กต.แจงความคืบหน้า ‘ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร’ ยอดทะลุ 24,000 ใน 4 วัน

FACEBOOK (Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand)

กต.แจงความคืบหน้า ‘ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร’ ยอดทะลุ 24,000 ใน 4 วัน

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับนายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล ได้แถลงถึงการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ปี 2566 โดยนายณรงค์กล่าวถึงความคืบหน้าต่างๆ ของการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรหลังมีการประกาศยุบสภาว่า นับตั้งแต่ที่มีการเปิดรับลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม จนถึงเวลา 18.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ของวันที่ 28 มีนาคม มีคนไทยในต่างประเทศลงทะเบียนมาแล้ว 24,005 คน โดยประเทศที่มียอดการลงทะเบียนใช้สิทธิมากที่สุดในปัจจุบัน คือ ออสเตรเลียที่ 16,192 คน ส่วน 10 อันดับประเทศที่มีจำนวนคนไทยลงทะเบียนเลือกตั้งมากที่สุด ประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย สหรัฐ จีน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เยอรมนี มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส

นายณรงค์กล่าวว่า การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนและบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กระทรวงมหาดไทย และไปรษณีย์ไทย โดยทั้ง 4 หน่วยงานจะมีการหารือเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ครั้งต่อไปในวันที่ 30 มีนาคม และในวันถัดไป กกต.จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการอำนวยการประจำศูนย์อำนวยการและการประสานงานการเลือกตั้งอีก ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ทำการอบรมเจ้าหน้าที่กงสุลและสถานทูตไทยในต่างประเทศให้มีความเข้าใจและความชำนาญ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินการการเลือกตั้งและอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทยที่อาศัยอยู่นอกราชอาณาจักร ผ่านการอบรมออนไลน์โดยมีวิทยากรจาก กกต. มาช่วยให้ความรู้และไขข้อข้องใจไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 และจะจัดอีกครั้งในวันที่ 31 มีนาคม 2566 นี้ ปัจจุบัน กกต.ได้สนับสนุนและทยอยส่งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคูหาเลือกตั้ง หีบบัตรเลือกตั้ง รวมถึงเครื่องมืออื่นๆ ที่มีความจำเป็นไปยังต่างประเทศแล้ว

นายณรงค์กล่าวว่า ช่วงเวลาในการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรคือ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม (00.01 น.) – 9 เมษายน (23.59 น.) ตามเวลาประเทศไทย โดยประชาชนสามารถใช้ช่องทางลงทะเบียนตามความสะดวกได้ดังนี้

Advertisement

1.การลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทย https://stat.bora.dopa.go.th/Election/popout  สิ่งที่ต้องเตรียมคือ บัตรประชาชน หมดอายุได้ แต่ต้องเป็นประเภทบัตรแบบ smart card ที่มีเลขหลังบัตร และหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ

2.ในกรณีที่หนังสือเดินทางหมดอายุ สามารถลงทะเบียนเลือกตั้งได้ด้วยตนเอง หรือส่งแบบฟอร์มสำหรับยื่นคำขอ (ดาวน์โหลดได้ที่ https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=405 ) ทางไปรษณีย์ / ทางโทรสาร / ทางอีเมล์ ไปที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ หรือจะสามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปลงทะเบียนได้ โดยต้องแนบสำเนาเอกสารแสดงตนที่ลงรายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว โดยเอกสารดังกล่าวหน่วยงานราชการต้องเป็นผู้ออกให้ และมีเลข 13 หลัก รวมถึงภาพถ่ายใบหน้า ที่มีอายุหรือหมดอายุแล้วก็ได้ อาทิ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาหนังสือเดินทาง หรือสำเนาใบขับขี่ เป็นต้น

นายณรงค์กล่าวว่า ในการพิจารณารูปแบบของการเลือกตั้ง ที่ประกอบด้วย การเลือกตั้งที่คูหา การเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์ และการเลือกตั้งแบบหน่วยเคลื่อนที่ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในประเทศนั้นๆ โดยสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม และการอำนวยความสะดวกของพื้นที่ที่มีความแตกต่างเรื่องที่ตั้ง นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้มีการจัดทำระบบการติดตามภายใน เพื่อใช้ตรวจสอบทุกขั้นตอนของการเลือกตั้ง และให้คำแนะนำคณะทำงานในทุกสถานเอกอัครราชทูตไทยทั่วโลก เพื่อให้การดำเนินงานถูกต้องตามขั้นตอน ช่วงเวลา และกฎหมายที่กำหนด

เมื่อถามว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เคยลงทะเบียนมาแล้วในอดีต จำเป็นต้องลงทะเบียนเลือกตั้งครั้งใหม่หรือไม่ นายณรงค์กล่าวว่า จำเป็น เพราะจะเป็นการช่วยอัพเดตข้อมูลผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศด้วย การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ต้องมีก่อนหน้าการเลือกตั้งในประเทศอย่างน้อย 12 วัน ก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในระหว่างวันที่ 24 เมษายน – 5 พฤษภาคม เนื่องจากมีปัจจัยในการส่งบัตรการเลือกตั้งกลับมานับคะแนนที่ไทยด้วย

ทั้งนี้ ประชาชนคนไทยสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ทางสื่อโซเชียลของสถานทูต สถานกงสุลใหญ่ในแต่ละประเทศ และแอพพ์ Smart Vote ของ กกต.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image