ฉลองกว่า 60 ปี แห่งความร่วมมือสหภาพยุโรป-ประเทศไทยในวันยุโรป

ฉลองกว่า 60 ปี แห่งความร่วมมือสหภาพยุโรป-ประเทศไทยในวันยุโรป

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของฝรั่งเศส นายชูมัน ได้นำเสนอข้อเสนอให้จัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community-ECSC) เพื่อรวบรวมการผลิตถ่านหินและเหล็กกล้าซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้ในการทำสงครามของฝรั่งเศสและเยอรมันเข้าด้วยกัน ไว้ภายใต้คณะกรรมาธิการ (High Authority) ในองค์กรเดียวกันที่เปิดรับประเทศในยุโรปประเทศอื่นด้วย นี่คือรากฐานของการก่อตั้งสหภาพยุโรป (European Union) ในปัจจุบัน ซึ่งในตอนแรกประกอบด้วยหกประเทศสมาชิก ประเทศต่างๆ ที่ฟื้นขึ้นจากเถ้าถ่านของสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งที่เป็นคู่อริกันมาหลายศตวรรษก็ได้ตัดสินใจรวบรวมทรัพยากรและโชคชะตาของพวกเขาเข้าด้วยกัน เพื่อผลักให้ความขัดแย้งระหว่างกันกลายเป็นเรื่องที่คิดไม่ถึงอีกต่อไปและเป็นหลักประกันแห่งสันติภาพและความร่วมมืออย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนตลอดกว่า 70 ปีที่ผ่านมา

การก่อตั้งยุโรปเป็นเสมือนปาฏิหาริย์หลังจากหลายศตวรรษแห่งการนองเลือด การรวมตัวนี้ยังกลายเป็นแบบอย่างอันน่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งที่ประเทศต่างๆ จะสามารถบรรลุผลร่วมกันได้ หากพวกเขาปฏิเสธการรุกราน วางความแตกต่างของพวกเขาเอาไว้ก่อน มุ่งมั่นทำงานร่วมกันภายใต้แนวทางที่ขึ้นอยู่กับกฎกติกาและค่านิยมร่วมกันเพื่อไปสู่ประโยชน์ร่วมกัน ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนของประเทศที่พร้อมจะสละอำนาจอธิปไตยบางส่วนแก่สถาบันแบบเหนือรัฐของยุโรปและร่วมมือกันเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันสหภาพยุโรปมีประเทศสมาชิก 27 ประเทศ และตัวเลขของประเทศที่เป็นผู้สมัครและผู้สมัครที่มีศักยภาพก็สูงขึ้นเรื่อยๆ

วันนี้ ความมั่นคงและเสถียรภาพในยุโรปและในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกกำลังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามอีกครั้ง เมื่อการรุกรานที่ปราศจากการยั่วยุและไม่ชอบธรรมของรัสเซียต่อยูเครนฝ่าฝืนหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญของกฎบัตรสหประชาชาติ มติล่าสุดของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 มี 141 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ประนามการรุกราน ยืนหยัดเขตอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของยูเครน และเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังทหารทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อสันติภาพที่เป็นธรรม สำหรับความท้าทายนี้ สหภาพยุโรปยืนหยัดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ยืนหยัดในคำมั่นสัญญาของตนเองต่อสันติภาพที่เป็นธรรมในกรอบของระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ความสามัคคีคือการตอบโต้ของเราต่อทุกภัยคุกคามระดับโลก ตั้งแต่ความขัดแย้งไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่โรคระบาดไปจนถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่ได้ปราณีทวีปของเราเลย เราสามัคคีกันเพื่อกฎหมายระหว่างประเทศ การพัฒนาอันยั่งยืนและเป็นธรรม และสิทธิมนุษยชนสากล ประการเหล่านี้เป็นเสาหลักของสหภาพยุโรปและหลักการต่างประเทศของเรา ในการทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศ

Advertisement

สหภาพยุโรปในฐานะกลุ่มรัฐอุตสาหกรรม 27 ประเทศที่เปิดรับความสัมพันธ์ฉันท์มิตรทั่วโลก เป็นหุ้นส่วนทางการค้ารายหลักในหลายประเทศและเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านการพัฒนารายใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นผู้ส่งเสริมที่กระตือรือร้นของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน เราหมายมั่นที่จะกระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรนานาชาติเพื่อผลประโยชน์และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน โดยใช้เครื่องมือทางนโยบายหลากหลาย เช่น Global Gateway ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มระดับโลกมูลค่ากว่า 300 พันล้านยูโร รวบรวมกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป สหภาพยุโรป และกองทุนภาคเอกชนเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการเชื่อมต่อกันด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงาน สาธารณสุข การศึกษา และหลากหลายภาคส่วน

ในบรรดาพันธมิตรทั่วโลก สหภาพยุโรปกำลังกระชับความร่วมมือในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรอยู่อาศัยมาก มีความเจริญ และมีนวัตกรรมมากที่สุดในโลก ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหภาพยุโรปวางแนวความร่วมมือ 7 ด้าน ตั้งแต่ความมั่นคงในมิติต่างๆ ไปจนถึงการบริหารจัดการการค้าและมหาสมุทร ตั้งแต่การเชื่อมต่อทางกายภาพและดิจิทัลไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในกรอบนี้ เราตระหนักถึงความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน – หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของเรา – และเราก็สนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรประดับผู้นำสมัยพิเศษ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 เป็นวาระครบรอบ 45 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของค่านิยมและหลักการร่วมกัน เช่น ระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย กฎหมายระหว่างประเทศ พหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และการค้าเสรีและเป็นธรรม

ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนหลักของสหภาพยุโรปในกลุ่มประเทศอาเซียน วันนี้ ณ สวนลุมพินี ผมได้ปลูกต้นพะยูง พันธุ์ไม้หายาก ร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 60 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตที่เบ่งบานของเรา กว่าหกทศวรรษของความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ สหภาพยุโรปได้กลายมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสี่ของประเทศไทย โดยมีมูลค่า การค้าสินค้าถึง 42.1 พันล้านยูโรในปี 2565 ในแต่ละวัน สหภาพยุโรปและประเทศไทยซื้อขายสินค้ากันเป็นมูลค่ากว่า 115 ล้านยูโร สหภาพยุโรปยังเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับสามในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงสะสมมากกว่า 32.5 พันล้านยูโร และมีบริษัทที่จดทะเบียนมากกว่า 18,000 แห่ง สร้างงานให้คนไทยกว่า 160,000 ตำแหน่ง เมื่อปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวจากสหภาพยุโรปกว่า 1.4 ล้านคนเดินทางมาเยือนประเทศไทย ขณะที่เดือนแรกของปี 2566 ก็บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวกลับไปสู่ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิดด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงถึง 3.5 ล้านคน การลงนามในความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (PCA) ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และการประกาศเริ่มกลับมาเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ใหม่อีกครั้ง เป็นการปูทางไปสู่ศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขยายความร่วมมือของเราให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

Advertisement

เส้นทางสู่ประชาธิปไตยของประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยแข็งแรงยิ่งขึ้น และผมหวังว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญต่อไปบนเส้นทางสายนี้ ในประชาธิปไตยทุกแบบของเรา เราต่างเผชิญกับความท้าทายในการรับประกันกระบวนการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ ครอบคลุม และโปร่งใส โดยการสนับสนุนจากสถาบันต่างๆ ที่เป็นอิสระ

สหภาพยุโรปพร้อมที่จะทำงานต่อไปร่วมกับรัฐบาลใดๆ ที่เป็นผลสะท้อนมาจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย ตามผลการตัดสินของหีบใส่บัตรลงคะแนน เราตั้งตารอที่จะเพิ่มความร่วมมือของเราให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงนี้ พร้อมทั้งขยายความเป็นหุ้นส่วนให้มากยิ่งขึ้นในด้านความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนของเรา ของภูมิภาค และของโลก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image