จีนเผชิญภาวะเงินฝืด เศรษฐกิจหลังโควิดไม่ฟื้น ใช้จ่ายในปท.ชะลอตัว

REUTERS

จีนเผชิญภาวะเงินฝืด เศรษฐกิจหลังโควิดไม่ฟื้น ใช้จ่ายใน ปท.ชะลอตัว

จีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหลังข้อมูลของทางการจีนระบุว่า ราคาผู้บริโภคหดตัวในเดือนกรกฎาคม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอตัวก็ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นตัววัดอัตราเงินเฟ้อของจีนลดลง 0.3% ในเดือนกรกฎาคม หลังจากที่อยู่ในสถานะทรงตัวในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะลดลง 0.4% ในเดือนกรกฎาคม

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังของเศรษฐกิจจีนดังกล่าวถือเป็นครั้งที่สองในสัปดาห์นี้ หลังจากที่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา จีนเพิ่งเผยตัวเลขการส่งออกที่ตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 3 ปี หรือลดลง 14.2% ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ที่อ่อนแอในต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทหลายหมื่นแห่งในจีนที่มุ่งเน้นการส่งออกเป็นหลัก

Advertisement

ทั้งนี้ ภาวะเงินฝืดหมายถึงราคาสินค้าและบริการลดลง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยรวมถึงการบริโภคที่ลดลงด้วย อย่างไรก็ดี แม้ว่าการที่สินค้าราคาถูกอาจดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ต่อกำลังซื้อ แต่ภาวะเงินฝืดก็ถือเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง เมื่อราคาข้าวของลดลง ผู้บริโภคก็จะเลื่อนการตัดสินใจซื้อออกไป ภายใต้ความหวังว่าราคาจะลดลงอีก

นักวิเคราะห์หลายคนเกรงว่าภาวะเงินฝืดจะยืดเยื้อออกไปในคราวนี้ เนื่องจากกลไกขับเคลื่อนการเติบโตหลักของจีนหยุดทำงาน และปัญหาการว่างงานของเยาวชนที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่มากกว่า 20%

ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจจีนประสบปัญหามาจากความวุ่นวายต่อเนื่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 4 ของจีดีพีของจีน และยังมีแรงหนุนจากการส่งออกที่ลดลง ในขณะที่มันเคยมีบทบาทสำคัญสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในอดีต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image