อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ไทยกับการเป็น ‘ประธานบิมสเทค’

อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ไทยกับการเป็น ‘ประธานบิมสเทค’

หมายเหตุ “มติชน” นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ มองภาพรวมของการทำงานในฐานะประธานความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (บิมสเทค) ซึ่งเป็นการรวมตัวของ 7 ประเทศ ประกอบด้วยไทย เมียนมา ศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย ภูฏาน และเนปาล ซึ่งไทยรับหน้าที่มาตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึงไตรมาสแรกของปี 2567 ความพยายามในการปฏิรูปการทำงานและข้อริเริ่มใหม่ๆ ประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในระหว่างการเป็นประธานในช่วงเวลา 2 ปี รวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระหว่างที่ไทยจะจัดประชุมผู้นำบิมสเทค ที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่ออนุภูมิภาคแห่งความหวังนี้ต่อไปในอนาคต

เชิดชาย ใช้ไววิทย์

๐ไทยกับการทำหน้าที่ประธานบิมสเทค

ระหว่างที่ไทยเป็นประธานมีการผลักดันและขับเคลื่อนความร่วมมือในหลายๆ เรื่อง บิมสเทคเป็นความร่วมมือที่ไทยมีส่วนในการจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ 26 ปีก่อนคือในปี 2540 ซึ่งในช่วงเวลานั้นไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีความร่วมมือของบิมสเทคถือว่าขับเคลื่อนค่อนข้างช้า โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเมื่อไทยรับหน้าที่ประธาน เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้บิมสเทคเป็นความร่วมมือที่ทันสมัย เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะความคิดเมื่อครั้งก่อตั้งกับสถานการณ์ในปี 2566 แน่นอนว่ามันเป็นชุดความคิดคนละชุด ขณะนี้เป็นโจทย์ใหม่ที่บิมสเทคต้องปรับตัวค่อนข้างมาก

Advertisement

สิ่งที่เราทำประการแรกคือการสร้างความต่อเนื่องของการดำเนินการต่างๆ ในกลไกบิมสเทค เพราะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาของกลไกบิมสเทคไม่มีการประชุมและการพบปะหารือแบบเจอตัวเลย เราก็ทำให้กลไกเช่นนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง

ประการที่สอง เราพยายามระบุจุดอ่อนของบิมสเทคว่ามีอะไรบ้าง และพูดคุยถึงประเด็นปัญหาหรือสถานการณ์ใหญ่ๆ ในภูมิภาค 3 ประเด็นกันอย่างตรงไปตรงมากับประเทศสมาชิก ประกอบด้วย 1.สถานการณ์ในเมียนมา 2.วิกฤตเศรษฐกิจในศรีลังกา และ 3.ผลกระทบของภูมิรัฐศาสตร์และเรื่องรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากในการดำเนินความร่วมมือ

กระนั้นก็ดีเราได้ผลักดันในหลายๆ เรื่อง นั่นคือ 1.การเขียนวิสัยทัศน์บิมสเทคขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นการออกแบบความคิดใหม่ว่าบิมสเทคควรเดินไปทางไหน ในการประชุมผู้นำบิมสเทคที่จะมีขึ้น ผู้นำจะให้การรับรอง “บิมสเทค แบงคอก วิชั่น 2030” เพื่อให้ตอบโจทย์ของทศวรรษนี้ ซึ่งเป็นโจทย์แตกต่างจากในปี 2540
2.เพื่อให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวมีผลจริงจัง ไม่ใช่เป็นแค่เอกสารในกระดาษ ขณะนี้ทุกประเทศกำลังจะตั้งผู้แทนเพื่อร่วมทำงานในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ หรือ Eminent Persons Group เป็นเวลา 1 ปี เพื่อดูรายละเอียดว่าอะไรเป็นความร่วมมือเร่งด่วนจริงๆ สำหรับบิมสเทค ซึ่งจะกำหนดหัวข้อหลัก 3-4 เรื่องหลัก เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือไปตามประเด็นนั้นๆ การตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวจะเกิดขึ้นทันทีหลังการประกาศเอกสารวิสัยทัศน์กรุงเทพ

Advertisement

๐โอกาสมหาศาลกับการขนส่งทางทะเล

3.จะมีการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล หรือ Agreement on Maritime Transport Cooperation ในการประชุมผู้นำบิมสเทค ซึ่งคิดว่าเป็นความตกลงที่สำคัญที่สุดความตกลงหนึ่งตั้งแต่มีการก่อตั้งบิมสเทคมา ที่จะเป็นการเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 13 ท่าเรือหลักในอ่าวเบงกอล ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงการขนถ่ายสินค้าครั้งแรก ที่จะเป็นโอกาสให้ไทยในฐานะผู้ส่งออก สามารถส่งออกสินค้าที่สำคัญๆ ลำดับต้นๆ ของเราไปยังประเทศในอ่าวเบงกอลได้มากมายมหาศาล อาทิ เคมีภัณฑ์ เหล็ก น้ำมันปาล์ม อัญมณี โดยเราได้ขยายพิกัดเรือไปถึง 3 หมื่นเมตริกตันในการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือต่างๆ ในส่วนของไทย จุดที่เรือเข้า-ออกคือที่ท่าเรือจ.ระนอง ที่จะเชื่อมโยงไปยังท่าเรือต่างๆ อาทิ ย่างกุ้ง จิตตะกอง กัลกัตตา เชนไน และโคลอมโบ

นอกจากนี้ในการประชุมผู้นำจะเป็นครั้งแรกมีการผลักดันให้ตั้งสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของบิมสเทค BIMSTEC Advisory Council เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ซึ่งก็เป็นข้อเสนอของไทยที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากประเทศสมาชิก

บิมสเทคเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญมาก สมาชิกอย่างอินเดียมีประชากรผู้บริโภคมากที่สุดในโลก ประชากรบิมสเทครวมกันมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 5 ของประชาคมโลก ศักยภาพนั้นมีอยู่ ก่อนโควิด-19 จีดีพีในภูมิภาคนี้เติบโตที่ประมาณ 6% ถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตสูงสุด หลังโควิด-19 และหากผลกระทบจากภูมิรัฐศาสตร์จะไม่ลากยาวเกินไป ใน 3-5 ปีข้างหน้าเราเชื่อมั่นว่าบิมสเทคจะเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตสูงที่สุดในเอเชีย

ในภาพใหญ่ไทยต้องการขับเคลื่อนบิมสเทคในแง่ความเชื่อมโยง จึงเป็นเหตุให้มีการผลักดันเรื่องความเชื่อมโยงทางทะเลขึ้นมา และมีอีกโครงการหนึ่งที่อยู่ในเรื่องการสร้างความเชื่อมโยงทางถนนที่ขณะนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จแต่เราจะผลักดันต่อไปคือเรื่อง Trilateral Highway คือการเชื่อมโยงทางถนนจากไทย-เมียนมา-อินเดีย วันนี้มีจุดเชื่อมต่อที่ยังขาดหายไปราว 66 กิโลเมตรในเมียนมา จากข้อจำกัดทางด้านเงินทุนอันเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ในเมียนมา แต่ถ้าสถานการณ์พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น เราจะเห็นการเชื่อมโยงทางถนนครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะเป็นทางเลือกในการขนถ่ายสินค้าและบริการ รวมถึงประชาชนได้เป็นอย่างดี

๐การประชุมรมว.กต.บิมสเทครีทรีตครั้งแรก

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไทยยังได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของเราที่มีประโยชน์อย่างมากและไม่เคยมีมาก่อน เพราะทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการกำหนดนโยบายจับเข่าคุยกันได้ ถือเป็นอีกมิติของการปฏิรูปการทำงานของบิมสเทคโดยไทย การหารือไม่มีหัวข้อใดๆ รัฐมนตรีต่างประเทศสามารถพูดคุยได้อย่างเสรี ในเรื่องที่มีความสำคัญ 2-3 ประเด็นหลัก

1.เป็นการมองย้อนไปในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาว่าเราถูกผลกระทบอย่างไรและโดยอะไร ประเด็นแรกทุกคนพูดตรงกันว่าเรื่องสันติภาพและความมั่นคงเป็นเรื่องสำคัญมาก เศรษฐกิจมันจะเติบโตไปไม่ได้หากไม่มีสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค เป็นคำพูดที่มีความหมายมาก และฝากให้ทุกประเทศนำกลับไปคิด

ทุกคนเห็นตรงกันว่าจากที่เราเห็นโรคระบาดและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น จึงตกลงกันที่จะให้มีกลไกบางอย่างเพื่อประสานความร่วมมือกันในการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องให้บิมสเทคมีความพร้อมมากกว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

เรื่องหนึ่งที่มีการพูดกันมากคือวิกฤตเศรษฐกิจในศรีลังกา รัฐมนตรีต่างประเทศศรีลังกาบอกว่าความร่วมมือเมื่อเกิดวิกฤตเป็นเรื่องสำคัญ ศรีลังกาต้องใช้เวลานานในการประสานขอความช่วยเหลือ ใช้เวลาในการเจรจานานเป็นปี ทำให้วิกฤตยิ่งตกต่ำถึงขีดสุด กว่าที่จะบริหารจัดการเพื่อให้มีมาตรการรับมือออกมา ดังนั้นบิมสเทคต้องร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครจะต้องเจอกับวิกฤตเช่นนี้

อีกประเด็นที่มีการหารือกันคือการประสานจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจีส์) ถือว่ามีความสำคัญมากเพราะบิมสเทคเป็นกลุ่มโกลบอลเซาท์ รัฐมนตรีได้ตกลงจะเจอกันเป็นประจำแบบรีทรีตในการประชุม UNGA ที่นิวยอร์กในเดือนกันยายน หัวข้อสำคัญที่จะมีการคุยกันคือการประสานความร่วมมือเพื่อไปให้ถึงเอสดีจีส์

เรื่องที่สองคือก้าวต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไหลเวียนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น มี 2 ประเด็นที่หยิบยกมาคุยกันอย่างเข้มข้น 1.การสร้างระบบ Digital payment cross-border system สำหรับการเชื่อมต่อทางการเงินโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี และ 2. พูดถึงความเป็นไปได้ในการค้าขายโดยใช้เงินสกุลท้องถิ่น ซึ่งเพิ่งมีการหยิบยกขึ้นมาหารือกันเป็นครั้งแรกในเวทีนี้ ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดได้ว่าเราอยู่ในจุดที่จะเริ่มต้นการหารืออย่างเป็นทางการ สิ่งที่พูดได้คือสมาชิกเห็นชอบที่จะขอให้ธนาคารแห่งชาติหารือกันต่อไป แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

3.การสร้างสถาบันเพื่อทำให้บิมสเทคมีคุณค่า สามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายที่มีอยู่มากมาย ไม่ให้จมหายไป และทำให้มีตัวตน โดยใช้ประโยชน์จากการเติบโต การมีประชากรอายุน้อย มีศักยภาพที่จะเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นจึงเน้นการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์กรุงเทพที่กำลังจะมีการรับรองในที่ประชุมผู้นำบิมสเทค ว่าเราจะทำอย่างไรให้มีความคืบหน้า

รัฐมนตรีทุกคนเห็นตรงกันว่าหลังจากนี้ไปต้องมีการจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการต่อไปปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือในไตรมาสแรกของปี และครั้งที่ 2 ในยูเอ็นจีเอ

สำหรับการจัดประชุมผู้นำบิมสเทคนั้นขณะนี้ยังต้องรอการยืนยันอีกครั้งว่าจะเกิดขึ้นปลายปีนี้หรือปีหน้า เพราะยังไม่ได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิก และสถานการณ์การเมืองไทยที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่คาดว่าในเดือนสิงหาคมนี้น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

ในช่วงที่ไทยเป็นประธานบิมสเทค เราจะทำให้ดีที่สุดเพื่อให้แน่ใจว่าบิมสเทคจะสร้างผลกระทบที่สำคัญต่อภูมิภาค เพื่อให้มีมรดกตกทอดที่ดีหลังการเป็นประธานบิมสเทคของเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image