ทางเลือกของประเทศไทยสู่ความมั่นคงด้านน้ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน: มิติของอิสราเอล
เนื่องในวันอนุรักษ์น้ำโลก หรือ World Water Day ซึ่งตรงกับวันที่ 22 มีนาคมของทุกปี นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อเขียนที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรน้ำ ซึ่งถือเป็นปัญหาและความท้าทายหนึ่ง ผลจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก มีสาระดังนี้
หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ลดลง ประชาคมโลกกลับมาสนใจกับปัญหาและความท้าทายที่สำคัญที่สุด นั่นคือ วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงในมิติต่างๆ หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ประจักษ์ชัด คือการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรน้ำ อันส่งผลให้ฝนตกน้อยลง และมีภัยแล้งมากขึ้น ขณะเดียวกันหลายพื้นที่ทั่วโลกกลับต้องเผชิญกับวิกฤตฝนตกหนัก
ประเทศไทยมีแหล่งทรัพยากรน้ำเป็นจำนวนมาก อันประกอบด้วยแม่น้ำลำคลองหลายสายทั่วประเทศ แต่กระนั้นก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ กล่าวคือ ปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขณะเดียวกันในช่วงฤดูร้อนก็มีปัญหาการขาดแคลนน้ำบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท
ขณะที่ประเทศอิสราเอลมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แห้งแล้ง มีทรัพยากรน้ำจำกัดและประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ อิสราเอลจึงต้องพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในประเทศ และออกแบบการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด หนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือ อิสราเอลสร้างโรงกลั่นน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำจืด (Desalination Plants) หลายแห่งในพื้นที่แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โครงการดังกล่าวมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการบริหารจัดการน้ำภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น อิสราเอลยังมีแผนบริหารจัดการน้ำอีกหลายแนวทาง อาทิ การจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งนำน้ำเสียกว่าร้อยละ 90 ของแต่ละครัวเรือนกลับมาใช้ใหม่ ในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม อีกแนวทางหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำที่น่าสนใจคือ ระบบชลประทานน้ำหยด (Drip Irrigation) และระบบชลประทานแบบไมโคร (Micro Irrigation) ซึ่งเป็นระบบและวิธีการลดการใช้น้ำด้านเกษตรกรรม ผลที่ได้คือ นอกจากจะเพิ่มผลิตผลการเกษตรแล้วยังมีคุณภาพสูงด้วย ในขณะที่ใช้น้ำในปริมาณน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
อาจกล่าวได้ว่า รูปแบบการบริการจัดการน้ำและเทคโนโลยีของอิสราเอล สามารถแก้ปัญหาความมั่นคงด้านน้ำของประเทศได้และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง จนกลายมาเป็นแบบอย่างให้ประเทศต่างๆ นำไปปรับและประยุกต์ใช้ เพื่อให้เหมาะกับบริบทและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ โดยส่งผลเชิงบวกต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
อิสราเอลได้พัฒนาความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมเทคโนโลยีหลายประเภทและครอบคลุม ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ระบบการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Water Desalination) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงลดการพึ่งพาน้ำฝนตามฤดูกาลได้อีกด้วย ระบบบำบัดน้ำเสียของอิสราเอลก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้
ทั้งนี้รูปแบบการบำบัดน้ำเสียของอิสราเอลนอกจากจะช่วยลดมลพิษในแม่น้ำและพื้นดินแล้ว ยังสามารถผลิตน้ำสะอาดไว้ใช้ในภาคการเกษตรได้อย่างพอเพียง สำหรับนวัตกรรมด้านระบบชลประทานน้ำหยด และระบบชลประทานแบบไมโคร ของอิสราเอลนั้น ได้มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทยแล้ว โดยส่งผลเป็นที่น่ายินดี กล่าวคือ นวัตกรรมทั้งสองประเภทข้างต้นนี้ ได้ช่วยให้เกษตรกรชาวไทยมีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพสูงขึ้น โดยใช้น้ำในปริมาณที่น้อยลงมาก
กล่าวโดยรวมแล้ว องค์ความรู้และประสบการณ์การจัดการทรัพยากรน้ำของอิสราเอล สามารถเป็นแนวทางที่สำคัญแนวทางหนึ่งสำหรับประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยได้ทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐบาลของไทยหลายหน่วยงานทั่วประเทศ เพื่อร่วมพัฒนาการบริหารจัดการน้ำ อย่างเช่น ความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อลดและป้องกันปัญหาที่เกิดจากน้ำท่วม ด้วยการใช้เทคโนโลยีคาดการณ์ของโอกาสการเกิดน้ำท่วมและระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่อิสราเอลได้ศึกษาและพัฒนามาแล้ว ระบบเหล่านี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ของกทม. สามารถคาดการณ์ความเสี่ยงจากน้ำท่วมและจัดการได้อย่างรวดเร็ว อันเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยป้องกันหรือลดความเสียหายได้
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำในพื้นที่เมือง เช่น การพัฒนาระบบการระบายน้ำ ระบบตรวจสอบคุณภาพน้ำ ระบบป้องกันน้ำรั่วซึม ฯลฯ รูปแบบการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอิสราเอล สามารถนำไปปรับใช้ในหลายประเทศซึ่งเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน
อิสราเอลมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้ด้านเทคโนโลยีและรูปแบบการบริหารจัดการน้ำให้มิตรประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบการจัดการน้ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และนำนวัตกรรมแนวทางใหม่ๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการการเกษตรแบบแม่นยำ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล หรือกระบวนการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดความจำเป็นในการพึ่งพาแหล่งน้ำ ทั้งยังช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้อีกด้วย
ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการลงทุนเพื่อแสวงหาวิธีแก้ไขปัญหาในระยะยาว จะเป็นกลไกสำคัญยิ่งต่อการสร้างอนาคตที่เจริญรุ่งเรือง มั่นคงและอุดมสมบูรณ์ ทั้งเพื่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก