เปิดเบื้องลึกความสำคัญของ “เขื่อนคาคอฟกา” ที่ ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ต่างโบ้ยอีกฝ่ายบึ้มเขื่อนแตก

ภาพถ่ายบริเวณเขื่อนคาคอฟกาแตก ในแคว้นเคอร์ซอน ทางตอนใต้ของประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน (รอยเตอร์)

เปิดเบื้องลึกความสำคัญของ “เขื่อนคาคอฟกา” ที่ ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ต่างโบ้ยอีกฝ่ายบึ้มเขื่อนแตก

เขื่อนคาคอฟกา ที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำดนิโปร ในแคว้นเคอร์ซอน ทางตอนใต้ของประเทศยูเครน ที่จู่ๆ ก็เกิดแตกขึ้นมาเมื่อวันอังคาร(6 มิ.ย.) จนต้องเร่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงน้ำไหลบ่าท่วมนั้น มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างไรกับทั้งยูเครน และ รัสเซีย คู่สงครามที่กำลังสู้รบกันอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวขณะนี้

เขื่อนคาคอฟกาแห่งนี้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟกาของยูเครน มีความสูง 30 เมตร และยาว 3.2 กิโลเมตร ก่อสร้างขึ้นโดยสหภาพโซเวียตสมัยโจเซฟ สตาลิน ก่อนที่การก่อสร้างเขื่อนจะแล้วเสร็จสมัยนิกิตา ครุสชอฟ เขื่อนดังกล่าวเชื่อมแม่น้ำดนิโปร ซึ่งขณะนี้เป็นแนวหน้าการสู้รบระหว่างกองกำลังทหารรัสเซียและกองกำลังทหารยูเครน

ภาพถ่ายทางดาวเทียมเหนือเขื่อนคาคอฟกา (รอยเตอร์)

การสร้างอ่างเก็บน้ำคาคอฟกา ขนาด 2,155 ตร.กม.ในสมัยโซเวียต ทำให้ผู้คนราว 37,000 คน ต้องอพยพย้ายออกจากบ้านเรือนของตนในพื้นที่นี้ เขื่อนคาคอฟกากักเก็บปริมาณน้ำได้ 18 ลูกบาศก์กิโลเมตร เทียบได้เท่ากับทะเลสาบเกรทซอลท์เลค ในรัฐยูทาห์ ของสหรัฐอเมริกา

Advertisement

เขื่อนแห่งนี้ยังเป็นแหล่งน้ำส่งป้อนพื้นที่บนคาบสมุทรไครเมีย ที่เคยเป็นของยูเครน แต่ถูกรัสเซียผนวกเข้าเป็นของตนเองในปี 2014 และยังเป็นแหล่งน้ำที่จัดส่งไปยังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียของยูเครน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปด้วย

ใครทำเขื่อนแตก?

ยูเครน ออกมากล่าวหารัสเซียว่าเป็นฝ่ายก่อวินาศกรรมโจมตีเขื่อนคาคอฟกา โดยประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวหากองกำลังทหารรัสเซียว่าจุดระเบิดขึ้นภายในโรงไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟกา ซึ่งรัสเซียจะต้องรับผิดชอบต่อการก่อการร้ายดังกล่าว

Advertisement

ด้านโฆษกกองทัพยูเครนชี้ว่า เป้าหมายของรัสเซียในการก่อการครั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารยูเครนข้ามแม่น้ำดนิโปร เพื่อบุกโจมตีตอบโต้กองกำลังรัสเซียที่ควบคุมพื้นที่อีกฝั่งได้

ฝ่ายรัสเซียโต้กลับว่ายูเครนว่าเป็นฝ่ายลงมือก่อวินาศกรรมเขื่อนคาคอฟกาเอง เพื่อตัดการส่งน้ำไปยังดินแดนไครเมียและเบี่ยงเบนความสนใจจากการโจมตีตอบโต้ที่ไม่แน่นอนของตนเอง

ก่อนหน้านั้น วลาดิมีร์ โรกอฟ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซียในเมืองซาปอริซเซีย กล่าวอ้างว่า ไม่มีการโจมตีเกิดขึ้น ส่วนเหตุเขื่อนแตกนั้นมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวเขื่อนก่อนหน้าและจากแรงดันของน้ำในเขื่อน ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่สื่อรัสเซียรายงาน

ผลกระทบจากเหตุเขื่อนคาคอฟกาพัง

การไหลบ่าของมวลน้ำจากเขื่อนคาคอฟกาแตก ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันตามมา ส่งผลให้ประชาชนหลายหมื่นคนในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบ โดยมีการอพยพประชาชนหลายพันคนออกไปยังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว โดยทางการยูเครนประเมินว่า ประชาชนราว 42,000 คน ในพื้นที่ดังกล่าว ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วม

รอยเตอร์

ภาพถ่ายดาวเทียมของ Maxar แสดงพื้นที่มากกว่า 2,500 ตารางกิโลเมตรระหว่างเมืองโนวาคาคอฟกาและอ่าวดนิปรอฟสกา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเคอร์ซอน ติดทะเลดำ แสดงให้เห็นเมืองและหมู่บ้านจำนวนมากถูกน้ำท่วม

ความเสียหายของเขื่อนคาคอฟกา ยังจะส่งผลกระทบต่อการจัดส่งน้ำไปยังดินแดนไครเมีย ที่พึ่งพาแหล่งน้ำจากเขื่อนแห่งนี้มากถึง 85% ของปริมาณน้ำที่ไครเมียต้องการใช้ ส่วนใหญ่ในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และ 1 ใน 5 ของน้ำเพื่อการบริโภค และอื่นๆ

รอยเตอร์

นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียของยูเครน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปอีกด้วย ที่ต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนคาคอฟกาในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้าซาปอริซเซีย ที่ขณะนี้ตกอยู่ในความควบคุมของกองกำลังทหารรัสเซีย

อย่างไรก็ดี ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการทบวงพลังงานปรมาณูสากล(ไอเออีเอ) หน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าซาปอริซเซียในทันที แต่กล่าวย้ำว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้บ่อน้ำหล่อเย็นในโรงไฟฟ้าแห่งนี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ขณะที่จัดหาน้ำให้เพียงพอสำหรับการหล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์ที่หยุดทำงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image