ยูเอ็นคาด ปชก.โลก แตะ 8 พันล้านคน 15 พ.ย.นี้ ชี้แนวโน้มอาจเปลี่ยน ‘อินเดีย’ แซง ‘จีน’ ยืนหนึ่ง ปชก.มากสุด

แฟ้มภาพเอเอฟพี

ยูเอ็นคาด ปชก.โลก แตะ 8 พันล้านคน 15 พ.ย.นี้ ชี้แนวโน้มอาจเปลี่ยน ‘อินเดีย’ แซง ‘จีน’ ยืนหนึ่ง ปชก.มากสุด

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอฟพีเอ) ประมาณการว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นแตะ 8,000 ล้านคน ในราวกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะเติบโตต่อไปแม้จะชะลอตัวลงท่ามกลางความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค

โดยยูเอ็นเอฟพีเอคาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ล้านคนในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งมากกว่า 3 เท่าของจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ล้านคนในปี 1950 อย่างไรก็ตาม ราเชล สโนว์ หัวหน้าสาขาประชากรและการพัฒนาของยูเอ็นเอฟพีเอ กล่าวว่า หลังจากการเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงต้นทศวรรษ 1960 อัตราการเติบโตของประชากรโลกก็ได้ชะลอตัวลงไปอย่างมาก โดยลดลงจาก 2.1% ระหว่างปี 1962-1965 มาอยู่ที่เติบโตต่ำกว่า 1% ในปี 2020 ตัวเลขดังกล่าวยังอาจลดลงเหลือ 0.5% ภายในปี 2050 เนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

รายงานระบุว่า ด้วยอายุขัยที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนจำนวนสตรีในวัยเจริญพันธุ์ ส่งผลให้ยูเอ็นคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะยังคงเติบโตต่อไป โดยจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 8,500 ล้านคนในปี 2030 เป็น 9,700 ล้านคนในปี 2050 และเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นราว 10,400 ล้านคนในช่วงทศวรรษ 2080

ตัวเลขคาดการณ์นี้ของยูเอ็นเอฟพีเอ ยังแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ เช่น สถาบันวัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (ไอเอชเอ็มอี) ของสหรัฐอเมริกา ที่ประเมินไว้ในรายงานการศึกษาปี 2020 ชี้ว่า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2064 แต่ไม่ได้ระบุตัวเลขว่าถึง 10,000 ล้านคน และจะลดลงเหลือ 8,800 ล้านคนในปี 2100

Advertisement

สไตน์ เอมิล โวลเซ็ต ผู้เขียนรายงานดังกล่าวของไอเอชเอ็มอี บอกกับเอเอฟพีว่า เราประเมินต่ำกว่า (ยูเอ็น) ซึ่งตนคิดว่าเรามีเหตุผลที่ดีพอ โดยชี้ว่าภายใต้แบบจำลองภาวะเจริญพันธุ์ที่ต่างกันมากของพวกเขา ประชากรโลกน่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระหว่าง 9,000-10,000 ล้านคนเท่านั้น

ทั้งนี้ ข้อมูลในปี 2021 ของยูเอ็นชี้ว่า อัตราการเจริญพันธุ์เฉลี่ยอยู่ที่ เด็ก 2.3 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคนในตลอดช่วงชีวิตของตนเอง ลดลงจากอัตราเฉลี่ยที่ราว 5 ในปี 1950 และคาดว่าจะลดลงมาเหลือ 2.1 ภายในปี 2050 ซึ่งนางสโนว์กล่าวว่า เราได้มาถึงขั้นที่ประเทศส่วนใหญ่และคนส่วนใหญ่ในโลกนี้อยู่ในประเทศที่มีภาวะเจริญพันธุ์ต่ำกว่าปกติ หรือที่ราวเด็ก 2.1 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน

ยูเอ็นชี้ว่าปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของประชากรโลกคือ อายุขัยเฉลี่ยที่ยังเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2019 อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 72.8 ปี มากกว่า 9 ปีเมื่อเทียบกับในปี 1990 โดยยังคาดว่าอายุขัยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 77.2 ปีในปี 2050 ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อรวมกับภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลง ก็คือ สัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้น 10% จากในปี 2022 เป็น 16% ในปี 2050 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุนี้ จะมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานและระบบเบี้ยบำนาญแห่งชาติ ขณะที่ยังต้องการการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย

Advertisement

การเพิ่มขึ้นของประชากรโดยเฉลี่ยยังมีความแตกต่างกันในบางภูมิภาคสำคัญ เช่น ยูเอ็นคาดการณ์ว่าการเติบโตของประชากรมากกว่าครึ่งภายในปี 2050 จะมาจากเพียง 8 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และแทนซาเนีย โดยอายุเฉลี่ยในแต่ละภูมิภาคก็มีความหมายเช่นกัน โดยปัจจุบัน อายุเฉลี่ยในยุโรปอยู่ที่ 41.7 ปี เมื่อเทียบกับ 17.6 ปีในซับ-ซาฮารา แอฟริกา ซึ่งนางสโนว์ชี้ว่าไม่เคยเห็นช่องว่างที่ห่างกันเหมือนในปัจจุบันนี้มาก่อน

ยูเอ็นยังชี้ให้เห็นแนวโน้มที่อาจเปลี่ยนไปด้วยว่า 2 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก คือ จีนและอินเดีย ที่จะสลับอันดับกันอย่างเร็วที่สุดในปี 2023 โดยจีนที่ขณะนี้มีประชากรราว 1,400 ล้านคน คาดว่าประชากรจะเริ่มลดลงเหลือ 1,300 ล้านคนภายในปี 2050 และภายในสิ้นศตวรรษนี้ ประชากรจีนอาจเหลือเพียง 800 ล้านคนเท่านั้น

ขณะที่ประชากรอินเดีย ที่ปัจจุบันยังต่ำกว่าจีนนั้น คาดว่าจะแซงหน้าจีนได้ภายในปี 2023 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,700 ล้านคนภายในปี 2050 ส่วนสหรัฐอเมริกา ที่ปัจจุบันมีประชากรกว่า 330 ล้านคน จะยังคงมีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของโลกในปี 2050 แต่จะมีไนจีเรียไล่ตามติดที่ 375 ล้านคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image