วงเสวนาญี่ปุ่นดัน “เทเลเวิร์ก” สร้างสมดุลงาน-ชีวิต หนุนทำงานจากบ้าน

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากโรงแรมปริ๊นซ์ โฮเทล ทาคานะวะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถึงบรรยากาศงานประชุมสมัชชาโลกเพื่อสตรี 2016 เป็นวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย โดยในวันนี้เป็นการประชุมแบบโต๊ะกลมของตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก เพื่อถกเถียงประเด็นหลากหลายด้านเกี่ยวกับผู้หญิง ได้แก่ การพัฒนาบทบาทสตรีในงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การส่งเสริมความเป็นผู้นำ การปรับปรุงสุขอนามัย พลังของผู้หญิงในด้านความมั่นคงและสันติภาพ รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศในมุมมองของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่ง คือ การจัดการความสมดุลระหว่างงานและชีวิต ซึ่งมีผู้เข้าฟังจำนวนมากจนเต็มห้องประชุม โดยมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความสมดุลด้านการทำงานและชีวิตซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญในญี่ปุ่น เนื่องจากคนญี่ปุ่นมักทุ่มเทเวลากับการทำงานอย่างยาวนาน ในอีกด้านหนึ่ง ผู้หญิงจำนวนมากลาออกจากงานเพราะเหตุผลเกี่ยวกับครอบครัว ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่า ผู้หญิงญี่ปุ่น 17% ลาออกหลังแต่งงาน และจำนวนมากถึง 46.9% ที่ลาออกหลังการคลอดบุตรคนแรก ดังนั้น การจัดการชีวิตและงาน จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับสังคมญี่ปุ่นในขณะนี้ รัฐบาลจึงมีความพยายามที่จะช่วยเหลือด้วยวิธีต่างๆ เช่น สนับสนุนให้ปรับทัศนคติในการทำงานอย่างสมดุล ส่งเสริมแนวคิดการทำงานจากที่บ้าน รวมถึงมีความพยายามที่จะปรับปรุงระบบโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับเด็กและสตรี เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรซึ่งบอกเล่าประสบการณ์ในการจัดการเรื่องดังกล่าว รวมถึงความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายฮิโรโนบุ นาริซาว่า นายกเทศมนตรีเมืองบุงเกียว ซึ่งเป็นหนึ่งใน 23 เขตการปกครองพิเศษของกรุงโตเกียว กล่าวว่า การเปลี่ยนทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญสำหรับญี่ปุ่น วัฒนธรรมญี่ปุนคือ ผู้ชายออกไปทำงาน ผู้หญิงอยู่บ้าน นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังนิยมทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน รูปแบบการทำงานเช่นนี้ควรได้รับการเปลี่ยนแปลง ขอให้ดูตัวอย่างจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชั่วโมงการทำงานน้อยมาก แต่ก็ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ต้องมีการสนับสนุนระบบการดูแลเด็ก เนื่องจากหลายครอบครัวจ้างพี่เลี้ยงเด็ก เพราะต้องทำงาน

Advertisement

นายโชจิ อิโต ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร บริษัทประกันภัยซอมโป เจแปน นิปปงคะโอะ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์นับร้อยปีของญี่ปุ่น คือผู้ชายออกไปทำงานนอกบ้าน ส่วนผู้หญิงอยู่บ้านดูแลลูก ตอนนี้ถึงเวลาต้องเปลี่ยนความคิดของผู้ชาย นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการปฏิรูประบบการทำงาน อีกทั้ง เวลาของผู้หญิง ถูกขโมยไปโดยผู้ชาย เช่น เจ้านาย

“ต้องเปลี่ยนสไตล์การทำงาน จากที่เดินทางไปสำนักงานมาเป็นการทำงานที่เรียกว่า เทเลเวิร์ก หรือ การทำงานจากบ้าน โดยใช้เทคโนโลยีซึ่งจะช่วยจัดการเรื่องเวลา ช่วยให้ทำกิจกรรมได้มากขึ้น และเราพร้อมแล้วสำหรับความท้าทายนี้” นายโชจิ กล่าว

นางเจนนิฟเอร์ เซมากุลา มูซิซิ ผู้อำนวยการสำนักการปกครองกรุงกัมปาลา ประเทศยูกันดา กล่าวว่า ในปัจจุบัน การสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการทำงาน กลายเป็นปัญหา ผู้ชายไม่ต้องทำงานบ้าน ในขณะที่ผู้หญิงกลับจากทำงานตอนเย็น ยังต้องทำครัว และอื่นๆ ทั้งที่เราอยากมีเวลาออกกำลังกาย ทำสวน อยากให้เวลากับตัวเอง ส่วนกรณีที่มีลูก การจ้างพี่เลี้ยงเด็กตามศูนย์ก็ราคาแพง บางครั้งจึงเป็นการให้ญาติๆช่วยเลี้ยง การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ คือ การให้ผู้หญิงเข้าถึงคอมพิวเตอร์เพื่อที่จะสามารถทำงานจากที่บ้าน

Advertisement

นางสาวเอลิซ มัวซอง ผู้อำนวยการ “Force FEMMES” ซึ่งเป็นองค์กรเกี่ยวกับสตรีซึ่งไม่แสวงหาผลกำไร กล่าวว่า เพศภาวะในประเทศฝรั่งเศส คู่สมรส 1 ใน 3 คู่ ประสบปัญหาหย่าร้าง นอกจากนี้ ยังมีช่องว่างระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายในเรื่องความเท่าเทียม ปัจจุบัน ผู้หญิงฝรั่งเศสยังต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมในเรื่องเงินเดือนและอื่นๆ โดยสรุปแล้ว เรื่องเหล่านี้ยังต้องการเวลาในการพัฒนา อีกทั้งปรับเปลี่ยนทัศนคติบางอย่างในสังคม

นางคามีน จอห์นสัน สมิธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ จาไมกา กล่าวว่า ตนเคยเป็นนักกฎหมาย ต่อมาเข้าสู่แวดวงการเมือง และได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา พร้อมกันนั้นก็วางแผนการแต่งงานไปด้วย ซึ่งคู่หมั้นก็รู้สึกกังวลเรื่องความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว ดังนั้น เราจึงต้องมีการวางแผน เปลี่ยนความคิด และให้เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้

15541346_10154805284337733_9177750742190636675_n

ทั้งนี้ งานประชุมสมัชชาโลกเพื่อสตรี หรือ The world Assembly for women (WAW!) เป็นการประชุมระดับนานาชาติที่จัดขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมที่ผู้หญิงทุกคนสามารถเปล่งประกายคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดหลักของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยเป็นการอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงทั้งในญี่ปุ่นและประชาคมโลก จัดขึ้นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2014 โดยมีผู้นำระดับสูงที่เกี่ยวกับสตรีจากทั่วโลกเดินทางมาร่วม รวมถึงตัวแทนจากไอเอ็มเอฟ ต่อมา ครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2015 มีผู้นำจากหน่วยงานกว่า 130 รายทั่วโลกเข้าร่วม โดยมีการถกเถียงในประเด็นด้านการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับบทบาททางเพศ, แม่เลี้ยงเดี่ยว, ผู้หญิงกับความก้าวหน้าในสายงานวิทยาศาสตร์, การศึกษา และสุขาภิบาลสำหรับสตรี เป็นต้น
สำหรับครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 ธ.ค. ซึ่งนอกจากการบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษเกี่ยวกับความก้าวหน้าของสตรีในบทบาทที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image