‘กองทุนสัตว์ป่าโลก’เผยนักวิทย์ค้นพบ163สปีชีส์ใหม่แถบภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

มูซา นาเนนซิส หรือ กล้วยศรีน่าน 1 ใน 163 สปีชีส์ที่ค้นพบใหม่ / WWF/Sasivimon Swangpol/Handout via Reuters

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมว่า งูที่มีลายบนหัวเป็นสายรุ้ง และสัตว์เลื้อยคลานจำพวกจิ้งเหลนกิ้งก่าที่มีรูปร่างคล้ายมังกร อยู่ในบรรดาสัตว์และพืช 163 สายพันธุ์ หรือสปีชีส์ ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบใหม่ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมระบุว่า การพัฒนาที่รวดเร็วในภูมิภาค ตั้งแต่การสร้างเขื่อนไปจนถึงการทำเหมืองแร่ เป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของสัตว์ป่า

ตุ๊กแกบอนคอฟสกี้ 1 ใน 163 สปีชีส์ที่ค้นพบใหม่ / WWF/Thomas Calame/Handout via Reuters
ตุ๊กแกบอนคอฟสกี้ 1 ใน 163 สปีชีส์ที่ค้นพบใหม่ / WWF/Thomas Calame/Handout via Reuters

การค้นพบดังกล่าวที่ตีพิมพ์ในรายงานเผยแพร่วันเดียวกันนี้ ยังรวมถึงตุ๊กแกที่มีผิวสีฟ้าซีดในลาว และกล้วยสายพันธุ์หายากทางตอนเหนือของไทยที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากมีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้น

ลุ่มแม่น้ำโขงถือเป็นที่อยู่ของสปีชีส์ที่อยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด โดยชิ้นส่วนอวัยวะของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ อาทิ กระดูกเสือและนอแรด ถูกมองว่าเป็นของสะสม และบางชนิดถูกใช้เป็นส่วนผสมของตำรับยาพื้นบ้านด้วย

ค้างคาวมูรีนา คอนตูเมนซิส/WWF/Nguyen Truong Son/Handout via Reuters
ค้างคาวมูรีนา คอนตูเมนซิส/WWF/Nguyen Truong Son/Handout via Reuters

นายจิมมี โบราห์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ป่าของดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระบุว่า การค้นพบสปีชีส์ใหม่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ยังมีความหวังในช่วงเวลาที่อัตราการสูญพันธุ์ของสปีชีส์ต่างๆ เพิ่มขึ้นในระดับที่น่าตกใจ

Advertisement

ทั้งนี้ ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายของโลก นายโบราห์ระบุว่า นักสะสมจำนวนมากยอมจ่ายเงินหลายพันหลายหมื่นดอลลาร์ เพื่อให้ได้สปีชีส์ที่หายาก เป็นเอกลักษณ์ และใกล้สูญพันธุ์ และเพื่อป้องกันสปีชีส์เหล่านี้ เราต้องบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้นต่อผู้ล่า และทลายแหล่งค้าผิดกฎหมายให้หมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image