ชี้คนเสพข่าวลดฮวบ เอือมข่าวหดหู่ ประคองสุขภาพจิต

REUTERS

ชี้คนเสพข่าวลดฮวบ เอือมข่าวหดหู่ ประคองสุขภาพจิต

สถาบันรอยเตอร์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษเผยผลศึกษาทั่วโลกซึ่งบ่งชี้ว่า จำนวนของผู้คนที่สนใจติดตามข่าวสารลดลงถึง 1 ใน 4 ในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดจำนวนของผู้คนที่สนใจติดตามข่าวสารทั่วโลกอยู่ที่ 48% จาก 63% ในปี 2560

ขณะที่ผู้คนมากกว่า 1 ใน 3 ทั่วโลก หรือราว 36% บอกว่า พวกเขาหลีกเลี่ยงที่จะเสพข่าวบางครั้งหรือบ่อยครั้ง และยังมีข้อมูลว่าผู้คนเลือกที่จะเลี่ยงเรื่องราวสำคัญ อาทิ สงครามยูเครนและวิกฤตค่าครองชีพ โดยพวกเขาหลีกเลี่ยงข่าวสารที่น่าหดหู่และพยายามที่จะดูแลสุขภาพจิตของตนเอง

ผลการศึกษาดังกล่าวยังระบุด้วยว่า สื่อโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิมกำลังเสื่อมความนิยมลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ที่เข้าถึงสื่อออนไลน์ก็เข้าชมข่าวน้อยลงกว่าในอดีต และให้ความสนใจกับข่าวสารน้อยลงเช่นกัน

Advertisement

นอกจากนี้ ราว 56% ของผู้ตอบคำถามกังวลเกี่ยวกับข่าวจริงและข่าวปลอมทางออนไลน์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 2% ขณะที่อีก 40% ระบุว่าพวกเขาเชื่อข่าวส่วนใหญ่เกือบตลอดเวลา ซึ่งลดลง 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่สำคัญที่สุดสำหรับข่าวยังคงเป็นเฟซบุ๊ก แม้ว่ามีแนวโน้มจะลดลงในระยะยาว โดยจำนวนสัดส่วนการเข้าถึงข่าวในแต่ละสัปดาห์ลดลงจาก 42% เหลือ 28% ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่เฟซบุ๊กยังได้ปรับลดสัดส่วนของข่าวลง ปัจจุบันฟีดข่าวที่มีอยู่ซึ่งเป็นข่าวแบบดั้งเดิมเหลืออยู่ไม่ถึง 3% ซึ่งเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นหายนะสำหรับบางองค์กรที่พึ่งพาเฟซบุ๊กในการนำเสนอข่าว

Advertisement

ในบางประเทศเช่นสหราชอาณาจักร เด็กอายุ 18-24 ปี 41% ระบุว่า โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งหลักในการเสพข่าวของพวกเขา ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศทั่วโลกอยู่ที่ 43% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 18%

ด้าน TikTok และ Instagram ก็มีการใช้งานเพิ่มขึ้นทางด้านการข่าวเช่นกัน โดยปัจจุบัน  Instagram เป็นช่องทางในการเสพข่าวของผู้คน 14% และตัวเลขการเสพข่าวผ่าน TikTok อยู่ที่ 6%

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ใช้งานอายุ 18-24 ปี ตัวเลขสูงกว่าค่าเฉลี่ยการรับข่าวสารผ่าน TikTok สูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมมากที่ 20% เพิ่มขึ้นจาก 15% ในปี 2565 โดย TikTok ถือเป็นแพลตฟอร์มที่เติบโตเร็วที่สุดในการสำรวจดังกล่าว

กระนั้นผู้ใช้งาน TikTok กลับไม่ได้รับข่าวสารจากผู้ให้บริการข่าวสารแบบดั้งเดิม แต่มีแนวโน้มที่จะเสพข่าวบนแพลตฟอร์มจากคนดัง อินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้สร้างคอนเทนต์ทั่วๆ ไปมากกว่าจากสื่อกระแสหลักแบบดั้งเดิมหรือนักข่าว

ราสมุส นีลเซน ผู้อำนวยการสถาบันรอยเตอร์ระบุว่า คนรุ่นใหม่หลีกเลี่ยงการค้นหาโดยตรงยกเว้นแต่จะเป็นแบรนด์ที่พวกเขามองว่าน่าดึงดูดที่สุด และไม่สนใจการนำเสนอข่าวแบบดั้งเดิมตามนิสัยแบบคนรุ่นเก่า แต่เปิดรับทางเลือกที่ยึดเอาพื้นฐานด้านบุคลิกภาพ การมีส่วนร่วม และมีความเป็นส่วนตัว ทำให้พวกเขามักจะมองข้าวแพลตฟอร์มแบบเดิมๆ ไป

ขณะเดียวกันการกดไลค์ กดแชร์ และการแสดงความเห็นเกี่ยวกับข่าวบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแบบเปิดก็ลดลงเช่นกัน เหตุผลหนึ่งที่เชื่อว่าทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงคือความรู้สึกว่า การสนทนาออนไลน์บนแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์กลายเป็นพิษมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image