คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: 75 ปี เพิร์ลฮาร์เบอร์

Public Domain

ประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ เรียกขานวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ว่าคือ “วันแห่งความเสื่อมเสีย” เพราะในวันนั้นเมื่อ 75 ปีก่อน ฐานทัพเรือใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ถูกกองทัพญี่ปุ่นถล่มแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เสียหายยับเยิน

เครื่องบินรบจำนวน 347 ลำถูกทำลายหรือไม่ก็เสียหายจนใช้การไม่ได้ เรือรบหลายชนิดหลายขนาดรวม 21 ลำตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ถ้าไม่จมลงสู่ก้นอ่าวก็หลงเหลือเพียงแค่ซาก การโจมตีดังกล่าวส่งผลให้คนอเมริกันมากถึง 3,581 คน เสียชีวิตหรือไม่ก็ได้รับบาดเจ็บ มีทั้งทหาร เจ้าหน้าที่พลเรือน และประชาชนทั่วไป

ญี่ปุ่นใช้เครื่องบินหลายร้อยลำจากเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ สองระลอกจากทุกทิศทางอย่างย่ามใจ เพราะได้รับการต่อต้านเพียงเล็กน้อย เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในวันนั้น กองทัพญี่ปุ่นเสียเครื่องบินไปกับการโจมตีที่สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นอย่างหนักในครั้งนี้เพียง 29 ลำเท่านั้น

นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยระบุตรงกันประการหนึ่งว่า เหตุการณ์เพิร์ลฮาร์เบอร์ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ดึงสหรัฐเข้าสู่สงครามอย่างเป็นทางการและระดมสรรพกำลังเพื่อทำศึกแบบเต็มตัว

Advertisement

แต่ “เพิร์ลฮาร์เบอร์” มีอิทธิพลต่อการเมืองโลกมากกว่าการเป็นเพียงแค่ตัวชี้ขาดสงครามครั้งหนึ่งเท่านั้น เจฟฟรีย์ โรเบิร์ตส์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งคอร์ก ยูนิเวอร์ซิตี สหรัฐ ระบุด้วยซ้ำไปว่า อิทธิพลจากเหตุการณ์เพียงเหตุการณ์เดียวเมื่อ 75 ปีก่อนยังคงส่งผลสะเทือนมาจนถึงปัจจุบันนี้

ชนิดที่ผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงกะทันหันในครั้งนั้นยังไม่ทันส่งผลสะเด็ดน้ำด้วยซ้ำไป

เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หลากหลายเหตุการณ์ เพิร์ลฮาร์เบอร์มีบทเรียนมากมายหลายประเด็นให้เราได้ศึกษา เรียนรู้ และจดจำ น่าเสียดายที่นับวันเรายิ่งใส่ใจประวัติศาสตร์น้อยลงเรื่อยๆ

Advertisement

ยิ่งนับวันความสูญเสียซ้ำซากก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อประวัติศาสตร์วนย่ำมาซ้ำรอยเดิมอย่างรวดเร็ว

ในทรรศนะของ ศ.โรเบิร์ตส์ เหตุการณ์จู่โจมแบบ “เซอร์ไพรส์” ต่อกองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐที่ฮาวาย วนมาครบวาระ 75 ปีในห้วงเวลาที่ความขัดแย้งระหว่าง “มหาอำนาจ” ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก “ก่อตัว” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว

ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้โอกาสที่ “สงครามการค้า” เพื่อปกป้อง “ตำแหน่งงาน” ของคนอเมริกัน จะเกิดขึ้นตามมามีสูงมากกว่าครั้งไหนๆ เป็นสงครามการค้าที่เสี่ยงต่อการบ่อนทำลาย “การค้าเสรี” ที่นานาประเทศยึดถือกันมาหลายทศวรรษลง เพราะแรงเหนี่ยวนำจากการนำเอาลัทธิ “ปกป้องทางการค้า” ของสหรัฐ อาจส่งผลให้ทั่วโลกหันกลับไปใช้วิธีการเดียวกันตอบโต้ เศรษฐกิจกับการเมืองระหว่างประเทศอาจพันเข้าด้วยกันจนยุ่งเหยิงได้อีกคำรบ

ความพยายามในการ “สร้าง” และ “ครอบงำ” ระเบียบระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกของจีนที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมานั้น ถูก ศ.โรเบิร์ตส์นำไปเปรียบเทียบว่า เป็นไปในท่วงทำนองเดียวกันกับความพยายามแสวงหาอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเหนือเพื่อนบ้านในเอเชียของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1930 ที่เป็นเสมือนการ “โหมโรง” ศึกใหญ่ในภูมิภาคที่เรียกกันว่า มหาสงครามเอเชียบูรพา

ความแตกต่างอย่างสำคัญมีเพียงอย่างเดียว นั่นคือ ความพยายามขยายอิทธิพลของจีนในยามนี้โดยหลักแล้วเป็นเพียงการขยายอิทธิพลด้านเศรษฐกิจและการเมืองเป็นสำคัญ ไม่ใช่การแสวงหาอิทธิพลทางทหาร ความตึงเครียดในพื้นที่ทะเลจีนใต้ทวีสูงขึ้นมากในยามนี้ก็จริง แต่ก็ยังไม่น่าที่จะยั่วยุให้เกิด “สงครามโลก” ครั้งใหม่ขึ้นตามมา

แนวนโยบายหลักในการหาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ภายใต้สโลแกน “อเมริกาเฟิร์สต์” นั้นในความเห็นของศ.โรเบิร์ตส์ คล้ายคลึงแทบถอดแบบมาจากแนวทางของกลุ่มอเมริกัน “ไอโซเลชั่นนิสม์” ในยุคทศวรรษ 1930 อเมริกันกลุ่มที่แย้งว่า สหรัฐควรจำกัดตัวเองอยู่เพียงแค่การปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และไม่ข้องแวะ ยุ่งเกี่ยว หรือไปผูกพันตัวเองให้มีพันธะกับการเมืองในระดับโลก

ลัทธินิยมแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว เชื่อในทางตรงกันข้ามกับลัทธิสากลนิยม ซึ่งเชื่อว่า สหรัฐควรใช้อำนาจ อิทธิพลที่ตนเองมีในต่างแดน เพื่อสร้างสรรค์ระเบียบโลกที่สงบสันติและรุ่งเรืองขึ้น อันจะเป็นเครื่องการันตีผลประโยชน์นานาของสหรัฐได้ยืนยาวที่สุด

ข้อถกเถียงเรื่องนี้มีขึ้นในสหรัฐมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 รูปธรรมที่ชัดเจนก็คือ ความล้มเหลวของประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน ในการโน้มน้าวสภาคองเกรสและสาธารณชนอเมริกันให้เห็นพ้องในการนำประเทศเข้าเป็นภาคี “สันนิบาตชาติ” และแบกรับความรับผิดชอบในการสร้างสันติภาพอย่างเต็มที่หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1

การที่ผู้นำอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก้าวขึ้นมามีอำนาจและดำเนินความพยายามขยายดินแดนของตนอย่างวางใจ เช่นเดียวกับการที่จักรวรรดิญี่ปุ่นแผ่อิทธิพลทางทหารเข้าไปในจีน ในปี 1931 บ่อนทำลายความมั่นใจของไอโซเลชั่นนิสม์ไปไม่น้อย

แต่กว่ามติมหาชนอเมริกันทั้งประเทศจะสะวิงกลับมาอีกด้านหนึ่งอย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่าง “เพิร์ลฮาร์เบอร์” ขึ้นเท่านั้น

เพิร์ลฮาร์เบอร์เปลี่ยน “สงครามภาคพื้นยุโรป” ที่ฮิตเลอร์ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 1939 ให้กลายเป็น “สงครามโลก” ที่แท้จริงขึ้นมาเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงระยะเวลาห่างจากมหาสงครามครั้งแรกไม่นานนัก สหรัฐประกาศสงครามกับฮิตเลอร์ในยุโรป แล้วต่อด้วยการเปิดยุทธการในภาคพื้นแปซิฟิกตามมา

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สหรัฐหันมายึดนโยบายต่างประเทศแบบ “โกลบอลลิสต์” เต็มที่ บนพื้นฐานของการขยาย “ประชาธิปไตย” และ “การค้าเสรี” ที่หนุนหลังด้วยอิทธิพลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและอานุภาพทางทหารของตนเอง ดึงเอาแทบทุกประเทศที่ต่อต้าน “สหภาพโซเวียต” และต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “ระเบียบโลกใหม่” นี้

การพังทลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ กับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แยกออกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยในปี 1991 ดูเหมือนจะเปิดโอกาส “ไร้ขีดจำกัด” ให้สหรัฐดำเนินการตามแนวทาง “โกลบอลลิสต์” ขึ้นอยู่กับความทะยานอยากของตนเอง

จนกระทั่งเหตุการณ์สำคัญระดับโลกอย่าง “9/11” และสงคราม “แพงระยับ” และไร้จุดสิ้นสุดทั้งในอิรักและอัฟกานิสถาน เปิดโปงให้เห็นถึง “ข้อจำกัด” ของพลานุภาพของสหรัฐ

เรายังต้องติดตามกันต่อไปว่า ลัทธิไอโซเลชั่นนิสม์ที่พะยี่ห้อ “ทรัมป์” นั้นจะนำพาสหรัฐไปในทิศทางใด จะนำทำลายภาพของ “โลก” ที่สหรัฐในฐานะเอกะมหาอำนาจ พยายามปะติดปะต่อขึ้นก่อนหน้านี้ลงมากน้อยแค่ไหน หรือเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร

นักสังเกตการณ์หลายคนยังคงวางใจอยู่กับความคิดที่ว่า ในที่สุดแล้ว “ความเป็นจริง” ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นเครื่องมือบีบบังคับให้ทรัมป์จำเป็นต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบที่สอดคล้องกับความเป็นจริง มากกว่าที่จะหลับหูหลับตาเดินหน้าตามที่เคยหาเสียงไว้เพียงอย่างเดียว

ปัญหาก็คือ ก่อนหน้านี้โดนัลด์ ทรัมป์ เคยสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับความคาดหวังที่ว่านี้และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันแม้แต่นิดเดียวว่าจะไม่ทำอีกหลังจากนี้

ทําไมญี่ปุ่นถึงตัดสินใจโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์? คำถามนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง คำตอบของคำถามนี้ยิ่งน่าสนใจมากเช่นเดียวกัน

ข้อเท็จจริงที่น่าทึ่งประการหนึ่งก็คือ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ญี่ปุ่นยืนอยู่ฝ่ายเดียวกันกับสหรัฐ ร่วมกันประกาศสงครามต่อเยอรมนีในเวลานั้น แล้วทำไมจู่ๆ ถึงตัดสินใจกระทำการทั้งที่รู้ว่าจะส่งผลให้สหรัฐกระโจนเข้าสู่สงครามครั้งใหม่อย่างเต็มตัว

แน่นอนเหตุผลอย่างหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงของการเมืองภายในญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1930 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ญี่ปุ่นทำสนธิสัญญาวอชิงตันกับสหรัฐในปี 1922 เพื่อการจัดระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออก บนพื้นฐานของการค้าเสรี จีนในเวลานั้นเป็นอิสระ มีกองทัพเรือที่มีอำนาจจำกัด

สภาพที่ว่านี้เปลี่ยนไปเมื่อเกิด “ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ” ครั้งใหญ่ทั่วโลกในตอนปลายทศวรรษ 1920 แทบทุกชาติในเวลานั้นต้องหันมาหาเศรษฐกิจที่พึ่งพาตัวเองเป็นสำคัญ

ญี่ปุ่นพยายามทำอย่างเดียวกัน แต่ทำไม่ได้ เหตุผลสำคัญก็คือ ด้วยความจำกัดทางภูมิศาสตร์ของประเทศ ทำให้ไม่มีแหล่งพลังงานเป็นของตัวเอง ความแร้นแค้นที่เกิดขึ้นส่งผลให้การเมืองภายในของญี่ปุ่นโน้มเอียงไปในทางลัทธิทหารมากขึ้นตามลำดับ ในท่วงทำนองเดียวกันกับเยอรมนีและอิตาลี

เมื่อทางเดียวที่จะอยู่รอดได้คือการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยอาศัยอำนาจทางทหารนำหน้า ญี่ปุ่นก็เริ่มจับตาไปที่จีน ประเทศที่ “อ่อนแอและแตกแยก” ในเวลานั้น ญี่ปุ่นเข้าไปครอบครองเส้นทางรถไฟสายตะวันออกในจีน และในปี 1931 อาศัยข้ออ้างว่ามีการวินาศกรรมเส้นทางรถไฟสายดังกล่าว ญี่ปุ่นก็ส่งกำลังทหารบุกเข้ายึด “แมนจูเรีย”

จากแมนจูเรีย ญี่ปุ่นรุกขึ้นเหนือไปยึดปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ต่อด้วยนานกิง สร้างตำนานทารุณกรรมไว้ที่นั่นที่ยังคงกลายเป็น “บาดแผล” มาจนถึงปัจจุบันนี้

ทั้งหมดนั้นส่งผลให้สหรัฐตัดสินใจ “ปิดล้อม” ทางเศรษฐกิจต่อญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลสะเทือนต่อทั้งปัญหาเศรษฐกิจเดิมของญี่ปุ่นและความทะเยอทะยานทางทหาร เพราะในเวลานั้นน้ำมันเชื้อเพลิงมากถึง 81% ที่เคลื่อนย้ายไปมาในย่านเอเชียแปซิฟิก ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐ

ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ เพราะหมดหนทางอื่นแล้วในอันที่จะทลายการ “ปิดล้อม” ทางเศรษฐกิจที่ว่านี้

คำถามก็คือ สงครามการค้าครั้งใหม่จะนำโลกไปสู่จุดเดียวกันซ้ำกับเมื่อ 75 ปีก่อนอีกหรือไม่?

เมื่อหันกลับไปมองเพิร์ลฮาร์เบอร์อีกครั้ง นอกจากเราจะได้เห็นความล้มเหลวด้าน “การข่าว” ของสหรัฐที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกให้เห็นในเวลาต่อมา ทั้งในกรณี 9/11 และกรณี “อาวุธทำลายล้างสูง” ที่ไม่มีอยู่จริงของ ซัดดัม ฮุสเซน แล้ว หากพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน เราจะเห็นบทเรียนล้ำค่าอีกหลายอย่างมาก

เราได้เห็นสภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ที่ทำให้คนอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือ เบนิโต มุสโสลินี ขึ้นมาครองอำนาจทางการเมือง เราได้เห็นการเติบใหญ่ของลัทธิทหารในหลายต่อหลายประเทศ ได้เห็นผลพวงของแนวความคิดใช้กำลัง “ยึดครอง” และ “ขยายดินแดน” เพื่อผลประโยชน์ของชาติ ว่าลงเอยด้วยความเสียหายของผู้คนเป็นเรือนแสนเรือนล้านได้อย่างไร

ได้แต่คาดหวังกันว่า ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยหลัดๆ จะไม่ซ้ำรอยอีกครั้งรวดเร็วนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image