คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ประชาธิปไตยดิจิทัล

หลังการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์บางอย่างที่น่าสนใจไม่น้อยขึ้นตามมา หนึ่งก็คือ อัลฟาเบท อิงค์. เจ้าของ กูเกิล เสิร์ชเอ็นจินยอดนิยมของโลกประกาศเพิ่มฟีเจอร์สำคัญประการหนึ่งเข้าไปในผลสืบค้นของตนเอง นั่นคือฟีเจอร์ “แฟคต์เช็ค” ที่จะติดอยู่กับผลการสืบค้นของตนเองทุกลำดับ เพื่อแสดงให้เห็นถึง “ระดับ” ของความถูกต้องตามข้อเท็จจริง ของผลการสืบค้นลำดับนั้นๆ

ไล่เรี่ยกัน มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง เฟซบุ๊ก เว็บไซต์เครือข่ายสังคมยอดนิยมของโลกอีกราย ก็ออกแถลงการณ์เน้นย้ำว่า ทางเฟซบุ๊กกำลังเร่งหาวิธีการจัดการกับ “ข่าวเท็จ” ที่ปรากฏอยู่ในฟีเจอร์ นิวส์ฟีด ของตัวเองให้ได้และให้เร็วที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าก็คือเรื่องเบื้องหลังอันเป็นที่มาของความเคลื่อนไหวดังกล่าว

กูเกิล กับ เฟซบุ๊ก ต้องออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าวเพราะถูกถล่มหนักมากว่า มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ด้วยการกระจายข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือข้อมูลที่ปราศจากความจริง “โดยปราศจากความรับผิดชอบ”

Advertisement

ภายใต้ข้อกล่าวหาดังกล่าว ก่อให้เกิดคำถามตามมาใน 2 ประเด็น ประเด็นแรกก็คือ กูเกิลหรือเฟซบุ๊ก มีอิทธิพลทางการเมือง ถึงขนาดชี้ขาดการเลือกตั้งได้จริงหรือ? ประเด็นถัดมาก็คือ ทำไม กูเกิลหรือเฟซบุ๊ก ต้อง “รับผิดชอบ” หรือ “แสดงความรับผิดชอบ” ในเนื้อหาที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ทำขึ้นมาด้วย?

ในโลกที่ทุกอย่างกำลังอยู่ในกระบวนการถูกทำให้เป็นดิจิทัล หรืออย่างที่ฝรั่งเรียกว่า “ดิจิทัลไลเซชั่น” อย่างทุกวันนี้ ทุกๆ คน ทุกๆ กลุ่ม ตั้งแต่อุตสาหกรรมเรื่อยไปจนถึงทางด้านการค้า จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับกระบวนการดังกล่าวหรือไม่ก็ให้รู้เท่าทันกระบวนการดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้ทุกอย่างพลิกคว่ำคะมำหงาย ใช้หัวเดินต่างเท้า เอาตัวรอดไปวัน-วัน

การเมืองก็เช่นเดียวกัน กระบวนการดิจิทัลไลเซชั่นทำให้ทุกอย่างผันผวน เปลี่ยนแปลง พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่างฤดูกาลรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

Advertisement

เพียงแต่ว่ามีคนจำกัดเพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้น ที่ให้ความสนใจเมื่อเทคโนโลยีใหม่เข้าไปก่อกวนหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับ “ภูมิทัศน์ทางการเมือง” น้อยกว่าการให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่เทคโนโลยีเดียวกันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับระบบและระเบียบทางเศรษฐกิจมากมายนัก

คำถามก็คือ เทคโนโลยีที่ไร้ชีวิตอย่าง เฟซบุ๊กหรือกูเกิล สามารถส่งอิทธิพลที่เรามองไม่เห็น สร้างโทสาคติหรือฉันทาคติทางการเมืองได้จริงหรือ? และสามารถส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ของการเลือกตั้งได้เลยหรือ? กูเกิลและเฟซบุ๊ก สามารถสร้างความได้เปรียบแบบ “ไม่เป็นธรรม” กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในทางการเมืองได้หรือ?

พิเคราะห์จากความเคลื่อนไหวของกูเกิลและเฟซบุ๊กที่พูดถึงข้างต้นนี้ คำตอบก็คือ ได้ ได้ และ ได้ ครับ!

ความเป็นจริงประการหนึ่งก็คือทั้ง เฟซบุ๊ก และ กูเกิล เป็น “สื่อกลาง” ของ “มหาชน” ของโลกในยุค “ดิจิตอลไลเซชั่น” นี้ เฟซบุ๊ก มีผู้ใช้งานหรือยูสเซอร์อยู่ราว 1,800 ล้านคนทั่วโลก กูเกิลยิ่งแล้วเข้าไปใหญ่ โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละวันมีผู้เข้าไปใช้งานเสิร์ชเอ็นจินของกูเกิลราว 3,500 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 90 เปอร์เซ็นต์ของเสิร์ชเอ็นจินทั้งหมดที่มีอยู่ในเวลานี้

ในแต่ละปี มีคนเข้าไปใช้งานกูเกิลเพื่อค้นหาอย่างใดอย่างหนึ่งมากถึง 1.2 ล้านล้านคน!

ในเมืองไทย ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาหมาดๆ แสดงให้เห็นว่า คนไทย 41 ล้านคนใช้งานเฟซบุ๊ก คิดเป็นอันดับ 8 ของโลกตามสัดส่วนต่อจำนวนประชากร หรือพูดง่ายๆว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยทั้งประเทศมีเฟซบุ๊กไว้ใช้งาน

ทั้งเฟซบุ๊กและกูเกิล อุปมาได้เสมือนเป็น “ทวารบาล” แห่งยุคดิจิตอล เป็นคนคอยเปิด-ปิดประตูให้เราได้มองผ่านออกไปสู่โลกดิจิตอลอันไพศาล ดังนั้นจึงมีอิทธิพลมหาศาลอย่างไม่เคยมีมาก่อนต่อผู้ใช้งานทุกคน ตัวอย่างง่ายๆก็คือ ผลกระทบมหาศาลที่เกิดขึ้นกับ “ยอดขาย” ของผลิตภัณฑ์สักยี่ห้อที่ถูกเลือกขึ้นมาเป็นผลสืบค้นอันดับ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์เดียวกันต่างยี่ห้อที่ถูกกำหนดให้อยู่ในลำดับที่ 40 ของผลการสืบค้น เป็นต้น

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก็คือ ด้วยความสามารถในการเข้าถึงผู้คนจำนวนมหาศาลดังกล่าว ทำให้ข้อมูลทุกๆอย่างเกี่ยวกับผู้ใช้งาน “มีค่า” คุณค่าของข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่เฟซบุ๊กและกูเกิล “รู้จัก” ตัวเราว่า เราเป็นใคร? ชายหรือหญิง อายุเท่าใด ชื่นชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อยู่ที่ใด เมืองไหน ประเทศไหน ฯลฯ

ทุกครั้งที่เราลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งาน ผ่านแอนดรอยด์ หรือผ่านกูเกิลพลัส หรือผ่านเฟซบุ๊ก ฯลฯ ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ถักทอเป็น “ตัวตน” หนึ่งของเราในโลกดิจิตอล

ข้อมูลดังกล่าวมีค่ามหาศาลสำหรับองค์กรธุรกิจที่เป็น “ลูกค้า” ของกูเกิลหรือเฟซบุ๊ก ที่ต้องการเผยแพร่สินค้าหรือบริการของตนสำหรับ “กลุ่มเป้าหมาย” ที่ต้องการ

ประเด็นของผมก็คือ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า นักการเมืองและพรรคการเมือง ก็ถือเป็น “ลูกค้า” ของกูเกิลและเฟซบุ๊ก?

ในข้อเขียนของ มาร์เซล โรเซนบัค แห่ง แดร์ สปีเกล เมื่อไม่นานมานี้ี้ให้เห็นว่า อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี “เป็นกังวล” มากกับอิทธิพลของสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฟซบุ๊กและ กูเกิล สืบเนื่องจาก เยอรมนีกำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งคาดหมายกันว่าจะเกิดขึ้นในช่วงราวปลายปี 2017 ที่กำลังจะมาถึง

โรเซนบัค ชี้ให้เห็นว่า กูเกิลและเฟซบุ๊ก ไม่เพียงยอมรับว่า แพลทฟอร์มออนไลน์ของตนมีอิทธิพล “อย่างมีนัยสำคัญ” ในการสร้างความตระหนักรู้ทางการเมืองได้จริงเท่านั้น ยัง “ทำการตลาด” เรื่องนี้อย่างเปิดเผย โดยยึดถือว่า รายได้โฆษณาจากพรรคการเมืองและนักการเมืองต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของ “โมเดลธุรกิจ” ของตน

ไม่เฉพาะเท่านั้น ทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊กต่างพากัน “พุ่งเป้า” ไปที่ผู้นำทางการเมือง เพื่อให้เลือกใช้งานรูปแบบของตนเพื่องานทางการเมือง

ตัวอย่างเช่น เฟซบุ๊ก ไม่เพียงจัด “เวิร์กช็อปพิเศษ” สำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นในกรุงเบอร์ลินเท่านั้น ยังตีพิมพ์ “ไกด์บุ๊ก” แนะแนวทางสำหรับนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นมาเผยแพร่ เพื่ออธิบายถึงวิธีการ “รณรงค์ทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊ก” โดยใช้ “กรณีศึกษา” เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการใช้เฟซบุ๊กเพื่อสื่อสารไปยัง “กลุ่มที่มีความสนใจทางการเมืองจำเพาะ”

กรณีตัวอย่างที่ยกขึ้นมาก็คือ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กพบว่าในเยอรมนี มีคน 44,000 คน อายุระหว่าง 25-50 ปี สนใจในประเด็นเรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ” เฟซบุ๊กพร้อมที่จะแสดงโฆษณาของพรรคการเมืองหรือพรรคการเมืองให้กับคนเหล่านั้น “บางส่วน”, “ส่วนใหญ่” หรือ “ทั้งหมด” ก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับ “งบประมาณโฆษณา”

นอกจากนั้น นักการเมืองยังสามารถ “เจาะจง” แสดงโฆษณาจำเพาะไปยังคนที่ “ไลค์” เพจของตน หรือคนที่เป็น “เฟรนด์” ของตน หรือจะเลือกให้ส่ง “ข้อความ” ใดๆไปยังผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้งหมดในช่วงอายุใดช่วงอายุหนึ่งตัวอย่างเช่น กลุ่มคนที่เพิ่งมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ก็ได้อีกเหมือนกัน

ไกด์บุ๊กของเฟซบุ๊กอ้างว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 ของพรรคอนุรักษนิยมในประเทศอังกฤษ คือตัวอย่างของการใช้งานเฟซบุ๊กเพื่อการนี้ และยังอ้างด้วยว่า เฟซบุ๊กมี “บทบาทในการชี้ขาด” ผลการเลือกตั้งด้วยขีดความสามารถในการเข้าถึง “กลุ่มเป้าหมาย” เพื่อสื่อสารในสิ่งที่คนกลุ่มนั้น “ใส่ใจ สนใจ” เป็นต้น

ถามว่า แล้วอย่างนี้เป็นปัญหาตรงไหนมิทราบ? มันต่างอะไรกันกับการโฆษณาทางหน้าหนังสือพิมพ์หรือทางทีวี?

เพียงแต่เปลี่ยนการโฆษณานักการเมือง พรรคการเมืองหรือนโยบายทางการเมืองมาอยู่ในรูปดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพกว่า เจาะจงมากกว่าเท่านั้น?

ข้อกล่าวอ้างของทั้งทางเฟซบุ๊กและกูเกิลคล้ายๆ กันก็คือ “ความเป็นกลางทางการเมือง”

เชอร์ริล แซนด์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (ซีโอโอ) ของเฟซบุ๊กบอกเมื่อปี 2014 ว่า “เฟซบุ๊กไม่เคยพยายามเข้าควบคุมการเลือกตั้ง” ส่วนกูเกิล อ้างว่า ไม่เคยปรับแต่งผลการสืบค้นเพื่อบังคับให้เกิดผลเลือกตั้งในทางหนึ่งทางใด “ถ้าเราออกห่างจากหลักการที่ว่านี้ ความไว้วางใจต่อบริษัทของเราก็จะเสื่อมเสียไป”

ปัญหาก็คือ เริ่มมีนักวิชาการบางส่วนไม่เชื่อใน “ความเป็นกลาง” ที่ว่านั้น และเริ่มพูดถึง “การบิดเบือนผลการสืบค้น” เพื่อแสดงผลของทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊ก เพื่อแสดงต่อผู้ใช้ของตนเอง ทั้งในแง่ของการ “จงใจบิดเบือน” และการ “ไม่สามารถควบคุม” ให้ดำรงความเป็นกลางเอาไว้ได้

นักวิชาการบางรายถึงกับแสดงความกังวลว่า “มีโอกาสเป็นไปได้” ที่เครือข่ายสื่อสังคมอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิลนั้นจะกลายสภาพเป็น “นักการเมืองซ่อนเร้น” หรือ “ฮิดเดน โพลิติคอล แอคเตอร์” ซึ่งน่ากังวลมากยิ่งขึ้นไปอีกจากข้อที่อาจเป็นไปได้ว่า เฟซบุ๊กหรือกูเกิล ไม่เพียงใช้อิทธิพลในฐานะนักการเมืองแฝงเร้นที่ว่านั้น “เมค มันนี” เท่านั้น แต่ยังเพื่อเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งทั้งหมดให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ

ข้อพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ใจและความเป็นกลางทางการเมืองของทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊กนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะทั้งสองบริษัทยึดถือ “อัลกอริธึ่ม” ที่ใช้ในการสืบค้น (และทำหน้าที่เปิดประตูให้ผู้ใช้) เป็น “ความลับทางธุรกิจ” สูงสุด

เฟซบุ๊กรู้จักผู้ใช้ของตนเอง “บางส่วน” ดีมากๆ จนสามารถบอกได้ว่าชัดเจนยิ่งว่า มีความโน้มเอียงทางการเมืองไปในทางใด คุณลักษณะอื่นๆ อาทิ อายุ, เพื่อน, สถานที่อยู่, เพจที่ชอบเข้า ฯลฯ ล้วนช่วยให้เฟซบุ๊กสามารถ “จัดกลุ่มการเมือง” สำหรับผู้ใช้ของตนได้ อย่างเช่นที่จัดหมวดหมู่ผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหรัฐอเมริกาเป็น “เสรีนิยม”, “เป็นกลาง” และ “อนุรักษ์นิยม” อย่างเปิดเผยเป็นต้น

นักวิชาการบางคนเชื่อและเป็นกังวลว่า เฟซบุ๊ก อาจสามารถ “บงการ” การเลือกตั้งได้ด้วยการจัดการกระตุ้นหรือขับเคลื่อนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งบางกลุ่มเป็นการเฉพาะ “โดยเจตนา” ตัวอย่างเช่น เฟซบุ๊กเคยส่งคำเตือนไปยังผู้ใช้ของตนเพื่อเตือนให้เดินทางไปลงคะแนน เตือนให้ไปใช้สิทธิ์ และมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย

แต่ถ้าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เฟซบุ๊กส่งคำเตือนนั้นไปยังกลุ่มผู้มีสิทธิกลุ่มหนึ่งซึ่งเมื่อพิเคราะห์จากฐานข้อมูลแล้วจะลงคะแนนไปในทางที่แน่ชัดทางหนึ่งเท่านั้น จะเกิดอะไรขึ้นตามมา?

และถ้าเฟซบุ๊กเริ่มขับเคลื่อนแค่จำเพาะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่อยู่ในขบวนการทางการเมืองจำเพาะเพียงขบวนการเดียว อะไรจะเกิดขึ้น?

ในสหรัฐอเมริกา มีผลงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผลการสืบค้นของกูเกิลนั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง “ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร” โดยพบว่า ผลการสืบค้นของกูเกิลมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจไปในทางเดียวกันของคนที่ยังไม่ตัดสินใจเหล่านี้สูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจทั้งหมด

คำถามก็คือ ถ้ากูเกิลเจตนาบิดเบือนหรือบงการผลการสืบค้นของตนเองเพื่อการนี้ อะไรจะเกิดขึ้น?

แล้วใครจะไปล่วงรู้?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image