โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: 2 ปีรัฐบาลทาลิบัน ความสงบที่โหยหา สู่สิทธิสตรีที่เลือนหาย

สมาชิกของกลุ่มทาลิบันออกมาเฉลิมฉลองวันครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์ที่กลุ่มทาลิบันเข้ายึดครองกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ในวันที่ 15 กันยายน (รอยเตอร์)

โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: 2 ปีรัฐบาลทาลิบัน ความสงบที่โหยหา สู่สิทธิสตรีที่เลือนหาย

หลายคนคงยังจำกันได้กับข่าวที่กลุ่มทาลิบัน ที่เคยปกครองอัฟกานิสถานระหว่างปี 1996 – 2001 เคลื่อนทัพมุ่งหน้ากรุงคาบูล ขณะที่กองกำลังต่างชาติที่นำโดยสหรัฐอเมริกา กำลังถอนกำลังทหารออกจากประเทศอัฟกานิสถาน ส่งผลให้รัฐบาลอัฟกานิสถานที่ได้รับการหนุนหลังจากชาติตะวันตกต้องล่มสลายและอำนาจปกครองกลับมาตกอยู่ในมือของกลุ่มทาลิบันอีกครั้ง นับเป็นการสิ้นสุดสงครามในอัฟกานิสถานที่ดำเนินมากว่า 20 ปี ในวันที่ 15 สิงหาคม 2021 จนนำมาสู่ภาพอันน่าหดหู่ที่ชาวอัฟกันหลายคนวิ่งตามเครื่องบินของกองทัพสหรัฐบนรันเวย์สนามบินกรุงคาบูล เพื่อหวังที่จะเกาะเครื่องบินลำดังกล่าวไปแสวงหาชีวิตใหม่ในอเมริกา

จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านไป 2 ปี รัฐบาลอัฟกานิสถานภายใต้การนำของทาลิบันได้เปลี่ยนแปลงชีวิตชาวอัฟกันทั้ง 41 ล้านคนไปตลอดกาล โดยเฉพาะผู้หญิงชาวอัฟกันที่ต้องอยู่ท่ามกลางกฎหมายที่กดขี่สิทธิสตรีในหลายด้าน ความเป็นอยู่ของผู้หญิงชาวอัฟกันเป็นอย่างไรและมีโอกาสไหมที่วิถีชีวิตของพวกเธอจะกลับมาอีกครั้ง?

คำสัญญาที่ไม่จริง สู่สิทธิสตรีที่เลือนหาย

ADVERTISMENT

หลังยึดอำนาจในประเทศได้สำเร็จ กลุ่มทาลิบันได้ออกแถลงการณ์เป็นครั้งแรกในฐานะรัฐบาลชุดใหม่ของอัฟกานิสถานว่า “เราจะอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าเรียน เข้าทำงานภายใต้กรอบโครงสร้างของเรา ผู้หญิงจะมีบทบาทอย่างมากในสังคมของเรา” เป็นถ้อยแถลงที่ดูดีแต่ข้อความที่ว่านี้ได้กลายมาเป็นคำโกหกครั้งใหญ่ เพราะหลังจากนั้นเพียง 1 เดือน ทาลิบันได้ประกาศแบนไม่ให้เด็กผู้หญิงเข้าศึกษาในโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ทำให้ความฝันของเด็กหญิงชาวอัฟกันหลายคนต้องพังทลายลงเพราะพวกเธอทำได้แค่ดูน้องชายของเธอแต่งตัวไปโรงเรียน แต่เธอจะไม่ได้รับสิทธิให้ทำเช่นนั้น

ในสัปดาห์เดียวกันของเดือนกันยายน พนักงานหญิงที่ทำงานในสำนักงานราชการกรุงคาบูล ได้รับคำสั่งจากนายกเทศมนตรีให้พวกเธออยู่แต่ในบ้านและอนุญาตให้แค่ผู้หญิงที่นั่งตำแหน่งงานที่ไม่สามารถแทนที่โดยผู้ชายให้กลับเข้ามาทำงานได้ ข้อจำกัดต่างๆ ที่เข้ามามีผลกระทบต่อชีวิตผู้หญิงชาวอัฟกัน ทำให้พวกเธอออกมาเดินถนนประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิในการศึกษาและการทำงาน ทำให้ทางการใช้กำลังเพื่อสลายการชุมนุมหลายต่อหลายครั้ง กระทรวงส่งเสริมศีลธรรมและป้องกันความชั่วร้าย (Ministry of the Propagation of Virtue and the Prevention of Vice) ได้ออกกฎหมายใหม่ในเดือนธันวาคม 2021 สั่งให้หญิงอัฟกันที่เดินทางเป็นระยะทางมากกว่า 72 กิโลเมตร ต้องมีญาติคนสนิทที่เป็นผู้ชายไปด้วยเสมอ และต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2022 สั่งให้ผู้หญิงอัฟกันทุกคนต้องสวมเสื้อคลุมที่ปกปิดทั้งร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้า ยกเว้นแค่ดวงตาเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ พร้อมกับแนะนำให้ผู้หญิงอยู่แต่ในบ้านยกเว้นจะมีธุระสำคัญที่ต้องทำนอกบ้านเท่านั้น

ADVERTISMENT
นักรบทาลิบันกำลังยืนรักษาความปลอดภัย ขณะที่ผู้หญิงชาวอัฟกานิสถานกำลังต่อแถวเพื่อรับอาหารที่กลุ่มให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนำมาแจกจ่าย ในกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม (แฟ้มภาพเอพี)

นอกจากนั้นแล้ว การถูกจำกัดสิทธิในการทำงานส่งผลให้มีผู้หญิงยากจนและกลายมาเป็นขอทานตามท้องถนนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีเด็กผู้หญิงหลายคนถูกครอบครัวบังคับให้แต่งงานเร็ว เพราะพวกเธอไม่สามารถเข้าเรียนหรือเข้าทำงานได้ เวลาล่วงเลยมาจนถึงช่วงปลายปี 2022 รัฐบาลทาลิบันก็ได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าใช้สวนสาธารณะหรือโรงยิมทั่วประเทศ โดยให้เหตุผลว่าพวกเธอเจตนาไม่ปฏิบัติตามกฎหมายชารีอะห์ของอิสลาม รวมถึงห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย และกระทรวงเศรษฐกิจภายใต้การนำของทาลิบันได้สั่งให้องค์การนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ) ของทั้งท้องถิ่นหรือต่างชาติห้ามไม่ให้หญิงชาวอัฟกันทำงานกับทางหน่วยงานมิเช่นนั้นจะถูกยึดคืนใบอนุญาต

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ทำให้เห็นว่าทาลิบันเข้ามามีบทบาทในชีวิตของสตรีในหลายแง่มุม แต่ก็ยังเหลืออาชีพและแหล่งความสุขของผู้หญิงชาวอัฟกันเพียงไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจร้านทำผมและร้านเสริมสวย แต่ล่าสุดรัฐบาลทาลิบันก็ได้มีคำสั่งให้ปิดร้านเสริมสวยทั่วประเทศในวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาเช่นกัน ทำให้ผู้หญิงที่เป็นพนักงานร้านทำผมทั่วประเทศทั้งหมด 6 หมื่นคนตกงานทันที

ทาลิบันให้เหตุผลว่าสาเหตุที่พวกเขาต้องออกคำสั่งจำกัดสิทธิในการใช้ชีวิตของผู้หญิงทั้งในเรื่องการศึกษา อาชีพ และการใช้ชีวิตเนื่องมาจากพวกเขามุ่งมั่นที่จะปกครองประเทศตามการตีความของพวกเขาในกฎหมายชารีอะห์ จึงมีการปราบปรามทุกอย่างที่ทาลิบันคิดว่าเป็นของต่างชาติหรือฆราวาส โดยปกป้องการปรับเปลี่ยนกฎหมายต่างๆ ว่าเป็นการหวนกลับไปสู่ค่านิยมเดิมของศาสนาอิสลามและอัฟกัน

เศรษฐกิจเป็นอย่างไร มีโอกาสไหมที่นโยบายจะเปลี่ยนแปลง

ผลกระทบต่อการเข้ามาของกลุ่มทาลิบันได้แผ่ขยายออกไปยังภาคการเงินของประเทศเช่นกัน งบประมาณของรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ได้รับการหนุนหลังจากชาติตะวันตกเกือบ 80% มาจากประชาคมโลก แต่ในเมื่อขณะนี้รัฐบาลอัฟกานิสถานตกไปอยู่ภายใต้การนำของกลุ่มทาลิบัน ทำให้งบประมาณดังกล่าวหายไปเกือบทั้งหมด และยิ่งต้องเจอกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การขาดแคลนยารักษาโรค สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และการขาดแคลนอาหารยิ่งบีบให้ชาวอัฟกันต้องเผชิญกับความยากลำบากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ

เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานยังคงประคองตัวต่อไปได้แม้เศรษฐกิจจะไม่อยู่ในเกณฑ์ดีก็ตาม ธนาคารโลกระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า สกุลเงินท้องถิ่นของอัฟกานิสถานมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินใหญ่ๆของโลก ขณะที่การจัดเก็บรายได้ในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี รัฐบาลทาลิบันได้มีการหารือด้านการลงทุนกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค อาทิ จีนและคาซัคสถาน รวมถึงมีการหารือในระดับสูงร่วมกับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน รัสเซีย และกาตาร์ แสดงให้เห็นว่าถึงแม้อัฟกานิสถานจะถูกคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวบนเวทีโลกแต่ก็มีความพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีในรูปแบบของตนเองเพื่อหวนกลับไปสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

นักรบทาลิบันกำลังนั่งอยู่บนรถทหารขณะร่วมขบวนพาเหรด ใกล้กับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ณ กรุงคาบูล ในวันที่ 15 สิงหาคม เพื่อเป็นการครบรอบ 2 ปีที่กลุ่มทาลิบันเข้ายึดครองประเทศอัฟกานิสถาน (เอเอฟพี)

รัฐบาลทาลิบันอยากให้มีการยุติการคว่ำบาตรและเลิกระงับเงินทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลารสหรัฐที่ถูกยึดทรัพย์ไปก่อนหน้านี้ ทาลิบันกล่าวว่าการดำเนินการเช่นนั้นจะช่วยบรรเทาความยากลำบากของชาวอัฟกัน แต่ดูเหมือนว่าประชาคมโลกจะยอมทำเช่นนั้นก็ต่อเมื่อทาลิบันเปลี่ยนแปลงนโยบายในประเทศเสียก่อน รวมถึงยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ เกี่ยวกับผู้หญิงในประเทศ

แต่นโยบายต่างๆ จะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ ไฮบาตุลเลาะห์ อัคฮุนด์ซาดา ผู้นำสูงสุดของทาลิบัน ซึ่งอยู่เบื้องหลังนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับผู้หญิง ถึงกระนั้นก็ตาม เจ้าหน้าที่ของทาลิบันบางคนได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อแนวทางการดำเนินงานและบอกด้วยว่าในรัฐบาลทาลิบันมีความไม่เห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องกฎข้อบังคับต่อสตรี พร้อมทั้งมีรายงานว่ารัฐบาลทาลิบันกลัวว่าตนเองจะสูญเสียเสียงสนับสนุนจากนักบวชสายอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง ผู้อาวุโสในชนเผ่าที่เป็นฐานเสียงหลัก หากรัฐบาลออกนโยบายที่ขัดต่อความเชื่อของพวกเขา

ขณะที่นายซาบีฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกทาลิบันให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า นโยบายต่างๆ อาจยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและยอมรับว่านักวิชาการด้านศาสนาของทาลิบันมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องการศึกษาของผู้หญิง แต่พวกเขามองว่าการคงไว้ซึ่งความสามัคคีในหมู่นักการศาสนานั้นสำคัญกว่าการนำนักเรียนหญิงกลับเข้าไปในห้องเรียน

ผู้คนต่างออกมาประท้วงรัฐบาลทาลิบันของประเทศอัฟกานิสถาน ที่บริเวณจตุรัสรัฐสภา ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม (เอพี)

การเฉลิมฉลองครบรอบ 2 ปีของการกลับคืนสู่อำนาจของกลุ่มทาลิบันในประเทศอัฟกานิสถานเป็นไปอย่างชื่นมื่น โฆษกทาลิบันออกถ้อยแถลงแสดงความยินดีว่า ความมั่นคงโดยรวมของประเทศกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง ดินแดนทั้งหมดของประเทศถูกปกครองภายใต้ผู้นำคนเดียวกัน ระบอบอิสลามในประเทศก็เข้าที่และทุกอย่างถูกอธิบายตามกฎหมายชารีอะห์
ผู้สนับสนุนกลุ่มทาลิบันหลายร้อยคนทั้งชายชราหรือเด็กหนุ่มในกรุงคาบูลได้มาเข้าร่วมการเดินขบวนพาเหรดและเฉลิมฉลอง ซายิด ฮัชมาตุลเลาะห์ ซาดัต กล่าวว่า “วันนี้ผมมาที่นี่เพื่อมาชมการฉลองครบรอบ 2ปีของรัฐบาลทาลิบัน มันคือวันที่ศัตรูของอัฟกานิสถานถูกขับไล่ออกจากประเทศของเรา นั่นคือสาเหตุที่ผมออกมาเฉลิมฉลองในวันนี้”

จริงอยู่ที่ประเทศอัฟกานิสถานภายใต้การนำของกลุ่มทาลิบันได้รับความสงบสุขเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีหลังต้องเผชิญกับการทำสงครามมาอย่างยาวนาน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหลังการเข้ามาของกลุ่มทาลิบัน

มาร์ยัม หญิงชาวอัฟกันวัย 27 ปี เจ้าของร้านตัดเย็บเสื้อผ้าหลังต้องตกงานจากบริษัทต่างชาติและอาชีพครู บอกว่า เธอไม่รู้สึกดีกับการฉลองครบรอบ 2 ปีดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย เพราะมันทำให้เธอต้องระลึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งมาพร้อมกับความรู้สึกที่ย่ำแย่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image