มองการต่างประเทศไทย ผ่านสายตา ‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’

มองการต่างประเทศไทย
ผ่านสายตา ‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’

หมายเหตุ “มติชน”นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงการต่างประเทศไทยในปีที่ผ่านมา และสิ่งที่น่าจะเป็นความท้าทายสำหรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศในปีนี้

ความสำเร็จในการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ช่วยฟื้นความสัมพันธ์หลังจากขาดหายกันไปนานกว่า 32 ปี ทำให้เกิดมิตรไมตรีที่ชัดเจน มีเป้าหมายร่วมกันที่จะสานสัมพันธ์เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ นำไปสู่อะไรหลายๆ อย่างมากมาย รวมถึงการแลกเปลี่ยนการเยือนที่ตามมาจำนวนมาก ที่สำคัญที่สุดคือ การเสด็จเยือนไทยของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุฯ

พระองค์ตรัสตั้งแต่แรกถึงความพยายามที่จะเชื่อมคนของทั้งสองประเทศ มีการตกลงที่จะทำโรดแมปที่ครอบคลุมภารกิจด้านต่างๆ ระหว่างกันต่อไป เราต่างรับรู้ว่าสายสัมพันธ์ที่สานขึ้นมาใหม่นี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้นำหรือข้าราชการเท่านั้น หลังจากนี้ก็จะมีพัฒนาการที่เป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์โดยภาคส่วนต่างๆ ต่อไป

สิ่งที่ตามมาในเดือนกุมภาพันธ์คือ สงครามยูเครนซึ่งไม่เพียงแต่จะกระทบต่อชาวยูเครนเท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อนานาประเทศ ต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งเรื่องน้ำมัน ปุ๋ย อาหาร และอื่นๆ มีความพยายามที่จะหาทางออกจากมุมมองต่างๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นการพูดคุยจริงจัง การลงมติในที่ประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็ดี ท่าทีต่างๆ ที่นานาชาติได้แสดงออกก็ดี ขณะที่การสู้รบก็หนักขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไทยห่วงกังวลเรื่องนี้เป็นพิเศษ

Advertisement

มีคนถามเรื่องการลงมติในยูเอ็นเมื่อ 12 ตุลาคม 2565 ว่าเหตุใดไทยแสดงท่าทีไปในทางแตกต่างจากข้อมติเมื่อเดือนมีนาคม ไทยเข้าเป็นสมาชิกยูเอ็นมาตั้งแต่แรกๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมาการลงคะแนนของเราเป็นไปอย่างมีเหตุมีผลและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมาตลอด เรามีความชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังและการรุกรานทางทหารซึ่งขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ขัดต่อกฎบัตรสหประชาชาติ ดังนั้น การงดออกเสียงต่อข้อมติในครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าเราทอดทิ้งหลักการเหล่านี้ แต่เราได้อธิบายท่าทีย้ำหลักการตั้งแต่แรก การงดออกเสียงเพราะเราต้องการเน้นใน 2 ประเด็นปัญหาที่หลงลืมกันไป คือเรื่องผลกระทบทางมนุษยธรรมที่ต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของคนที่เสียชีวิต บาดเจ็บจากสงคราม และได้รับผลกระทบทั้งต่อวิถีชีวิตและผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่นๆ ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องหาทางยุติสงคราม ซึ่งไทยเน้นถึงความพยายามในการเจรจาทางการทูตอย่างจริงจัง เพราะทางออกของทุกเรื่องราวในอดีตก็คือการพูดคุยหาทางออกร่วมกัน

เรางดออกเสียงต่อข้อมติ เพราะร่างข้อมตินั้นเน้นแต่การประณาม ไม่ได้ให้อีกมุมหนึ่งที่สำคัญคือการพยายามหาทางออกในการสู้รบ หาทางเจรจาอย่างจริงจัง เราอยากให้โลกรับรู้ว่านี่เป็นจุดที่สำคัญ การยุติปัญหาต้องมีการดำเนินการเชิงรุกเพื่อหาทางออกทางการทูต ไม่เช่นนั้นคู่กรณีก็จะมีแต่รบกันต่อไป และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ที่สุดแล้วหากมีการใช้อาวุธร้ายแรงหรืออาวุธนิวเคลียร์ก็จะกระทบประเทศไทยและประชาชนไทย และกระทบกันไปทั่วโลก ดังนั้นเราโหวตโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศไทยและของโลกเป็นสำคัญ

ในแง่ความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการเดินทางเยือนไทยของระดับผู้นำและรัฐมนตรีจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน และนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ขณะที่เอเปคเป็นอีกงานใหญ่ ซึ่งมีผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคจำนวนมากเข้าร่วม และมีการเยือนเพิ่มเติมโดยที่มีความสำคัญอีก 3 ประเทศคือผู้นำซาอุฯ จีน และฝรั่งเศส ซึ่งไม่เคยมีการเยือนระดับสูงเช่นนี้ในเวลาเดียวกัน

สหรัฐฯ ที่เป็นเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ได้รับไม้ต่อจากไทยก็เห็นคุณค่าและจะนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปขับเคลื่อนต่อในเอเปค ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดในเอเปคในไทยเกิดผล เป็นที่ยอมรับ และมีการนำไปสานต่อ เสมือนว่าเราได้หว่านเมล็ดพันธุ์ของงานด้านต่างประเทศที่สำคัญในเวทีสากลให้มีผู้นำไปสานต่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ท่านนายกรัฐมนตรียังได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนได้พบกับผู้นำอียูทั้ง 27 ประเทศ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา และไทย-อียู ได้ลงนามร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) หลังใช้เวลาหารือกันมายาวนานถึง 18 ปี

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย และการต่างประเทศของไทยในปีที่ผ่านมาแต่ละเรื่องก็มีความโดดเด่นชัดเจน สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของไทย รับรู้กันในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก อย่างเรื่องสุขภาพที่ไทยได้รับความชื่นชมจากความสามารถในการบริหารจัดการโรคระบาด สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความสนใจประเทศไทยมาก เป็นผลงานด้านการต่างประเทศที่ปรากฎเป็นรูปธรรมเป็นที่ประจักษ์

ขณะเดียวกันก็มีการตื่นตัวในเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ของไทยที่มาจากความสำเร็จของนักกีฬาไทย ศิลปินไทยที่สร้างชื่อเสียงระดับโลกมากมาย และยังมีงานด้านกงสุลในการดูแลคนไทยและผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศที่สามารถพึ่งพาสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกได้ เช่น กรณีการช่วยเหลือคนไทยในยูเครนออกจากพื้นที่ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่เราภาคภูมิใจ

สำหรับปีหน้าเรื่องต่างๆ ที่ค้างกันอยู่ก็หวังว่าจะได้รับการสานต่อ ใช้แนวทาง follow up and follow through เราจะเดินหน้าต่อไปในหลายเรื่องที่มีคุณค่า และอยู่บนเส้นทางที่เกิดประโยชน์กับประเทศและกับภูมิภาคของเราและเพื่อนของเราในภูมิภาคต่างๆ และหวังว่าไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง สิ่งต่างๆ ที่ได้วางไว้เป็นพื้นฐานจะได้รับการสานต่อหรือเพิ่มเติมต่อไป

หลายคนยังถามว่าเหตุใดประเทศไทยจึงรับเป็นผู้ประสานงานอาเซียน-อียูในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน อะไรทำให้เรามองเห็นว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ มีคุณค่าและมีประโยชน์ในระยะยาวต่อโลก แล้วยังมาต่อด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากการมองเรื่องราวแบบ 360 องศา++

๐ประเด็นที่ถือเป็นความท้าทายด้านการต่างประเทศในปี 2566

ปัญหายูเครนคือความท้าทายอันดับแรกของโลก หากความพยายามที่จะเจรจาหาทางออกกันอย่างจริงจังไม่เกิดขึ้น แต่ละวันแต่ละเดือนที่ผ่านไปจะนำมาซึ่งความสูญเสียในพื้นที่ ทั้งจากการสู้รบ ความสูญเสียต่อประชาชนและอื่นๆ อีกนานับประการ ที่เสียหายที่สุดคือ เรื่องมนุษยธรรม ยิ่งถ้ายืดเยื้อต่อไป ก็มีแต่จะยิ่งรุนแรง และอาจนำมาซึ่งการใช้อาวุธที่ร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของใคร เราพยายามหาทางยุติด้วยการเจรจา ประเด็นยูเครนถือเป็นความเสี่ยงระดับโลก เป็นความท้าทายที่ทุกประเทศมีเดิมพันอยู่ในนั้น ซึ่งเราจะต้องช่วยกันหาทางให้คลี่คลายและยุติลง

เรื่องเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องใหญ่ที่เราให้ความสำคัญมาก่อนหน้านี้ว่าเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย ทุกประเทศก็ต้องพยายามฟื้นฟูบ้านเมืองของตนเองที่ได้รับผลกระทบมาตลอด 3 ปีกว่า มันจะไปได้ดีถ้าสภาวะแวดล้อมของโลกโดยทั่วไปมีความเป็นปรปักษ์ต่อกันน้อยลง ดังนั้นเราต้องลดความขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้สิ่งที่ทุกคนให้ความร่วมมือกันคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะหลายปีที่ผ่านมาผลพวงจากธรรมชาติแปรปรวน ทำให้เกิดปัญหาขึ้นกับโลกและวิถีชีวิต กระทบต่ออนาคตของไทยและโลก เราอยากเห็นความพยายามแก้ไขปัญหาในด้านนี้มีความรุดหน้า แต่ถ้าความพยายามลดความตึงเครียดไม่เกิด ความร่วมมือแบบสร้างสรรค์ก็ย่อมไปไม่ถึงไหน กลับมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กันตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้สวนทางกันและทำให้ทั้งโลกไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้

๐ปัญหาเมียนมาเป็นความท้าทายของอาเซียนหรือไม่

ปัญหาเมียนมาไม่ง่าย มีความซับซ้อนหลายด้าน ไทยเพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดการหารืออย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาเมื่อปลายเดือนธันวาคม เพื่อสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการหาข้อยุติทางการเมืองโดยสันติต่อสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งมีรัฐมนตรีจากกัมพูชา ลาว และเวียดนามเข้าร่วมด้วย เพื่อสร้างพื้นที่ทางการทูตสำหรับการหารืออย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เราได้พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาและมีโอกาสได้รับฟังข้อมูลจากฝ่ายเมียนมา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการหาทางออกและหนทางให้เมียนมากลับสู่สภาวะปกติ โดยให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตลอดจนพิจารณาแนวทางอื่น ๆ ที่จะสามารถสนับสนุนการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนก็ขอบคุณในการดำเนินการของเรา และเราพร้อมสนับสนุนอินโดนีเซียอย่างเต็มที่ ในฐานะประธานอาเซียนในปี 2566 เพื่อต่อยอดให้เกิดความคืบหน้าต่อไป

๐การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาคมระหว่างประเทศที่มีต่อไทยหรือไม่
การเมืองไทยอยู่ที่คนไทย เช่นเดียวกันประโยชน์ที่คนไทยและประเทศไทยจะได้รับอยู่ที่สภาวะต่างๆ ในประเทศไทยเป็นอย่างไร ถ้าสงบสันติ ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับคนไทยเอง เป็นทางเดียวที่ต้องช่วยกันทำให้เกิด มันไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำ แต่ถ้ามองไม่เห็น ไม่คิดจะทำให้เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย

เราต้องคิดถึงอนาคตของชาติและลูกหลาน ต้องคิดถึงผลประโยชน์ที่พึงได้ของประเทศและภูมิภาค เพราะไม่มีอะไรจะดีไปกว่าความสงบสุขที่จะเอื้อต่อวิถีชีวิตของทุกคน ในทางตรงกันข้ามก็ชัดเจน ถ้าขัดแย้ง สร้างปัญหา ฯลฯ ก็น่าจะเดือดร้อนและส่งผลกระทบต่อชีวิตของทุกคน

ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายต่างๆ มากมายในโลก มีทั้งปัจจัยที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ เราก็มุ่งมั่นที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาและดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยและโลก ไม่มีอะไรมีค่ายิ่งกว่าความสงบสุข สันติภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการต่างประเทศต้องช่วยตอบโจทย์เหล่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image