อนามัยโลกเผย หญิงจีนวัย 56 ติดเชื้อไข้หวัดนก H3N8 ดับรายแรก
องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) รายงานเมื่อวันอังคาร (11 เม.ย.) ว่า หญิงชาวจีน อายุ 56 ปี ได้เสียชีวิตลงจากการติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H3N8 ซึ่งนับเป็นการเสียชีวิตของมนุษย์จากไข้หวัดนกสายพันธุ์นี้เป็นรายแรกเท่าที่มีการรับทราบกัน
องค์การอนามัยโลกระบุว่า หญิงผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดนกสายพันธุ์ H3N8 นี้มาจากมณฑลกวางตุ้ง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ซึ่งล้มป่วยลงเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ และได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรงเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ก่อนเธอจะเสียชีวิตลงในวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา
“ผู้ป่วยรายนี้มีอาการหลายอย่าง มีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกเป็นๆ ก่อนที่จะเกิดโรค และยังพบว่ามีนกป่าอาศัยอยู่รอบๆ บ้านของเธอ” องค์การอนามัยโลกระบุ และว่า ณ เวลานี้ ยังไม่มีผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายนี้ที่ติดเชื้อหรือมีอาการป่วยแต่อย่างใด
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในขณะที่การสัมผัสกับตลาดขายสัตว์ปีกเป็นๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ แต่ยังคงไม่ชัดเจนว่าแหล่งที่มาที่แท้จริงของการติดเชื้อครั้งนี้คืออะไรและเกี่ยวข้องกับไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H3N8) ที่แพร่กระจายอยู่ในสัตว์ได้อย่างไร โดยองค์การอนามัยโลกยังเรียกร้องให้มีการสอบสวนโรคในสัตว์และคนเพิ่มเติม
ทั้งนี้เป็นที่ทราบว่าไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H3N8 มีการแพร่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2002 หลังพบครั้งแรกในนกน้ำในอเมริกาเหนือ ซึ่งทำให้ม้า สุนัข และ แมวน้ำติดเชื้อ แต่ยังไม่มีการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์นี้ในมนุษย์ ก่อนที่จะพบผู้ติดเชื้อ 2 รายในประเทศจีนที่ไม่ได้ถึงขั้นเสียชีวิตในเดือนเมษายนและในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดย 1 ใน 2 รายนี้ มีอาการป่วยขั้นวิกฤต ส่วนอีกรายมีอาการป่วยเล็กน้อย ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้ป่วยติดเชื้อ H3N8 ทั้งสองรายนี้อาจได้รับเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงหรือทางอ้อมจากสัตว์ปีกที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว
“ดูเหมือนว่าไวรัสสายพันธุ์นี้ไม่มีความสามารถที่จะแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่าย ดังนั้นความเสี่ยงที่ไวรัสจะแพร่กระจายในหมู่ผู้คนในระดับประเทศ ภูมิภาคและนานาชาติ จึงถือว่ามีอยู่ต่ำ อย่างไรก็ดีเนื่องจากธรรมชาติของไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลกจึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังทั่วโลก เพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงทางไวรัสวิทยา ระบาดวิทยาและทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ (หรือสัตว์)” องค์การอนามัยโลกระบุ