ฟินแลนด์แชมป์ชาติที่มีความสุขที่สุดในโลก 6 ปีซ้อน ไทยรั้งที่ 60
ฟินแลนด์ยังคงครองแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน จากการจัดทำรายงานความสุขโลก (World Happiness Report) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นปีที่ 11 แล้ว
ดัชนีดังกล่าวมาจากการสัมภาษณ์ผู้คนมากกว่า 1 แสนคนใน 137 ประเทศ โดยมีการประเมินของผู้คนควบคู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกลุ่มประเทศนอร์ดิกครองแชมป์ประเทศที่มีความสุขอีกครั้ง และ 8 ใน 10 ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกล้วนแต่อยู่ในยุโรป
เดนมาร์กอยู่ในลำดับ 2 ตามด้วยไอซ์แลนด์ ขณะที่อิสราเอลอยู่ในอันดับที่ 4 จากนั้นเป็นเนเธอร์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และนิวซีแลนด์ที่อันดับ 10 ส่วนลิทัวเนียกลายเป็นประเทศใหม่เพียงประเทศเดียวที่อยู่ใน 20 อันดับแรกในปีนี้ โดยขยับขึ้นมามากกว่า 30 อันดับตั้งแต่ปี 2017
อังกฤษซึ่งเคยอยู่ในอันดับ 3 ในปีที่แล้ว ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 19 ตามหลังสหรัฐอเมริกาที่อันดับ 15 และออสเตรเลียในลำดับที่ 12 ส่วนฝรั่งเศสหลุดจาก 20 อันดับแรกไปอยู่ที่ 21 ในปีนี้ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 60 ส่วนประเทศที่ประชาชนมีความสุขน้อยที่สุดในโลกคืออัฟกานิสถานที่อันดับ 137 และเลบานอนที่ 136
นักวิจัยพบว่า แม้โลกจะเกิดวิกฤตต่อเนื่องกันหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามยูเครน แต่ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจในชีวิตของคนทั่วโลกในระหว่างปี 2020-2022 กลับสูงพอๆ กับช่วงก่อนเกิดโควิด-19
จอห์น เฮลลิเวลล์ นักเศรษฐศาสตร์และบรรณาธิการของรายงานความสุขโลก กล่าวว่า ความสุขโดยเฉลี่ยและอันดับประเทศต่างๆ ทั้งในด้านอารมณ์และการประเมินการใช้ชีวิตค่อนข้างคงที่ในช่วง 3 ปีของการแพร่ระบาดใหญ่
“แม้ในระหว่างช่วงปีที่ยากลำบากเหล่านี้ อารมณ์เชิงบวกยังคงมีมากกว่าอารมณ์เชิงลบถึง 2 เท่า และความรู้สึกเชิงบวกจากการได้รับการสนับสนุนจากสังคมก็ยังแข็งแกร่งกว่าความรู้สึกเหงาถึง 2 เท่าด้วย” เฮลลิเวลล์กล่าว
ปีนี้เป็นปีแรกที่การจัดทำรายงานความสุขโลกได้นำเอาสถานการณ์ในยูเครนมาประกอบการพิจารณา โดยประเทศยูเครนอยู่ในลำดับที่ 92 ขณะที่รัสเซียอยู่ในลำดับที่ 70 ในปี 2022 ความเมตตากรุณาของผู้คนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยูเครนแต่ลดลงในรัสเซีย
แม้ว่าความเสียหายและความทุกข์ทรมานในยูเครนจะมากมายมหาศาล แต่การประเมินชีวิตในยูเครนเมื่อเดือนกันยายน 2022 ยังคงมีคะแนนสูงกว่าในช่วงที่รัสเซียผนวกไครเมียในปี 2014 โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะชาวยูเครนได้รับการสนับสนุนจากการที่พวกเขามีสำนึกในจุดมุ่งหมายร่วมกัน ความเมตตากรุณา และความไว้วางใจในความเป็นผู้นำของยูเครน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘พิพัฒน์’ ยันส่งแรงงานไทยเก็บเบอร์รีป่าฟินแลนด์ ขอเรื่องเก่าไปตามกระบวนการกฎหมาย
- พิพัฒน์ เร่งที่ปรึกษากฎหมาย สืบปม อดีต รมต.-ขรก. หักหัวคิวแรงงานฟินแลนด์ คาดรู้ผลใน 2 สัปดาห์
- รัสเซียขู่งัดมาตรการตอบโต้ หลังฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกนาโตอย่างเป็นทางการ
- ‘มาริน’ นายกฯ หญิงฟินแลนด์แพ้เลือกตั้ง หลัง ‘ออร์โพ’ อดีต รมต.คลัง คว้าชัย