คอลัมน์ Think Tank: ‘ฟิเดล คาสโตร’ ศัตรูคนสุดท้ายของสหรัฐจากยุคสงครามเย็น

AFP PHOTO / Yamil LAGE

การถึงแก่อสัญกรรมของฟิเดล คาสโตร อดีตประธานาธิบดีคิวบา ทำให้สหรัฐอเมริกาสูญเสียศัตรูผู้ยิ่งใหญ่คนสุดท้ายในยุคสงครามเย็นไป ผู้นำที่ส่งไม้ต่อให้น้องชายเมื่อนานมาแล้วและเฝ้าดูอยู่ห่างๆ ในระหว่างช่วงเวลาที่ประเทศของเขาฟื้นสัมพันธไมตรีกับคู่แค้นเก่า

การจากไปของนักปลุกระดมที่ท้าทายสถานะมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกาภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี 11 คน เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลในกรุงวอชิงตันเตรียมส่งมอบอำนาจจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ไปให้กับฝ่ายบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป

แม้ว่าผู้นำชาติยุโรปบางรายได้เข้าพบเพื่อคารวะฟิเดล คาสโตร ในระหว่างการเดินทางเยือนคิวบาเมื่อไม่นานมานี้ แต่สหรัฐแสร้งทำเป็นว่าไม่เคยมีนักปฏิวัติอาวุโสผู้นี้ปรากฏอยู่ โดยมีปฏิสัมพันธ์กับราอูล คาสโตร น้องชายของเขาเท่านั้น แม้แต่หลังประกาศฟื้นความสัมพันธ์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2014

จนกระทั่งคาสโตรเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

Advertisement

นับตั้งแต่นั้นมีการแสดงอารมณ์ความรู้สึกพรั่งพรูออกมา ตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างขมขื่น การให้อภัย และการแสดงความเสียใจ มาจากบรรดานักการเมืองจำนวนมากมายหลากหลาย

“วันนี้ โลกได้บันทึกการจากไปของเผด็จการผู้โหดร้ายที่กดขี่ประชาชนของตนเองมาเป็นเวลานานเกือบ 6 ทศวรรษ” ทรัมป์กล่าว ขณะที่โอบามาบอกว่าสหรัฐจะยื่นมือแห่งไมตรีให้กับประชาชนชาวคิวบาหลังการเสียชีวิตของคาสโตร

แม้จะมีการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อฤดูร้อนปี 2015 และการเดินทางเยือนคิวบาครั้งประวัติศาสตร์ของโอบามาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

Advertisement

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศเกาะคอมมิวนิสต์ที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งห่างจากรัฐฟลอริดาเพียงแค่ 150 กิโลเมตรยังห่างไกลจากคำว่าปกติ

สภาคองเกรสของสหรัฐที่ควบคุมโดยพรรครีพับลิกันยังคงปฏิเสธที่จะยกเลิกการปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อคิวบาที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1962

ความสัมพันธ์ของสหรัฐกับคิวบาภายใต้การปกครองของคาสโตร ไม่เคยราบรื่นมาตั้งแต่ความพยายามโค่นล้มอำนาจคาสโตรที่สหรัฐให้การหนุนหลังซึ่งล้มเหลวหรือ “วิกฤตอ่าวหมู” ในปี 1961 จนมาถึงวิกฤตมิสไซล์คิวบาที่ทำให้สถานการณ์หมิ่นเหม่ที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 นับเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ขมขื่นระหว่างศัตรูคู่อาฆาตทั้ง 2 ฝ่าย

“สิ่งที่ฝ่ายจักรวรรดินิยมไม่สามารถยกโทษให้ได้คือชัยชนะของการปฏิวัติสังคมนิยมใต้จมูกของสหรัฐอเมริกา” ฟิเดล คาสโตรกล่าวไว้ในยุคทศวรรษที่ 1960

คาสโตรปกครองประเทศโดยเผชิญหน้ากับประธานาธิบดีสหรัฐรวมแล้วถึง 11 คน ตั้งแต่ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ จนถึงบารัค โอบามา และไม่เคยยอมหยุดยั้งในการต่อต้านระบบทุนนิยม รวมถึงท้าทายสถานะมหาอำนาจโลกของสหรัฐอเมริกา

สำหรับพรรคเดโมแครตแล้ว การฟื้นสัมพันธ์กับคิวบาจะถือเป็นมรดกตกทอดทางการทูตของรัฐบาลโอบามา หากกว่าทรัมป์ไม่ยกเลิกเมื่อเขาขึ้นดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม เหมือนที่ได้ขู่ว่าจะทำก่อนหน้านี้

แต่โอบามาได้กล่าวไว้เมื่อครั้งเดินทางเยือนคิวบาในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า “การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีคงไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image