‘นาซา’ ส่งลูกเรือภารกิจ ‘สเปซเอ็กซ์ ครู-6’ มุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติแล้ว

(REUTERS)

‘นาซา’ ส่งลูกเรือภารกิจ ‘สเปซเอ็กซ์ ครู-6’ มุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติแล้ว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ว่า ยานอวกาศของภารกิจสเปซเอ็กซ์ ครู-6 ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) พร้อมนักบินอวกาศอีก 4 ชีวิต ซึ่งประกอบด้วยนักบินอวกาศของนาซา 2 คน รวมถึงนักบินจากรัสเซียและสุลต่านจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ทะยานขึ้นฟ้าและมุ่งหน้าไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันดังกล่าว

ยานอวกาศลำดังกล่าวจากบริษัทผู้ผลิตจรวดสัญชาติอเมริกัน อย่าง “สเปซเอ็กซ์” ของอีลอน มัสก์ ซึ่งประกอบไปด้วยจรวดฟัลคอน 9 ที่ส่วนยอดของยานมีแคปซูลลูกเรือที่เรียกว่า Endeavour ติดตั้งอยู่ ได้ถูกปล่อยออกจากฐานปล่อยจรวดที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี บนแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา เมื่อเวลา 00.34 น. ตามเวลาสหรัฐ โดยการถ่ายทอดสดของการปล่อยจรวดผ่านเว็บไซต์ของนาซา แสดงภาพของยานอวกาศที่มีความสูงเท่าตึก 25 ชั้น พุ่งตัวออกจากหอปล่อยจรวด ขณะที่กลุ่มควันไอน้ำพวยพุ่งและเปลวไฟสีแดงเพลิงจากเครื่องยนต์จรวด “เมอร์ลิน” ทั้ง 9 เครื่อง ส่องสว่างท้องฟ้าก่อนรุ่งสางของสหรัฐ

การปล่อยตัวของจรวดในครั้งนี้เกิดขึ้น 72 ชั่วโมงหลังจากที่ความพยายามครั้งแรกถูกยกเลิกไปในนาทีสุดท้ายของการนับถอยหลังส่งจรวดออกนอกโลก เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เนื่องจากการไหลของน้ำมันสตาร์ตเครื่องยนต์เกิดการอุดตันขึ้น

Advertisement
(REUTERS)

9 นาทีหลังจากที่ยานอวกาศของภารกิจดังกล่าวถูกปล่อยตัว แคปซูลลูกเรือ Endeavour ก็ถูกปล่อยตัวออกจากจรวดฟัลคอน 9 ส่วนบนและได้เดินทางเข้าสู่วงโคจรชั้นต้น ขณะที่เดินทางท่องอวกาศด้วยความเร็วกว่า 20 เท่าของความเร็วเสียง ส่วนจรวดฟัลคอน 9 ส่วนล่างที่ทำหน้าที่เป็นจรวดบูสเตอร์และสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้นั้น ก็ได้เดินทางกลับมายังโลกและลงจอดอย่างปลอดภัยบนเรือเก็บกู้ชิ้นส่วนจรวดที่ลอยลำอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าการเดินทางไปยังสถานีอวกาศไอเอสเอส ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการทางอวกาศที่โคจรที่ระดับความสูงราว 420 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก จะใช้เวลาเกือบ 25 ชั่วโมง และมีกำหนดที่จะถึงที่หมายดังกล่าวในเวลา 01.15 น.ของวันที่ 3 มีนาคมตามเวลาสหรัฐ

โดยภารกิจของนักบินอวกาศชุดนี้ที่มีระยะเวลาถึง 6 เดือน จะครอบคลุมการทดลองและการสาธิตทางเทคโนโลยีประมาณ 200 รายการ ตั้งแต่การวิจัยเกี่ยวกับการเติบโตของเซลล์มนุษย์ในอวกาศ ไปจนถึงการควบคุมวัสดุที่ติดไฟได้ในสภาวะไร้น้ำหนัก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image