คอลัมน์ Think Tank: อเลปโปล่มสลาย ชัยชนะของผู้นำเผด็จการ

AFP PHOTO / George OURFALIAN

นักวิเคราะห์ระบุว่า การล่มสลายของอเลปโปถือเป็นชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรผู้นำเผด็จการในกรุงเตหะรานไปจนถึงกรุงมอสโก และนับเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดจนถึงตอนนี้ของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ของซีเรีย นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองเริ่มปะทุขึ้นเมื่อปี 2554

การเข้าควบคุมพื้นที่ด้านตะวันออกของอเลปโปได้ทั้งหมดของกองทัพรัฐบาลซีเรียที่ได้รับการประกาศเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้มาโดยการใช้กำลังอย่างโหดเหี้ยมไร้ความปรานี ที่ทำให้เมืองซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งนี้พังราบเป็นหน้ากลอง ในสงครามที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 310,000 รายทั่วประเทศ

“บทเรียนแรกสุดในเรื่องนี้คือ การใช้กำลังรุนแรงให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และการนิ่งเฉยเป็นราคาที่ต้องชดเชย” บรูโน แตร์เตรส์ แห่งสถาบันวิจัยด้านยุทธศาสตร์ฝรั่งเศสบอก และว่า กองกำลังของซีเรียมาจาก “การเข้าร่วมอย่างเข้มข้นของรัสเซียและอิหร่านที่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของสงครามไป” ด้วยการกระหน่ำเข้าใส่ทั้งพลังอำนาจทางทหาร สรรพาวุธและเงิน เพื่อทำลายกลุ่มกบฏ

ขณะที่การนิ่งเฉยคือการ “ไม่เข้าแทรกแซงของสหรัฐเมื่อปี 2556” เมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามคำขู่ที่ประกาศไว้ ว่าสหรัฐจะลงมือหากอัสซาด “ล้ำเส้น” ด้วยการใช้อาวุธเคมี

Advertisement

และเป็นปีเดียวกันนั้นเองที่อิหร่านประกาศเข้าร่วมรบในสงครามความขัดแย้งนี้โดยอยู่ข้างรัฐบาลซีเรีย

ส่วนรัสเซียเข้าร่วมสู้รบ 2 ปีหลังจากนั้น ถือเป็นการพลิกสถานการณ์ครั้งสำคัญของอัสซาด

นักวิเคราะห์ระบุด้วยว่า การล่มสลายของอเลปโปเป็นการชักนำให้ตุรกีที่หลายปีก่อนหน้านี้ให้การสนับสนุนกลุ่มต่อต้านอัสซาด ย้ายมาอยู่ฝั่งเดียวกับบรรดาผู้นำรัฐเผด็จการ

Advertisement

นักการทูตยุโรปรายหนึ่งระบุว่า ตอนนี้ตุรกีอยู่ข้างเดียวกับรัสเซีย อิหร่าน และซีเรีย ในการเจรจาต่อรองเงื่อนไขยุติความขัดแย้งทางการเมืองในซีเรีย

ทุกฝ่ายมองเห็นผลประโยชน์ของตนเองในอนาคตของซีเรีย สำหรับตุรกีคือประเทศเพื่อนบ้านที่มีเสถียรภาพ สำหรับอิหร่านคือพันธมิตรทางการทูต สำหรับรัสเซียคือ “เครื่องมือ” ที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการงัดคานอำนาจอิทธิพลของสหรัฐ

ขณะเดียวกัน อัสซาดยังมีเส้นทางอีกไกลในการยึดพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของซีเรียกลับมาจากกองกำลังฝ่ายต่อต้าน รวมถึงนักสู้ชาวเคิร์ดและกลุ่มสุดโต่งรัฐอิสลาม (ไอเอส)

คาริม บิตาร์ นักวิจัยแห่งสถาบันยุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศในฝรั่งเศสบอกว่า “นี่อาจเป็นชัยชนะที่ได้ไม่คุ้มเสีย”

“ในทางหนึ่งเป็นการทำให้ความผิดหวังคับข้องใจของชาวซีเรียส่วนหนึ่งเพิ่มมากขึ้น ในอีกทางหนึ่ง รัสเซียเองก็เริ่มได้รับผลกระทบที่ตามมา” ที่เขาหมายถึงการลอบสังหารทูตรัสเซียประจำตุรกีโดยชายคนหนึ่งที่ต้องการแก้แค้นให้อเลปโป

ด้านมหาอำนาจอื่นๆ ที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ทั้งซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และชาติตะวันตก จำเป็นต้องถอยหลังออกมาอยู่ในสถานะผู้สังเกตการณ์เท่านั้นหลังการล่มสลายของอเลปโป

แตร์เตรส์ระบุว่า การล่มสลายของอเลปโปและการกลับมาผงาดของอัสซาดเป็น “ผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” ของสงครามครั้งนี้ที่มาจากการนิ่งเฉยของสหรัฐและพันธมิตร

“ปัญหาไม่ใช่ชาติตะวันตกไร้พลังอำนาจ แต่เป็นเรื่องของการด้อยกว่าด้านปณิธานความตั้งใจจริง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image