แถลงการณ์ร่วม AMM ชี้ ‘ดอน’ พบ ’ซูจี’ เป็นพัฒนาการเชิงบวก

แถลงการณ์ร่วม AMM ชี้ ‘ดอน’ พบ ’ซูจี’ เป็นพัฒนาการเชิงบวก 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่ 56 เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 13 กรกฎาคม หลังมีการถกเถียงกันอย่างหนักเกี่ยวกับถ้อยคำที่ใช้ในหัวข้อเกี่ยวกับพัฒนาในเมียนมา โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการพบปะหารือระหว่างนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ได้มีการรายงานผลการเยือนให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการรับทราบไปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
ในประเด็นดังกล่าว ที่ประชุมระบุว่า ได้มีการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาในเมียนมา และยืนยันจุดยืนที่เป็นเอกภาพของอาเซียนว่า ฉันทามติ 5 ข้อ (5PC) ยังคงเป็นข้ออ้างอิงหลักของเราในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเมียนมา เราขอประณามการกระทำที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการโจมตีทางอากาศ การระดมยิงด้วยปืนใหญ่ และการทำลายสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อยุติความรุนแรงตามอำเภอใจทันที ประณามการขยายการสู้รบใดๆ และเรียกร้องให้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งมอบมนุษยธรรมและการเจรจาระดับชาติที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม
เราชื่นชมศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) สำหรับการส่งมอบความช่วยเหลือบางส่วนให้แก่ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา (IDP) 400 ครัวเรือนในเมืองซีเซิง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐฉาน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2023 เราชื่นชมการสนับสนุนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในการสร้างความมั่นใจเพื่อรับประกันการการส่งมอบความช่วยเหลือที่ปลอดภัย และเรียกร้องให้มีการอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึง IDP 1.1 ล้านคนที่มีการระบุในรายงานการประเมินความต้องการร่วม (JNA) ของศูนย์ AHA ได้อย่างปลอดภัย เราชื่นชมการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในเมียนมาที่ช่วยให้การประชุม JNA โดยศูนย์ AHA เสร็จสมบูรณ์ด้วยการดำเนินการที่ครอบคลุมภายใต้การอำนวยความสะวกโดยประธานอาเซียน เราเรียกร้องให้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมจากประชาคมระหว่างประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการดำเนินการตามรายงานของ JNA ต่อไป
เราชื่นชมความพยายามของประธานในการเพิ่มพูนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในเมียนมา เพื่อสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่น สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เชื่อมช่องว่างและความแตกต่างที่นำไปสู่การเจรจาแบบมีส่วนร่วมสำหรับการแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างรอบด้าน เราสนับสนุนการมีส่วนร่วมดังกล่าวอย่างยั่งยืนเพื่อผลักดันให้มีการนำ 5PC ไปปฏิบัติอย่างครบถ้วน ซึ่งสอดคล้องกับการตัดสินใจของผู้นำในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 เราเรียกร้องให้มีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากพันธมิตรภายนอก ซึ่งรวมถึงสหประชาชาติและประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา เพื่อทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อดำเนินการตาม 5PC อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ตามวรรค 14 ของการทบทวนและการตัดสินใจของผู้นำอาเซียนในการปฏิบัติตาม 5PC เราได้รับฟังการบรรยายสรุปจากไทยเกี่ยวกับกิจกรรมล่าสุดในเมียนมา ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นการพัฒนาในเชิงบวก เราขอยืนยันถึงความสามัคคีและความเป็นเอกภาพของอาเซียนอีกครั้ง และย้ำว่าความพยายามใดๆ ควรสนับสนุน และสอดคล้องกับ 5PC พร้อมกับมีการประสานงานกับประธานอาเซียน
เราจะดำเนินการทบทวนการดำเนินการ 5PC อย่างครอบคลุม และส่งข้อเสนอแนะของเราไปยังการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 43 ต่อไป
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image