พิษ ‘เอลนิโญ’ ทำโลกเสี่ยง อุณหภูมิพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ปีนี้

พิษ ‘เอลนิโญ’ ทำโลกเสี่ยง อุณหภูมิพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ปีนี้

อุณหภูมิโลกในปี 2566 และ 2567 อาจทำลายสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีแรงหนุนจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก บวกกับการกลับมาของปรากฏการณ์เอลนิโญ

รูปแบบของสภาพอากาศแสดงให้เห็นว่าหลังจาก 3 ปีที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศจากลานิญาในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิโลกลดลงเล็กน้อย โลกกำลังกลับไปเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนิโญ ซึ่งจะทำให้สภาพอากาศร้อนเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปลายปีนี้

ปรากฏการณ์เอลนิโญเกิดขึ้นเมื่อลมที่พัดไปทางทิศตะวันตกตามแนวเส้นศูนย์สูตรพัดช้าลง และกระแสน้ำอุ่นจะถูกผลักไปทางตะวันออก ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวของมหาสมุทรอุ่นขึ้น

Advertisement

นายคาร์โล บูออนเทมโป ผู้อำนวยการศูนย์โคเปอร์นิคัส ซึ่งเป็นหน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่า โดยปกติแล้วเอลนีโญมักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิที่ทำลายสถิติโลก ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามันจะเกิดขึ้นในปี 2566 หรือ 2567

บูออนเทมโปกล่าวว่า แบบจำลองสภาพภูมิอากาศบ่งชี้ว่า สภาพอากาศเอลนิโญจะกลับมาในช่วงปลายฤดูร้อนที่ซีกโลกเหนือ และมีความเป็นไปได้ที่เอลนิโญจะรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปีนี้

นับจนถึงปัจจุบัน ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์คือปี 2559 ซึ่งเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญที่รุนแรง อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกก็กระตุ้นให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้น แม้ในช่วงหลายปีที่ไม่เกิดเอลนิโญขึ้นก็ตาม

Advertisement

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นปีที่อุณหภูมิโลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกัน ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มของภาวะโลกร้อนในระยะยาว ซึ่งได้รับแรงผลักดันจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ฟริดดริค ออตโต อาจารย์อาวุโสจากอิมพีเรียลคอลเลจในกรุงลอนดอน กล่าวว่า เอลนีโญอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลงไปอีก ซึ่งส่งผลกระทบกับประเทศต่างๆ ที่กำลังประสบปัญหาอยู่แล้ว ตั้งแต่คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และไฟป่า

“หากเอลนิโญพัฒนาขึ้นต่อไป มีโอกาสที่ปี 2566 จะร้อนกว่าปี 2559 เมื่อคำนึงว่าโลกยังคงร้อนขึ้น ในขณะที่มนุษย์เรายังเร่งเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล” ออตโตกล่าว

นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์โคเปอร์นิคัสของอียูยังออกรายงานประเมินสภาพอากาศสุดขั้วที่โลกเผชิญเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 5 ในประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้ยุโรปเจอกับฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปากีสถาน และในเดือนกุมภาพันธ์ ระดับน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

ศูนย์โคเปอร์นิคัสยังระบุด้วยว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในขณะนี้สูงกว่าในยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.2 องศาเซลเซียส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image