์ของชาติมาแลกกับเพียงเพื่อให้รัฐบาลได้หน้าแบบกลวงๆ

และอย่างที่บอกว่ารัสเซียนั้นในความเป็นจริงแทบจะหมดสถานะความเป็นมหาอำนาจโลกไปแล้ว จะเหลือก็แค่ในแง่ psychology ความฝังใจเดิมๆ ที่ไม่ได้อยู่บนข้อเท็จจริง และตัวรัสเซียที่มีพฤติกรรมไม่ยอมรับกฎกติกาโลกนั้น จะสามารถเกื้อกูลอะไรภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ รวมทั้งเอเปคได้?

ผมคิดว่าการลงคะแนนครั้งนี้ของไทยเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและสร้างความน่าอับอายให้ประเทศชาติยิ่ง โดยไม่ได้ตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติเลยแม้แต่น้อย

สำหรับคนระดับกำหนดนโยบายต่างประเทศ ผมรู้มานานแล้วว่าเขาไม่ได้มีสำนึกยางอายใดๆ ในหน้าที่ของตน

แต่ก็หวังว่าเหล่าข้าราชการที่มีส่วนในการนี้ ไม่ว่าจะที่กรมองค์การระหว่างประเทศ หรือจะที่ประจำที่นิวยอร์ก จะพอรู้ตัวว่าได้สร้างความน่าอับอายให้สถาบันนี้ รวมทั้งได้มีส่วนร่วมย่ำยีผลประโยชน์ของประเทศชาติบ้างสักนิดนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image