แอมเนสตี้ชี้ ปฏิกิริยาชาติตะวันตกต่อยูเครน เปิดโปง ‘สองมาตรฐาน’

แอมเนสตี้ชี้ ปฏิกิริยาชาติตะวันตกต่อยูเครน เปิดโปง ‘สองมาตรฐาน’

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า กระแสความไม่พอใจทั่วโลกต่อการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นเพียงการเปิดโปงความ “สองมาตรฐาน” ของชาติตะวันตกต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ในรายงานประจำปี 2022 แอมเนสตี้ระบุว่า ขณะเดียวกันชาติตะวันตกกลับเพิกเฉยต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในซาอุดีอาระเบีย การปราบปรามในอียิปต์ และการปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ของอิสราเอล

แอกเนส คัลลามาร์ค เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวระหว่างนำเสนอรายงานดังกล่าวในกรุงปารีสว่า การตอบโต้อย่างน่าเกรงขามของตะวันตกต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียยิ่งเป็นการตอกย้ำความสองมาตรฐาน ทั้งยังเปรียบเทียบได้ถึงปฏิกิริยาที่ไม่สมเหตุสมผลของพวกเขาต่อการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติอีกมากมายว่าเป็นอย่างไร

Advertisement

คัลลามาร์คกล่าวว่า การโจมตีของรัสเซียที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ทำให้ได้เห็นมุมมองที่ไม่ได้มีโอกาสจะเห็นกันบ่อยนัก ถึงสิ่งที่เป็นไปได้เมื่อมีเจตจำนงทางการเมืองในการดำเนินการ ขณะที่ชาติตะวันตกพากันจับมือเพื่อให้การสนับสนุนยูเครน

ประเทศจำนวนมากพากันประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย และเปิดพรมแดนเพื่อรองรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนหลังเหตุรุกราน ขณะที่ศาลอาญาระหว่างประเทศก็เริ่มต้นทำการสอบสวนความผิดในคดีอาชญากรรมสงครามในยูเครน และเพิ่งจะประกาศออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย

แอมเนสตี้ชี้ว่า ความขัดแย้งในยูเครนได้เน้นย้ำให้เห็นถึงข้อบกพร่องต่อการตอบสนองในการกระทำอันเป็นการละเมิดในส่วนอื่นๆ ของโลก ไม่ว่าจะในซาอุฯ อียิปต์ หรือปาเลสไตน์ ที่แอมเนสตี้มองว่า เป็นการปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับการกระทำอันไม่ต่างจากการแบ่งแยกสีผิวของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์

Advertisement

ทั้งแอมเนสตี้ และฮิวแมนไรตส์วอตช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอีกองค์กรหนึ่ง รวมถึงผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติต่างสรุปว่า การปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ของอิสราเอล ไม่ต่างจากนโยบายแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลอิสราเอลปฏิเสธ

แอมเนสตี้ระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลอิสราเอลชุดใหม่ได้ออกมาตรการบังคับให้ชาวอิสราเอลต้องออกจากบ้านของพวกเขา และมีการขยายพื้นที่เพื่อการตั้งถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมาย และออกกฎหมายเพื่อรับรองการตั้งถิ่นฐานที่มีอยู่ ทั้งยังตั้งค่ายทหารในพื้นที่เวสต์แบงก์ที่พวกเขายึดครองไว้ กองกำลังอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ที่พวกเขายึดครอง แต่ตะวันตกกลับล้มเหลวในการเรียกร้องให้ยุติระบบของการกดขี่ดังกล่าว

ในซาอุฯ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนยังถูกคุมขัง ผู้คนติดคุกเพราะการแสดงความเห็นของพวกเขา ภายใต้การพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ชาย 81 คนถูกประหารชีวิตในวันเดียว ขณะที่ผู้อพยพเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว

ขณะที่ในอียิปต์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว ผู้ประท้วง และผู้เห็นต่างหลายพันคนถูกคุมขัง และยังคงมีการทรมานผู้คนโดยทั่วไป

แอมเนสตี้ระบุว่า ประเทศต่างๆ ในยุโรปยินดีต้อนรับผู้ลี้ภัยจากยูเครน แต่กลับไม่แสดงความเมตตาแบบเดียวกันกับผู้คนที่หลบหนีภัยจากการสู้รบในซีเรีย อัฟกานิสถาน และลิเบีย

เช่นเดียวกับสหรัฐที่แม้จะรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครน แต่นโยบายและการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยของสหรัฐก็ยังมีรากฐานมาจากการเหยียดผิวและต่อต้านคนผิวสี โดยสหรัฐได้ขับไล่ชาวเฮติกว่า 25,000 คน ระหว่างเดือนกันยายน 2021 ถึงพฤษภาคม 2022 ซึ่งแอมเนสตี้ระบุว่า หลายคนถูกทรมานและได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้าย

ในอิหร่าน ผู้หญิงตายเพราะพวกเธอเต้นรำ ร้องเพลง และไม่สวมฮิญาบคลุมหน้า ขณะที่ผู้คนลุกขึ้นประท้วงต่อต้านการปกครองแบบอิสลามสุดโต่งในประเทศ นอกจากนี้แอมเนสตี้ยังย้ำถึงความล้มเหลวของสถาบันระดับโลกในการตอบสนองต่อความขัดแย้งที่คร่าชีวิตผู้คนหลายพันคน ทั้งในเอธิโอเปีย เยเมน และเมียนมา

แอมเนสตี้กล่าวด้วยว่า สงครามยูเครนได้หันเหทรัพยากรรวมถึงความสนใจออกจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ความขัดแย้งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นยาวนานกว่า และความทุกข์ทรมานของมนุษย์ทั่วโลก

คัลลามาร์กล่าวด้วยว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่พบในปี 2022 ว่า การตอบสนองของนานาชาติต่อวิกฤตยูเครน จะกลายเป็นพิมพ์เขียวสำหรับการตอบสนองต่อความขัดแย้งหรือวิกฤตที่มีความคล้ายคลึงหรือสอดคล้องกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image