‘เจียง ย่านหยง’ แพทย์ผู้เปิดโปงโรคซาร์สจีน ท้าทายรบ.ปักกิ่ง เสียชีวิตแล้วในวัย 91 ปี

FILE PHOTO (AP)

‘เจียง ย่านหยง’ แพทย์ผู้เปิดโปงโรคซาร์สจีน ท้าทายรบ.ปักกิ่ง เสียชีวิตแล้วในวัย 91 ปี

เจียง ย่านหยง อดีตศัลยแพทย์ทหารชาวจีน ผู้เปิดโปงข่าวการแพรระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2003 ที่ทางการปักกิ่งพยายามปกปิด เสียชีวิตแล้วด้วยอายุ 91 ปี ด้วยอาการปอดบวม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ตามรายงานของสื่อจีน รวมถึงคำบอกกล่าวครอบครัวและญาติมิตรของเขา

นายแพทย์เจียงได้รับการสรรเสริญว่าเป็นแพทย์ผู้ช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมาก ด้วยการเขียนจดหมายเปิดโปงวิกฤตโรคซาร์ส หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงในช่วงแรกของการแพร่ระบาด ที่ทางการจีนพยายามปกปิดและลดความสำคัญของสถานการณ์ดังกล่าวในประเทศ

โดยในปี 2003 ในช่วงที่มีผู้ติดเชื้อของโรคซาร์สกว่า 8,000 คนทั่วโลก นายแพทย์เจียงทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเขารู้สึกตกใจอย่างมากที่กระทรวงสาธารณสุขจีนรายงานต่อประชาชนว่า พบผู้ป่วยเพียงไม่กี่รายที่ติดเชื้อโรคทางเดินหายใจร้ายแรงนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงนายแพทย์เจียงรู้ดีว่า แค่ในวอร์ดโรงพยาบาลทหารก็มีผู้ป่วยโรคซาร์สกว่า 100 รายแล้ว

นายแพทย์เจียงจึงได้ส่งจดหมายที่เปิดโปงคำโกหกของทางการจีนไปยังสถานีโทรทัศน์แห่งชาติจีนแต่กลับถูกเพิกเฉย อย่างไรก็ดี จดหมายดังกล่าวก็ได้รั่วไหลไปยังสื่อต่างประเทศที่เผยแพร่ข้อมูลของเขาอย่างครบถ้วน

ADVERTISMENT

การเปิดเผยของนายแพทย์เจียงบังคับให้รัฐบาลจีนต้องออกมายอมรับความผิด ฐานให้ข้อมูลเท็จแก่ประชาชน และผลักดันให้นำแนวทางขององค์การอนามัยโลกมาปฏิบัติจริง โดยมีการประกาศใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวดในช่วงข้ามคืน ซึ่งช่วยชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสได้ดี

อีกทั้ง การกระทำของนายแพทย์เจียงยังนำไปสู่การปลดรัฐมนตรีสาธารณสุขของจีน รวมถึงนายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่งในขณะนั้นออก

“ผมรู้สึกว่าผมต้องเปิดเผยสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ช่วยปกป้องจีน แต่เพื่อปกป้องโลกด้วย” นายแพทย์เจียงกล่าว

ในปีต่อมา นายแพทย์เจียงก็ได้ท้าทางรัฐบาลปักกิ่งอีกครั้ง ด้วยการเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซีซีพี) ตระหนักว่า การปราบปรามผู้ชุมนุมที่จตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 นั้นเป็นการกระทำที่ผิด และมีพลเรือนจำนวนหลายร้อย หรืออาจหลายพันถูกสังหารจากเหตุการณ์นี้

นายแพทย์เจียงบอกเล่าประสบการณ์ความโหดร้ายที่ตนเผชิญในฐานะศัลยแพทย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลานั้น ว่าเจ้าหน้าที่ “ลงมืออย่างบ้าคลั่ง โดยใช้รถถัง ปืนกล และอาวุธอื่น ๆ ในการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่ไร้อาวุธโดยสิ้นเชิง” และว่า “พรรคของพวกเราต้องออกมายอมรับความผิดพลาดที่ได้ทำลงไป”

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นายแพทย์เจียง รวมถึงภรรยาของเขาถูกควบคุมตัวในเวลาต่อมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้นายแพทย์ผู้นี้เปลี่ยนทัศนคติของตนต่อประเด็นดังกล่าวแม้แต่น้อย โดยเขายังได้เขียนจดหมายอีกฉบับไปยังประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในปี 2019 ซึ่งประณามเหตุความรุนแรงที่จตุรัสเทียนอันเหมินว่าเป็น “อาชญากรรม”

ทั้งนี้ ได้มีการเปรียบเทียบความกล้าหาญในการนำเสนอความจริงและการไม่ยอมถูกบังคับให้ปิดปากเงียบของนายแพทย์เจียง กับกรณีของนายแพทย์หลี่ เหวินเลี่ยงที่ประสบเรื่องราวลักษณะคล้ายกัน นั่นคือ การเปิดโปงวิกฤตการณ์โควิด-19 ในช่วงแรกของการระบาด ซึ่งทางการจีนพยายามปกปิดข่าวเช่นเดียวกัน