เปิดประวัติ ‘สุจันทรี’ มหาเทวีองค์สุดท้ายแห่งสีป้อ เหลือเพียงตำนาน ‘สิ้นแสงฉาน’

เปิดประวัติ ‘สุจันทรี’ มหาเทวีองค์สุดท้ายแห่งสีป้อ เหลือเพียงตำนาน ‘สิ้นแสงฉาน’

6 กุมภาพันธ์ 2023 (พ.ศ.2566) คือวันสุดท้ายของชีวิต พระนางสุจันทรี หรือ อิงเง ซาร์เจนท์ มหาเทวีองค์สุดท้ายแห่งเมืองสีป้อ ชายาของ เจ้าจาแสง ผู้ปกครองนครรัฐสีป้อ รัฐฉาน ประเทศพม่า สิริอายุ 91 ปี

ศิลปวัฒนธรรม นิตยสารในเครือ “มติชน” โดย สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ เผยแพร่ประวัติและเรื่องราวความรักสุดขมขื่นระหว่าง “เจ้าจาแสง” และ “พระนางสุจันทรี” ที่ฝ่ายหญิงเดินหน้าทวงความยุติธรรมจวบจบวาระสุดท้ายของชีวิต

อิงเง ซาร์เจนท์ หรือนามสกุลเดิม อีเบอร์ฮาร์ด เป็นชาวออสเตรีย เกิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปี 1932 (พ.ศ.2475) ได้พบ “เจ้าจาแสง” ครั้งแรก ที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ขณะทั้งคู่ศึกษาในมหาวิทยาลัยช่วงต้นทศวรรษ 1950 โดยระหว่างคบหากัน “อิงเง” ไม่รู้เลยว่าคนรักเป็นเจ้าฟ้าหลวงแห่งสีป้อ และเมื่อความรักสุกงอม ทั้งคู่แต่งงานกันเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ปี 1953 ที่เมืองเดนเวอร์

ความจริงเปิดเผยเมื่อเจ้าจาแสงสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ พาอิงเงเดินทางกลับไปใช้ชีวิตที่เมืองสีป้อ เมื่อเรือเข้าเทียบท่าที่พม่า อิงเงสงสัยว่าทำไมถึงมีผู้คนมาต้อนรับมากมายขนาดนั้น เจ้าจาแสงจึงบอกว่าพระองค์คือผู้ปกครองนครรัฐสีป้อในรัฐฉาน

Advertisement

อิงเงเธอได้รับชื่อใหม่ว่า “สุจันทรี” และได้รับการแต่งตั้งเป็น “มหาเทวีแห่งสีป้อ” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 1957

เจ้าจาแสงและมหาเทวีแห่งสีป้อได้ชื่อว่าเป็นคู่รักราชนิกุลที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดานครรัฐไทใหญ่ 30 กว่าแห่ง ส่วนหนึ่งอาจเพราะเจ้าจาแสงเรียนจบจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และมุ่งมั่นนำความรู้กลับมาพัฒนาสีป้อ อีกส่วนอาจเป็นเพราะมหาเทวีเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งชาวสีป้อและชาวไทใหญ่ในนครรัฐอื่นๆ ไม่คุ้นตานัก

เจ้าจาแสงและสุจันทรีร่วมกันพัฒนานครรัฐสีป้อ ทั้งด้านการเกษตรกรรม สาธารณสุข การศึกษา เพื่อให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่แล้วทุกอย่างก็หยุดชะงัก เพราะในวันที่ 2 มีนาคม ปี 1962 นายพลเนวิน นำกำลังทหารยึดอำนาจของรัฐบาลอูนุที่มาจากการเลือกตั้ง ล้มล้างรัฐธรรมนูญ

Advertisement

หนึ่งวันก่อนนายพลเนวินทำรัฐประหาร เจ้าจาแสงทรงเดินทางด้วยเครื่องบินไปเข้าประชุมรัฐสภาที่กรุงย่างกุ้ง จากนั้นกลับไปที่ตองจี เพื่อเยี่ยมไข้พระพี่นางซึ่งประชวรหนัก เจ้าจาแสงจึงยังไม่ทราบถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และเสด็จออกตั้งแต่เช้า เพื่อขึ้นเครื่องบินไปยังสนามบินล่าเสี้ยวประจำสีป่อ

แต่เมื่อมาถึงประตูเมืองตองจีบนทางหลวงสู่เมืองเฮโฮ ทหารที่ตั้งด่านอยู่ก่อนแล้วก็เรียกให้รถยนต์พระที่นั่งของเจ้าจาแสงจอด มีคนพบเห็นพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายว่าถูกทหารอาวุธครบมือควบคุมตัวไป

สุจันทรีซึ่งอยู่ที่สีป้อ พยายามสืบหาว่านายพลเนวินนำตัวเจ้าจาแสงไปไว้ที่ไหน แต่ก็ถูกทหารจับตามองแทบไม่คลาดสายตา ทั้งยังไม่ได้รับคำตอบที่แน่ชัดว่าตกลงแล้วเจ้าจาแสงยังทรงมีพระชนมชีพอยู่หรือจากไปแล้ว จนวันหนึ่งสุจันทรีตัดสินใจพาพระธิดาคือ มายรี และ เกนรี เดินทางเข้าไปพำนักที่กรุงย่างกุ้ง เพื่อจะได้สืบข่าวอย่างละเอียดได้มากขึ้น

แม้สุจันทรีจะพยายามทวงถามความยุติธรรมถึงชีวิตของเจ้าจาแสงจากนายพลเนวินเท่าใด แต่นายพลเนวินและบรรดาทหารก็ไม่เคยให้คำตอบที่มากไปกว่า “เจ้าจาแสงสบายดี”” และถูกกักตัวไว้ในที่ปลอดภัยแห่งหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น ทหารระดับใหญ่โตบางรายกลับบอกว่า “เจ้าจาแสงไม่เคยถูกควบคุมตัว” ด้วยซ้ำ ส่วน “โบเสตจะ” อดีตนักการเมืองพม่า เล่าให้สุจันทรีทราบถึงข่าวร้ายว่า เจ้าจาแสงถูกทหารปลงพระชนม์แล้วที่ค่ายทหารบาตูเมี้ยวทางเหนือของตองจี ไม่นานหลังถูกควบคุมตัว

เมื่อสถานการณ์ต่างๆ เลวร้ายลงเรื่อยๆ ท้ายสุด สุจันทรีจึงต้องพามายรีและเกนรีออกจากพม่ากลับไปยังออสเตรีย จากนั้นทำงานที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย อยู่สักพัก ระหว่างนั้น “อิงเง” ได้รู้จักและคุ้นเคยกับครอบครัวของ โสภาค สุวรรณ นักเขียนชื่อดังของไทย เนื่องจากบิดาของโสภาครับราชการในสถานเอกอัครราชทูตที่นั่น เป็นที่มาของนวนิยายเรื่อง “เกนรี มายรี” ของโสภาค

ปี 1966 อิงเงและทายาททั้งสองเดินทางไปตั้งรกรากที่อเมริกา เธอแต่งงานกับ โฮวาร์ด “แทด” ซาร์เจนท์ ในปี 1968 แม้ชีวิตที่นครรัฐสีป้อจะจบลง แต่อิงเงยังคงผูกพันกับชาวสีป้อ เธอเขียนหนังสือ “Twilight Over Burma : My Life as a Shan Princess” (แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “สิ้นแสงฉาน”) บอกเล่าชีวิตของเธอและเจ้าจาแสง ควบคู่กับการตีแผ่ความโหดร้ายของเผด็จการทหารยุคนายพลเนวิน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image