เปิดรายละเอียด ‘ปฏิญญาผู้นำเอเปค 2022’

ภาพรอยเตอร์

เปิดรายละเอียด ‘ปฏิญญาผู้นำเอเปค 2022’

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 ที่ปิดฉากลงแล้วในวันนี้ ที่ประชุมผู้นำเอเปคได้รับรองเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ซึ่งเป็นผลจากการประชุมตลอดปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ประกอบด้วยปฏิญญาเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี ซึ่งถือเป็นความสำเร็จสำคัญที่ที่ประชุมสามารถออกปฏิญญาร่วมกันได้

เนื้อหาสำคัญในปฏิญญาเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ระบุถึงสงครามยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งผู้นำเอเปคได้เน้นย้ำจุดยืนที่แสดงในเวทีอื่นๆ ที่สมาชิกส่วนใหญ่ประณามอย่างรุนแรงและเน้นย้ำว่าทำให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างมากต่อผู้คน และทำให้เศรษฐกิจโลกที่เปราะบางอยู่แล้วเลวร้ายลงมากขึ้น ขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ขัดขวางห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านพลังงานและอาหาร และเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน แต่ตระหนักว่าเอเปคไม่ใช่เวทีสำหรับการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง และรับทราบว่าปัญหาด้านความมั่นคงอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

ผู้นำเอเปคยังได้ย้ำถึงความสำคัญของการค้าระหว่างประเทศและองค์การการค้าโลก ที่จะช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดความเติบโต และบรรเทาความยากจน และยืนยันความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมด้านการค้าการลงทุนที่เสรี ยุติธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และคาดการณ์ได้ และมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดตามกฎการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ยังพูดถึงความคืบหน้าในเรื่องการจัดทำเขตการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) ในปีนี้ที่มีการกลับมาพูดคุยกันใหม่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจะยังคงรักษาพลวัตต่อไปเพื่อไปสู่การทำงานที่มีคุณภาพและครอบคลุม โดยมอบหมายให้มีการรายงานความคืบหน้าในปีต่อๆ ไปให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปครับทราบ และจะเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งรวมถึงสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) ในการพัฒนาการทำงานภายใต้โครงการ FTAAP Work

Advertisement

ผู้นำเอเปคยังให้ความสำคัญกับการบรรลุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ที่ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อการเติบโตที่มีความครอบคลุม ยั่งยืน เป็นมิตรกับนวัตกรรม และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยกับธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) และธุรกิจสตาร์ทอัพ

นอกจากนี้ยังตระหนักถึงความเร่งด่วนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การขนส่ง และบริการอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการพูดถึงการจัดหาแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืน การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลักดันการเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืน รวมถึงตระหนักถึงพลังของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้า เพื่อปลดล็อกให้เกิดการเติบโตแบบทวีคูณ

ผู้นำเอเปคยังประกาศความมุ่งมั่นในการเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาท้าทายในปัจจุบัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศสุดขั้ว และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานที่ยั่งยืน

ที่ประชุมผู้นำเอเปคยังได้รับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี” ซึ่งถูกระบุว่า เป็นการทำงานที่ครอบคลุมเพื่อต่อยอดเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเอเปค โดยจะมีการพัฒนาเป้าหมายกรุงเทพฯ ไปสู่การดำเนินการที่ชัดเจน ตอบสนอง และครอบคลุม ทั้งยังยินดีต่อการเปิดตัวรางวัล APEC BCG Award ในปีนี้ เพื่อยกย่องความสำเร็จของความยั่งยืนในภูมิภาค

ผู้นำเอเปคยังประกาศว่าจะระดมทรัพยากรอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเร่งรัดและกระชับงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเกษตร และส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว สร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนรวมถึง MSMEs และผู้หญิง ให้เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ สามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากมัน พร้อมกับเน้นย้ำถึงอันตรายจากการทุจริตคอรัปชั่น

ในตอนท้ายผู้นำเอเปคยินดีกับผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปคในปี 2565 รวมถึงการประชุมรัฐมนตรีรายสาขาต่างๆ พร้อมขอบคุณประเทศไทยสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2565 และตั้งตารอการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 ของสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็แสดงความยินดีที่เปรูและเกาหลีใต้จะรับเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image