‘ไอแอลโอ’เผยแนวโน้มน่าเป็นห่วง อัตราการเพิ่มค่าจ้างของแรงงานทั่วโลกชะลอตัวลง

AFP PHOTO / NICHOLAS KAMM

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า อัตราการเติบโตของค่าแรงทั่วโลกชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ นับเป็นพัฒนาการที่น่าเป็นห่วงซึ่งอาจจุดชนวนให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและยังเป็นการระงับยับยั้งการใช้จ่ายทั่วโลก อ้างอิงจากรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) หน่วยงานในสังกัดของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม

รายงานเรื่องดังกล่าวที่ไอแอลโอเผยแพร่ทุกๆ 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาระบุว่า อัตราการเพิ่มของค่าแรงที่ชะลอตัวลงอย่างมากในประเทศกำลังพัฒนาเป็นปัจจัยหลักของแนวโน้มดังกล่าว โดยรายงานฉบับนี้ศึกษาดูค่าจ้างของแรงงานในทุกภูมิภาคเพื่อที่จะให้ภาพรวมอย่างกว้างๆ ว่า โลกกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางไหนในแง่ของรายได้ในครัวเรือนและอำนาจซื้อ

แถลงการณ์ของไอแอลโอระบุว่า “โดยรวมแล้ว การเติบโตของรายได้ทั่วโลกชะลอตัวลงนับตั้งแต่ปี 2555 จาก 2.5 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 1.7 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี” ซึ่งเดบอราห์ กรีนฟีลด์ รองผู้อำนวยการไอแอลโอระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องน่ากังวลมาก เนื่องจากนับตั้งแต่หลังวิกฤตการเงินปี 2551 เป็นต้นมา อัตราการเติบโตของค่าจ้างมีความยั่งยืนจากผลงานทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บราซิล อินเดีย และแอฟริกาใต้

แต่พัฒนาการดังกล่าวชะลอตัวลงหรืออาจเรียกได้ว่าถึงขั้นหยุดชะงัก ยกเว้นเพียงในจีนที่อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าแรงยังคงแข็งแกร่ง โดยรายงานระบุว่า ปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาส่วนหนึ่งอาจมาจากการล่มสลายของราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์

Advertisement

ขณะที่รายงานพบว่า ค่าแรงในประเทศร่ำรวยเติบโตในอัตราเร็วที่ดีกว่า แต่เตือนด้วยว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตของค่าแรงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image