‘BKKDW 2023’ ศิลปะสานสัมพันธ์ ต่อยอดศก.สร้างสรรค์ ไทย-รัสเซีย

‘BKKDW 2023’ ศิลปะสานสัมพันธ์
ต่อยอดศก.สร้างสรรค์ ไทย-รัสเซีย

เทศกาล Bangkok Design Week 2023 (BKKDW2023) ระหว่างวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ ได้เปลี่ยนกรุงเทพมหานคร ให้กลายเป็นขุมพลังแห่งศิลปะ การออกแบบ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะเชื่อมโยงไปสู่อนาคตด้วยผลงานด้านความสร้างสรรค์ ภายใต้การเป็นแม่งานของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) งานนี้ดึงดูดทั้งผู้รักงานศิลป์ เหล่าผู้ผลิตผลงาน และBusiness partner จำนวนมากให้มารวมตัวกันที่นี่ รวมถึงรัสเซีย หนึ่งในชาติมหาอำนาจที่สำคัญของโลก ก็ได้เข้าร่วมในงาน BKKDW2023 เป็นครั้งแรกด้วย

นายอเล็กเซย์ เฟอร์ซิน รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาผู้ประกอบการและนวัตกรรมของรัฐบาลกรุงมอสโก เดินทางมายังประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจสร้างสรรค์ระหว่างกรุงเทพและมอสโก ด้วยการพบปะหารือกับหน่วยงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสร้างสรรค์ต่างๆ ของไทย อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

การเยือนของนายเฟอร์ซินเป็นผลสืบเนื่องจากโครงการริเริ่มเมื่อปีที่ผ่านมาของ ท่านทูตศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ที่ได้พาเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ชาวรัสเซีย มาเปิดมิติการท่องเที่ยวของไทยให้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งทูตศศิวัฒน์กล่าวว่าโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จและได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากทั้งผู้เข้าร่วม และภาครัฐของรัสเซียเป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดความร่วมมืออื่นๆ กับหน่วยงานไทยตามมา อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่ในกรุงมอสโก โครงการสัปดาห์ภาพยนตร์ไทยในกรุงมอสโก การแสดงเพลงโดย Igor Butman ศิลปินแจ๊สชาวรัสเซียที่มีชื่อเสียงระดับโลกในเมืองไทย และการที่หน่วยงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กรุงมอสโก (CIA) เข้าร่วมเทศกาลงาน Chiangmai Design Week 2022 (CMDW2022) เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาซึ่งช่วยกระตุ้นความสนใจของรัสเซียต่อศิลปะร่วมสมัยไทย

Advertisement

เช่นเดียวกับที่นายเฟอร์ซินที่กล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียในด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการพัฒนาธุรกิจก้าวเข้าสู่บทใหม่แห่งความร่วมมือตั้งแต่ปี 2022 และหลังจากที่ CIA เข้าร่วม CMDW2022 ภายใต้โครงการ “Created in Moscow” รัสเซียก็ยังคงสานสัมพันธ์กับไทย จนขยายผลเป็นการเข้าร่วม BKKDW2023 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือกันระหว่างไทยและรัสเซีย โดยงานดังกล่าวไม่ได้มีแค่เป้าหมายทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังมุ่งพัฒนาแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพอีกด้วย

นายเฟอร์ซินยังกล่าวว่าตนรู้สึกตื่นเต้นอย่างยิ่งเพราะถือว่าเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ไทยเป็นชาติที่มีความรุ่มรวยทางมรดกวัฒนธรรม ความงดงามทางธรรมชาติ และยังเป็นศูนย์รวมโอกาสที่เอื้อต่อการสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในงาน BKKDW2023 ที่ทำหน้าที่เป็นดั่งศูนย์กลางที่ดึงดูดผู้มีความสามารถ นายเฟอร์ซินจึงขอขอบคุณศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) โดยเฉพาะ นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการ CEA รวมถึงคณะทำงานที่ร่วมกันทำให้เกิดการมีส่วนร่วมนี้ขึ้น

Advertisement

สำหรับเป้าหมายของการเยือนครั้งนี้ นายเฟอร์ซินกล่าวว่า หลักๆ คือการสำรวจและพัฒนาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจและงานด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยการมีส่วนร่วมของมอสโกใน BKKDW2023 เกิดจากความร่วมมือระหว่าง TCDC และ CIA รวมถึงแรงบันดาลใจจากท่านทูตศศิวัฒน์ ผู้เปิดมิติใหม่ๆ ของไทยให้แก่รัสเซียเป็นครั้งแรก ซึ่งมีตั้งแต่การจัดนิทรรศการ กิจกรรมการเรียนรู้ และการดำเนินธุรกิจ 3 ด้าน ได้แก่ การขับเคลื่อนของรัฐบาล แฟชั่นสิ่งทอ รวมถึงภาพยนตร์และแอนิเมชัน

ขณะที่ท่านทูตศศิวัฒน์ได้ขยายความเรื่องเป้าหมาย 3 ด้านดังกล่าวว่า เกิดจากการหารือของทั้งสองฝ่ายและสะท้อนเป้าประสงค์ของทั้ง 2 ชาติที่บรรจบกัน ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป โดยภารกิจแรกคือ การแลกเปลี่ยนทางอุตสาหกรรมคอนเทนท์ จะครอบคลุมตั้งแต่ภาพยนตร์ แอนิเมชัน เกม และดนตรี รวมถึงการสร้างผลงานแบบ Co production ระหว่างกองถ่ายของไทยและรัสเซีย และด้วยความพร้อมรวมถึงศักยภาพของไทยในการผลิตภาพยนตร์แบบครบวงจร ไปจนถึงลักษณะทางสังคมที่เปิดกว้างต่อความหลากหลาย ท่านทูตศศิวัฒน์ยังผลักดันให้รัสเซียใช้ไทยเป็นประตูส่งออกงานด้านคอนเทนท์ไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย

ภารกิจต่อมาคือ แฟชั่นสิ่งทอ ที่รัสเซียต้องการที่จะหาซัพพลายเออร์ผ้าจากไทยทั้งผ้าทั่วไปและผ้าไทย เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมด้านสิ่งทอของประเทศ ซึ่งท่านทูตมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และจะดียิ่งขึ้นอีกหากในอนาคตผ้าไทยสามารถมัดใจดีไซเนอร์และตีตลาดแฟชั่นรัสเซียได้ อีกทั้งจะเป็นโอกาสสำคัญต่อธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปไทยในตลาดแห่งนี้ซึ่งถือว่าเป็นเมืองแห่งแฟชั่นที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก

สุดท้ายคือ งานสตาร์ทอัพและนวัตกรรมที่ท่านทูตกล่าวว่าโจทก์หลักคือ ทำอย่างไรให้มีการแลกเปลี่ยนด้านสตาร์ทอัพซึ่งกันและกัน เพื่อขยายพื้นที่ทางโอกาสและการเติบโตให้กับกลุ่มธุรกิจนี้ของไทย การแลกเปลี่ยนนี้อาจไม่จำกัดเพียงโครงการที่สมบูรณ์แล้วเท่านั้น แต่อาจรวมถึงการร่วมกันต่อยอดความคิดได้เช่นกัน

ระหว่างเยือนไทย นายเฟอร์ซินได้เยี่ยมชมการแสดงศิลปะและการออกแบบที่ MOCA และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งเขาเห็นว่าธีม “urban’NICE’zation” หรือ “เมือง-มิตร-ดี” ของงานในปีนี้มีความเชื่อมโยงกับตัวเองอย่างมาก เพราะมันครอบคลุมแทบทุกองค์ประกอบของชีวิตคนเมือง ตั้งแต่การออกแบบสิ่งแวดล้อม บริการสาธารณะ ศิลปะและงานประดิษฐ์ หรือแม้กระทั่งอาหาร รวมถึงประเด็นความยั่งยืนและการรีไซเคิลขยะอย่างแปลกใหม่และมีคุณค่าต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้สะท้อนการพัฒนาโดยมี “คน” เป็นศูนย์กลาง

“ผมได้เยี่ยมชมงานแสดงศิลปะจำนวนมากในช่วงสองสามวันนี้และต้องยอมรับว่านี่เป็นงานแสดงนิทรรศการชั้นเลิศที่สร้างสรรค์และช่างคิดอย่างมาก” เฟอร์ซินกล่าว

นอกเหนือจากการเป็นผู้ชม นายเฟอร์ซินยังกล่าวว่ามอสโกยังได้เข้าร่วมเทศกาลนี้ในฐานะผู้นำเสนอศักยภาพทางด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ ผ่านการจัดนิทรรศการที่มีชื่อว่า “Moscow Creative Tech Highlights” ซึ่งจัดแสดง 6 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่พัฒนาโดยรัสเซียและครอบคลุมหลายแขนงของงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ อาทิ สิ่งทอที่มีส่วนประกอบของ LED ชุดกีฬาจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ และหน้ากากอนามัยที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีอย่างมาก โดยในเวลาเพียง 9 วันมีผู้เข้าชมงานกว่า 60,000 คน

“เราเห็นความสนใจอย่างแรงกล้าของบริษัทรัสเซียในการทํางานร่วมกันกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ของไทย ซึ่งเราวางแผนที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับพันธมิตรในไทยต่อไป ภายใต้การนําของหน่วยงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของมอสโก” นายเฟอร์ซินกล่าว

ความสำเร็จและท่าทีเชิงบวกต่างๆนี้ มีขึ้นหลังจากที่ท่านทูตศศิวัฒน์มองหาหนทางที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันในช่วงโควิดซึ่งโลจิสติกส์ไม่เอื้ออำนวย จนตระหนักว่าอุตสาหกรรมคอนเทนท์และวัฒนธรรมเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุด เพราะสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้และเป็นสิ่งที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

โครงการนำอินฟลูเอ็นเซอร์ชาวรัสเซียมาสัมผัสความเป็นไทยในมิติใหม่ ผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดสำคัญๆ อย่าง กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ตก็เป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ไทยรัสเซีย เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว แต่ยังเช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างคนไทยและรัสเซียให้มากขึ้น

ท่านทูตศศิวัฒน์กล่าวว่า แม้ทั้งสองประเทศจะมีความสัมพันธ์มานานกว่า 125 ปี ขณะที่คนรัสเซียก็มีความชื่นชอบในประเทศไทยไม่น้อย แต่ผู้คนทั้งสองชาติกลับรู้จักกันอย่างผิวเผิน

“ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน-ประชาชนยังไม่ลึกซึ้งเท่าที่ควร เขารู้จักเราแค่พัทยา ภูเก็ต สมุย ในทางกลับกันเรารู้จักเขาแค่จตุรัสแดง บัลเลต์ วอดก้า แล้วยังมีอคติด้านลบอย่างมาเฟียรัสเซีย เราจึงควรทำความรู้จักกันให้มากขึ้น โดยเครื่องมือที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายนั้นคือศิลปะ ซึ่งจะทำให้เรารู้จักกันดีขึ้น ทั้งจะยังประโยชน์ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อย่างเป็นธรรมชาติด้วย” ทูตศศิวัฒน์กล่าว

สำหรับการเดินทางเยือนในครั้งนี้ ทูตศศิวัฒน์กล่าวว่า ฝ่ายรัสเซียพึงพอใจอย่างมากเพราะบรรลุเป้าประสงค์ 3 อย่าง ขณะที่นายเฟอร์ซินกล่าวว่า งานในครั้งนี้เปิดโอกาสให้รัสเซียสามารถประชุมร่วมกับหน่วยงานจากภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยจำนวนมาก และได้เยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ อาทิ TCDC, NIA และ True Digital Park ที่ตอกย้ำภาพลักษณ์ของกรุงเทพในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่โดดเด่น

ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมซึ่งสะท้อนความสำเร็จของโครงการในปีนี้มีอย่างน้อย 4 ประการ เริ่มจากการที่ตัวแทนธุรกิจแฟชั่นรัสเซียตกลงซื้อขายผ้ากับซัพพลายเออร์ไทย การจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้สร้างภาพยนตร์และแอนิเมชั่นของรัสเซีย การจับมือกับ True Digital Park จัดการแลกเปลี่ยนสตาร์ทอัพไทยที่กรุงมอสโกและการเชิญกลุ่มธุรกิจรายใหม่เหล่านี้เข้าร่วม Moscow innovation forum ในเดือนพฤษภาคม รวมถึงการเชิญกระทรวงวัฒนธรรมและดีไซเนอร์ไทยไปเข้าร่วม Moscow fashion week ในเดือนสิงหาคม โดยท่านทูตศศิวัฒน์บอกด้วยว่า ไทยและรัสเซียยังมีแผนที่จะประกาศให้ปีหน้า 2024 เป็นปีแห่ง “Year of Cultural Tourism” ซึ่งน่าจะทำให้การท่องเที่ยวโดยใช้วัฒนธรรมของไทยในตลาดรัสเซียเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น

ท่านทูตศศิวัฒน์กล่าวว่าโจทย์สำคัญสำหรับไทยยังคงเป็น “วิธีใดจะทำให้ชาวรัสเซียรู้จักไทยให้หลากหลายมากขึ้น?” และ “ทำอย่างไรให้ข้อมูลของทั้ง 2 ชาติเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางและสมดุล” รวมถึงไทยต้องไม่วางใจกับสถานะเชิงบวกในขณะนี้เพราะคู่แข่งในตลาดรัสเซียนั้นมีมาก เราจึงต้องไม่หยุดพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมความร่วมมือกับรัสเซียให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image