คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: โรคเกาหลี

AFP PHOTO / POOL / JUNG YEON-JE

ปาร์ค กึน เฮ เพิ่งสร้างสถิติใหม่สำหรับเกาหลีใต้ไว้อีกประการ นอกเหนือจากการเป็นประธานาธิบดีสตรีคนแรกของประเทศ นั่นคือการตกเป็น “ผู้ต้องสงสัย” ที่ต้องถูกสอบสวนของสำนักงานอัยการเกาหลีใต้ อันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประธานาธิบดีต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง

ตามกฎหมายเกาหลี อัยการไม่สามารถตั้งข้อหาต่อประธานาธิบดีระหว่างดำรงตำแหน่งได้ แต่สามารถตั้งข้อหาฟ้องร้องดำเนินคดีได้ต่อเมื่อประธานาธิบดีผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งหลายคนคาดว่าคงเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นาน แม้ว่าผู้นำเกาหลีใต้รายนี้จะยืนกรานหนักแน่นว่าไม่ได้กระทำความผิดใดๆ และทนายความประจำตัวปาร์คปฏิเสธคำกล่าวหาทั้งหมด โดยระบุว่าเรื่องราวที่เชื่อกันอยู่ในเวลานี้นั้นเป็น “จินตนาการ” ล้วนๆ ก็ตาม

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า คำประกาศเหล่านั้นเป็นความพยายามของประธานาธิบดีปาร์ค เพื่อซื้อเวลาไปจนถึงการเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในเดือนธันวาคมปี 2017 ที่จะถึงนี้ หวังจะดำรตำแหน่งไปจนครบวาระ 5 ปี จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2018

แต่จนถึงขณะนี้ ชาวเกาหลีใต้เป็นเรือนแสน หากไม่ใช่นับล้าน ชุมนุมใหญ่เป็นรายสัปดาห์ ทุกๆ วันเสาร์ต่อเนื่องกันมา 3 สัปดาห์ติดกัน เรียกร้องให้ ปาร์ค กึน เฮ พ้นจากตำแหน่ง

Advertisement

นักสังเกตการณ์บางคนชี้ว่า ขนาดของการชุมนุมใหญ่ในแต่ละสัปดาห์สามารถเทียบเคียงได้กับการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในเกาหลีใต้เมื่อราว 30 ปีก่อน ที่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการยุติการปกครองของทหารในประเทศนี้ลงในที่สุด

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยูเรเซีย กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง ประเมินสถานการณ์แล้วเชื่อว่า โอกาสที่ปาร์ค กึน เฮ จะพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระในเวลานี้นั้น มีสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์

มุน แจ อิน นักการเมืองฝ่ายค้าน จากพรรคประชาธิปไตย ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะเป็นผู้ที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำเกาหลีใต้คนต่อไป เชื่อว่าสถานการณ์ของรัฐบาลในเวลานี้ลุกลามมาจนถึงจุดที่ “ไม่มีทางหวนกลับ” ไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว และประกาศตัวจะดำเนินการทุกอย่างเพื่อกดดันจนกว่า ปาร์ค กึน เฮ จะ “ลาออกจากตำแหน่งโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ” ให้ได้

Advertisement

สถานการณ์ของประธานาธิบดีสตรีคนแรกของเกาหลีใต้วัย 64 ปี ทรุดลงอย่างรวดเร็วอย่างน่าทึ่ง ทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง เมื่อมีการเปิดโปงออกมาว่า ประธานาธิบดีซึ่งเคยมีภาพลักษณ์เก็บเนื้อเก็บตัวรายนี้ บริหารประเทศภายใต้ “คำแนะนำ” อย่าง “ลับๆ” ของเพื่อนสนิทที่รู้จักมักคุ้นคบหากันมายาวนานถึง 40 ปี

ผู้หญิงคนที่ไม่มีภูมิหลังหรือความรู้พื้นฐานด้านนโยบายบริหารประเทศ แต่มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับ “ลัทธิทางศาสนา” ลัทธิหนึ่ง

ชเว ซุน ซิล วัย 60 ปี คือผู้หญิงที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวรายนั้น เธอถูกกล่าวหาว่าได้รับ “ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในชั้นความลับ” และใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับประธานาธิบดีไปเพื่อแสวงประโยชน์ทางการเงินคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 70 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,500 ล้านบาท)

เธอถูกกล่าวหาว่ากดดันเพื่อให้ได้เงิน “บริจาค” จากบริษัทแชโบลขนาดใหญ่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ซัมซุง, แอลจี หรือฮุนได มอเตอร์ส เข้าสู่มูลนิธิ 2 แห่งที่ตนเองควบคุมอยู่ จากนั้นก็ “ยักย้ายถ่ายเท” เงินส่วนใหญ่ออกไปจากมูลนิธิ

ใช้อำนาจอิทธิพลในฐานะประธานาธิบดีของเพื่อนสนิท ดำเนินการจนกระทั่ง “ลูกสาว” ของตัวเองสามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยทรงเกียรติที่เข้าเรียนได้ยากเย็นแสนเข็ญได้สำเร็จ

เหตุการณ์อื้อฉาวซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่ ชเว ซุน ซิล ไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น เมื่อสำนักงานอัยการพบหลักฐานเชื่อมโยงเพื่อนสนิทของประธานาธิบดีกับผู้ช่วยของปาร์ค กึน เฮ บางคนว่า เป็นผู้ที่ช่วยเหลือ ชเว หาเงิน “บริจาค” เหล่านั้น อัยการสาวลึกลงไปถึงตัวผู้บริหารระดับสูงของหลายบริษัท พบข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

พบกระทั่งว่า “เลขานุการอาวุโส” ของปาร์ค กึน เฮ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งในสำนักงานอัยการ มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายให้ความช่วยเหลือ ชเว ซุน ซิล และทำมากกระทั่ง ใช้ความสัมพันธ์แต่เดิมกับสำนักงานอัยการจนสามารถรับรู้กำหนดเวลาที่เจ้าหน้าที่อัยการจะบุกตรวจค้นข้อมูลของบริษัทธุรกิจต่างๆ ได้ แล้วแจ้งเบาะแสให้บริษัทนั้นๆ รู้ตัวล่วงหน้า

ในที่สุด สำนักงานอัยการเกาหลีใต้ก็แถลงเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า นอกจากจะตั้งข้อหานางชเว กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบประธานาธิบดีที่เป็นผู้ช่วยของปาร์ค กึน เฮ 2 รายแล้ว ตัวประธานาธิบดีปาร์ค กึน เฮ ก็ตกเป็น “ผู้ต้องสงสัย” และต้องเชิญตัวมาสอบปากคำ

ชเว ซุน ซิล ถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา รวมทั้งกรรโชกทรัพย์ ฉ้อโกง และใช้อำนาจในทางที่ผิดและบิดเบือน อดีตเลขานุการของปาร์คถูกตั้งข้อกล่าวหาในทำนองเดียวกัน ผู้ช่วยคนสนิทอีกคน ถูกตั้งข้อหาว่าเปิดเผยความลับของทางราชการ

ปาร์ค กึน เฮ ถูกกล่าวหาว่า สมรู้ร่วมคิดกับผู้ต้องหาเหล่านั้นกระทำความผิดทั้งหมด

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ในถ้อยแถลงของสำนักงานรวมทั้งหมด 33 หน้า ปรากฏชื่อของประธานาธิบดีปาร์คร่วมอยู่ในกระบวนการทำความผิดในแทบจะทุกหน้า และเจ้าหน้าที่อัยการผู้รับผิดชอบในคดีนี้ยืนยันว่า ที่ปรากฏอยู่ในถ้อยแถลงทั้งหมดนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อหาทั้งหมด คัดมาเฉพาะในส่วนที่ “เอาผิดได้” ที่ไม่มีหลักฐานเอาผิด ไม่เอามาแถลง

สตเฟาน แฮกการ์ด นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญกิจการเกาหลีใต้-แปซิฟิก ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ชี้ว่า เมื่อรวมพฤติกรรมทั้งหมดในคดีอื้อฉาวคดีนี้ ตั้งแต่เรื่องเปิดเผยข้อมูลลับของทางการ เรื่องเงินบริจาคเข้ามูลนิธิ และเรื่องเข้ามหาวิทยาลัยเข้าด้วยกันแล้ว

กรณีอื้อฉาวของ ปาร์ค กึน เฮ ครั้งนี้ก็ถือว่ารุนแรงและใหญ่โตกว่า คดีโด่งดังในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันอย่าง “วอเตอร์เกต” ด้วยซ้ำไป

และปาร์ค กึน เฮ ส่อเค้าว่าจะทำสถิติเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้รายที่ 2 ต่อจาก โนห์ มู ฮยอนที่ถูกรัฐสภาดำเนินกระบวนการอิมพีชเมนต์ในที่สุด!

เกาหลีใต้กับคอร์รัปชั่น เคยเป็นคำที่เคียงคู่อยู่ด้วยกันชนิดแยกจากกันแทบไม่ออก ถึงขนาดที่ เมื่อ คิม ยัง ซัม ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตยเต็มรูปแบบในประเทศนี้ เขาประกาศเอาไว้ว่าจะเยียวยาประเทศนี้ให้ปลอดจาก “โรคเกาหลี” ให้ได้ เพราะโรคเกาหลี ที่หมายถึงการคอร์รัปชั่นทางการเมืองนั้นระบาดหนักหนาสาหัสเหลือเกิน

คิม ยัง ซัม จริงจังกับความพยายามปราบปรามคอร์รัปชั่น “ทำความสะอาดประเทศ” มากถึงขนาดผลักดันให้มีการจับกุมและดำเนินคดีอดีตประธานาธิบดี 2 รายที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนหน้าตนในข้อหานี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครสามารถหลีกหนีโทษทัณฑ์จากการคอร์รัปชั่นได้

แต่ในที่สุด ตัวคิม ยัง ซัม เองก็ยังถูก “โรคเกาหลี” ระบาดใส่ เมื่อลูกชายและคนใกล้ชิดจำนวนหนึ่งถูกจับกุมในข้อหาคอร์รัปชั่นและรับสินบน

คอร์รัปชั่น รับสินบน การยักยอกฉ้อโกง และการใช้อำนาจในทางที่ผิดของนักการเมืองเกาหลีใต้บรรเทาเบาบางลงเมื่อยุคสมัยผ่านไป กระนั้นกรณีที่เกิดขึ้นกับประธานาธิบดี ปาร์ค กึน เฮ ก็แสดงให้เห็นว่า “โรคเกาหลี” ยังคงไม่หมดสิ้นไป และโดยข้อเท็จจริง ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ทุกรายนับตั้งแต่เริ่มการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปในปี 1987 เรื่อยมา ล้วนเลอะเทอะเปรอะเปื้อนกับเรื่อง “คอร์รัปชั่น” ด้วยกันทั้งสิ้น

นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า คอร์รัปชั่น ในแบบเดียวกันกับที่ปาร์ค กึน เฮ ถูกกล่าวหาอยู่ในเวลานี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลเกาหลีใต้เข้าไปให้เงินสนับสนุนกลุ่มธุรกิจเพื่อผลักดันระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม

น่าสนใจอย่างยิ่งที่ ผู้นำคนแรกที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ก็คือ ปาร์ค จุง ฮี อดีตประธานาธิบดีในระบอบเผด็จการของประเทศ ที่ให้การสนับสนุนทางการเงินจนเกิดกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ขึ้นในเกาหลีใต้ อย่าง ซัมซุง หรือ ฮุนได ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นหนามั่นคงระหว่างรัฐบาลกับองค์กรธุรกิจ ในช่วงยุคทศวรรษ 1960 และ 1970 และยังคงอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ปาร์ค จุง ฮี คือบิดาผู้ล่วงลับของ ปาร์ค กึน เฮ!

คิม ดอง ชุน ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา จากมหาวิทยาลัยซังกองโฮ เชื่อว่า ปาร์ค กึน เฮ เรียนรู้และซึมซับเอารูปแบบความสัมพันธ์แบบ “พันธมิตร” ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรธุรกิจ มาจากผู้เป็นพ่อนั่นเอง

สก็อตต์ สไนเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกาหลีใต้จากสภาการวิเทศสัมพันธ์ (ซีเอฟอาร์) ชี้ว่า สังคมเกาหลี เป็นสังคมแบบชุมชน เป็นสังคมของกลุ่มของเพื่อนพ้อง วัฒนธรรมของ “เพื่อนน้ำมิตร” ที่ต้องคำนึงถึงความเป็นเพื่อนแม้ถูกขอให้เอื้อประโยชน์ให้ก็ตามที เป็นสังคมที่คาดหวังว่าจะได้รับความโอบอ้อมอารีจากความเป็นเพื่อน และทุกคนก็ปฏิบัติตามนั้นเหมือนๆ กัน

ซึ่งนั่นหมายความว่า แต่ละคนยากที่จะ “ปฏิเสธ” เมื่อถูก “เพื่อน” ขอให้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้

สไนเดอร์บอกว่า ด้วยแนวความคิดเช่นนี้ ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะยากที่จะเอาชนะ “เครือข่ายส่วนตัว” ในสังคมได้

เขายกตัวอย่างปัญหา “คลาสสิก” ของสังคมในแบบฉบับของเกาหลีใต้เอาไว้ว่า ในเมื่อข้อเท็จจริงคือ “มิสเตอร์คิม” ที่อยู่ที่บลูเฮาส์ ทำเนียบประธานาธิบดี เคยเรียนห้องเดียวกันในชั้นเรียนระดับประถมกับ “มิสเตอร์ลี” ที่เป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในสำนักงานอัยการ ทั้งทำเนียบและสำนักงานอัยการก็สามารถ “รอมชอม” ได้ และทำให้คอร์รัปชั่นแพร่ระบาดออกไปได้โดยง่าย

ไม่ว่ากฎหมายจะเข้มงวดกวดขันเพียงใดก็ตามที

ข้อเท็จจริงก็คือ ไม่นานก่อนหน้าที่คดีอื้อฉาวนี้จะปรากฏขึ้นต่อสาธารณะ เกาหลีใต้เพิ่งผ่านกฎหมายปราบคอร์รัปชั่นฉบับใหม่ออกมา หวังว่าจะใช้เป็นเครื่องมือในการถอนรากถอนโคน “โรคเกาหลี”

ในกฎหมายใหม่นี้ ใครก็ตามที่จ่ายเงินเป็นค่าอาหารเลี้ยงเจ้าหน้าที่รัฐ, พนักงานของกิจการที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือผู้สื่อข่าว เกินกว่า 27 ดอลลาร์ (ราว 963 บาท) ถือว่ากระทำผิดกฎหมาย

กระนั้นในการสำรวจความคิดเห็นหลังสุด คนเกาหลีใต้ 2 ใน 3 ยังยืนยันว่าประเทศนี้ยังฉ้อฉล โกงกันสะบั้นอยู่ดี

ยังเป็น “โรคเกาหลี” ที่รักษาไม่หายอยู่นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image