คุยกับ ‘ท๊อป Bitkub’ : ‘คริปโทฯ’ สู่อนาคตการเงิน ‘Green Finance’ ตอบโจทย์ความยั่งยืนเอเปค 2022

คุยกับ ‘ท๊อป Bitkub’ : ‘คริปโทฯ’ สู่อนาคตการเงิน ‘Green Finance’ ตอบโจทย์ความยั่งยืนเอเปค 2022

สกุลเงินคริปโทฯและเทคโนโลยีบล็อกเชนเกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของงานประชุมสุดยอดเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ หรือไม่อย่างไร และการใช้เงินดิจิทัลนี้จะนำไปสู่อนาคตทางการเงินแบบ “Green Finance” ที่หมายถึงโลกทางการเงินที่ลดการปล่อยคาร์บอนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหรือไม่

ในโอกาสส่งท้ายความสำเร็จของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจในการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานี้ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา หรือ “ท๊อป Bitkub” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วยในฐานะพันธมิตรด้านการสื่อสาร APEC Communication Partner จะมาตอบคำถาม และแถลงไขประเด็นข้างต้น ดังนี้

ในความคิดของคุณท๊อป สกุลเงินคริปโทฯเกี่ยวข้องกับงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

“อยากให้ทุกคนจำ 2 เลข เลขแรกคือ 52 เลขที่สองคือ 0″ นั่นคือความจริงที่ว่ามนุษย์สร้างก๊าซเรือนกระจกปีละ 52,000 ล้านตัน จากการใช้ชีวิตประจำวัน และแม้จะผ่านช่วงเวลาที่หยุดชะงัก มีการล็อกดาวน์โลกที่ทำให้ผู้คนติดต่อและบริโภคกันน้อยลง ก็สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 2 พันล้านตันเท่านั้น จุดนี้ทำให้คุณท๊อปคิดว่า “การลดการบริโภคไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาของโลกร้อน ฉะนั้นวิธีที่จะแก้ปัญหานี้จริงๆ คือ การมี breakthrough ทางเทคโนโลยี ที่จะเปลี่ยนซัพพลายเชนทุกชนิดที่จะทำให้เราเปลี่ยนขบวนการผลิตทั้งหมด โดยการไม่ปล่อยคาร์บอนเลย หรือปล่อยให้น้อยที่สุด”

Advertisement

สำหรับตลาดการเงิน สกุลเงินคริปโตฯก็คือ breakthrough ทางเทคโนโลยี ที่จะเข้ามาเปลี่ยนกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของอุตสาหกรรมการเงิน “พลังงานทดแทนช่วยแก้ไขได้เพียง 26% จากก๊าซเรือนกระจก 52,000 ล้านตันยังเหลืออีก 74% ที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ และการใช้ชีวิตของผู้คน แปลว่าถ้าเราจะลดตัวเลขดังกล่าวให้เหลือ 0 ได้ เราต้องเปลี่ยนทุกกระเบียดนิ้วแม้แต่เรื่องการเงิน ถ้าเปลี่ยนทุกอย่างแต่เงินยังเป็นกระดาษก็ยังไม่สามารถทำให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้ ไม่ว่าอย่างไร เงินก็จะต้องมีพัฒนาการเป็นดิจิทัลในอนาคต การทำงานเกี่ยวกับเงินก็ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

คุณท๊อปยืนยันว่า โลกจะเปลี่ยนจากการใช้ธนบัตรไปสู่เงินในรูปแบบดิจิทัลอย่างแน่นอน แต่จะเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับผู้คนมีความรู้และความเข้าใจมากขึ้น รวมถึงระบบที่ดีมากขึ้น แน่นอนว่าสกุลเงินคริปโทฯก็ยังมีการปล่อยคาร์บอนอยู่ แต่เมื่อเทียบกับวงการการเงินดั้งเดิมในรูปแบบธนบัตรและเหรียญ อัตราการปล่อยคาร์บอนแบบสัมผัสนั้นน้อยกว่ามาก และว่า สกุลเงินคริปโทฯ และเทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นสินค้าทางการเงินที่ดีที่สุด ซึ่งรวดเร็วกว่า โปร่งใสกว่า และประหยัดค่าธรรมเนียมให้กับผู้คนมากกว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ในปัจจุบัน ที่จะทำให้เกิด Green Finance ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องความยั่งยืนของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังผลักดันด้านนวัตกรรมอีกด้วย

Advertisement

จุดนี้ทำให้กลุ่มบริษัท Bitkub มาร่วมงานเอเปคซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ในฐานะ APEC Communication Partner หรือไม่?

“เอเปคเป็นการประชุมที่สำคัญมากสำหรับไทย ในยุคที่ทั่วโลกมีความปั่นป่วนมาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน อัตราเงินเฟ้อที่สูงมากในสหรัฐ จุดสำคัญคือซัพพลายเชนกำลังเปลี่ยนไปโดยมุ่งมาที่อาเซียน ขณะที่สถานการณ์แย่งชิงเม็ดเงินลงทุนในภูมิภาคที่สูงขึ้น กลุ่มบริษัท Bitkub ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งที่กำลังมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการวางรากฐานของโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยจึงเข้ามามีส่วนร่วมในเวทีนี้ ในการช่วยประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกในเขตเศรษฐกิจเอเปคและบุคคลทั่วไปได้ทราบว่าประเทศไทยมีความพร้อมครบถ้วนที่เอื้อต่อการการลงทุน ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ นโยบายที่สอดคล้องกับโลก และเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ ซึ่ง “หวังว่าเมืองไทยจะเป็น Connecting Hub ในภูมิภาคของเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามา”

“จริงๆ เราอยู่ในยุค public and private partnership” แต่ละฝ่ายทำงานด้วยตัวคนเดียวไม่ได้แต่ถ้าทั้ง 2 ภาค คือภาครัฐและเอกชนมาร่วมมือกันมันเป็นไปได้ ซึ่งสิ่งที่กลุ่มบริษัท Bitkub สามารถช่วยภาครัฐได้ในประเด็น BCG อันเป็นจุดแข็งหลักของไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคครั้งนี้ ในการเป็นผู้จัดสรรทางเทคโนโลยีและการบริหารด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การจัดการคาร์บอนเครดิตบนเทคโนโลยีบล็อกเชนและการสร้างมาตรฐานในการติดตามคาร์บอนเครดิตและพลาสติก

ต่อข้อโต้แย้งของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมบางส่วนที่มองว่า BCG เป็นแค่การตลาด “ฟอกเขียว” ทีเอื้อนายทุนให้ทำธุรกิจต่อได้ในโลกที่ร้อนขึ้นอย่างดูมีความรับผิดชอบ ขณะที่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่ใช่การแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างตรงจุด คุณท๊อปคิดเห็นอย่างไร?

ในเรื่อง BCG “จริงๆ มันเป็นการลดการปล่อยคาร์บอนได้ แต่ว่ามันเป็นการลดที่ไม่ถึงศูนย์ อย่างการหมุนเวียนใช้พลาสติกซ้ำๆ ก็คงดีกว่าการใช้พลาสติกใหม่ แต่คาร์บอนก็ยังลดไม่ถึงศูนย์ โลกก็อยู่ไม่รอดอยู่ดี” การซื้อขายคาร์บอนเครดิตก็เช่นกัน “เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ” แล้วจะทำอย่างไรจึงจะแก้ที่ต้นเหตุ? คุณท๊อปเสนอให้มีการลงทุนใน breakthrough ทางเทคโนโลยีที่จะสร้างทางออกใหม่แก่โลกและเน้นย้ำถึงความสำคัญในการเปลี่ยนทุกระบบการผลิตและซัพพลายเชนของโลกให้ไม่มีการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะเป็น “การเปลี่ยนที่ใหญ่ที่สุดที่โลกของเราเคยเห็นมา” ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำในทุกอุตสาหกรรม

ก่อนหน้านี้ได้เข้าร่วมการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมมาหลายวง อาทิ Ocean20 B20 และ World Economic Forum การประชุมเหล่านี้พูดถึงงานภาคธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างไร ?

คุณท๊อปบอกว่า การประชุมเหล่านี้เป็นการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนก็จริง แต่ในการพูดคุยนั้นเน้นที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ส่วนเรื่องเศรษฐกิจเป็นรอง ซึ่งทุกการประชุมพูดตรงกันและมุ่งให้ความสำคัญไปที่ความยั่งยืนของโลกและการใส่ใจด้านคาร์บอน รวมถึงงานด้านความหลากหลายและความครอบคลุม ทั้งทางเพศ เชื้อชาติ สีผิว และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับธีมของเอเปคเช่นกัน โดยคุณท๊อปกล่าวว่ายิ่งบริษัทมีความหลากหลาย ยิ่งทำให้บริษัทยั่งยืนเพราะเกิดมุมมองที่กว้างขวางขึ้น

ในการเข้าร่วมวงประชุมดังกล่าว คุณท๊อปเข้าร่วมในฐานะภาคเอกชนไทยที่เป็นตัวแทนจากงานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ซึ่งเขาอยากให้นักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จไปสู่เวทีระดับโลกมากขึ้นเพราะเราอยู่ในโลกที่พึ่งพากันมากกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาและความตึงเครียดอย่างในปัจจุบัน และอยู่ในยุคที่ต้องจับมือร่วมกันข้ามทวีปเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ “อย่างในเรื่องโลกร้อน เราต้องสามัคคีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่ใหญ่มากนี้ของโลกได้”

สุดท้ายคุณท๊อปยืนยันว่า คอนเซ็ปต์ BCG ไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์ของเหล่าผู้นำในการพูดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องความเป็นความตายของชีวิตมนุษย์ที่พึ่งอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก ที่ถึงแม้ตัวเลขจะดูเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยแต่กลับสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่สืบเนื่องกันเหมือนกับโดมิโนที่ล้มทับซ้อนกันเรื่อยจนเกิดความรุนแรงมหาศาล อีกทั้งเรามีโลกเพียงแค่ใบเดียว เราจึง “ไม่มีตัวเลือกอื่น นอกจากทำให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์เกิดขึ้นให้ได้เท่านั้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image