ปัญหาของรัฐบาลคู่ขนานในพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

ในปัจจุบันมีขบวนการ กองกำลัง และกลุ่มก้อนหลายร้อยกลุ่มที่มีเป้าหมายร่วมกัน คือการล้มล้างอำนาจของคณะรัฐประหาร SAC ของนายพลมิน อ่อง ลาย อย่างไรก็ดี ดังที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวไว้ว่าขบวนการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้มีอำนาจชุดปัจจุบันไม่มีเสถียรภาพ ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีลักษณะความเป็นปัจเจก ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคทำให้ขบวนการต่อต้านรัฐประหารไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว วิธีเดียวที่รัฐบาลคู่ขนานและขบวนการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จบ้างคือการกลับมาพิจารณาความล้มเหลวของตนเองอย่างจริงจัง แต่ละกลุ่มจำเป็นต้องลดอัตตาของตัวเองลง และมองถึงเป้าหมายร่วม

พูดมาถึงตรงนี้ คงมีผู้แย้งผู้เขียนแน่ๆ ว่าที่ผ่านมารัฐบาลคู่ขนาน NUG ก็ประสบความสำเร็จดีนี่ เห็นได้จากที่โลกตะวันตกก็ตอบรับกับ NUG ดี และมีกระบวนการคว่ำบาตรบริษัท บุคคล และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวกับกองทัพพม่าจำนวนมาก อีกทั้งบริษัทและนักธุรกิจจากโลกตะวันตกต่างก็ถูกกดดันให้ถอนตัวออกจากพม่า นอกจากนี้ กองกำลังฝั่งประชาชนในนาม PDF นับร้อยกลุ่ม ที่ผนึกกำลังกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ก็สามารถควบคุมพื้นที่ในพม่าตอนกลาง ในเขตมณฑลสะกาย (Sagaing) และมักก่วย (Magwe) ได้เกือบทั้งหมด

พูดอีกก็ถูกอีก แต่ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของพม่าตั้งแต่ยุคนายพลเน วิน ก็คงจะพอเดาใจผู้นำกองทัพพม่าได้ไม่ยากว่าคนเหล่านี้ไม่ได้กลัวการปิดประเทศ เขาไม่ยี่หระกับฉายา “ฤๅษีแห่งเอเชีย” ที่ธนาคารโลกเคยตั้งให้ และเขามีความเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่าการตัดสินใจชะตาชีวิตของประเทศไม่ควรต้องพึ่งพาเสียงนกเสียงกาจากภายนอกแต่อย่างใด

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนอยากกล่าวถึงอีกครั้งในวันนี้คือ NUG และขบวนการต่อต้านรัฐประหารไม่มีเสถียรภาพ แม้กองกำลังบางส่วนจะยึดพื้นที่ในพม่าตอนกลางได้ แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปใกล้พื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้งในเนปยีดอ มัณฑะเลย์ หรือย่างกุ้งได้ หรือพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหานี้ ทั้งฉานและว้า

Advertisement

เมื่อไม่นานมานี้เว็บไซต์ Frontier Myanmar เผยแพร่บทวิเคราะห์ ที่วิพากษ์โครงสร้างและการทำงานของ NUG โดยตรง บทความดังกล่าวเริ่มด้วยการบรรยายท่าทีของประชาชนในมณฑลสะกายที่เริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ NUG ยกตัวอย่างเช่น คณะละครเร่คณะหนึ่งจากเมืองตาบายิน (Tabayin) ในมณฑลสะกาย แสดงละครล้อเลียน NUG เนื้อหาส่วนหนึ่งคือการเสียดสีท่าทีของผู้นำ NUG ที่ไม่ยอมรับว่าองค์กรและขบวนการของตนมีปัญหา และไม่ได้หาทางแก้ไข

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ NUG มีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนทุกภาคส่วนล้วนได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร ทุกคนเบื่อหน่าย และต้องการให้ NUG และ PDF เผด็จศึกให้ได้โดยเร็ว แต่อีกส่วนหนึ่งก็มาจากการบริหารงานภายใน NUG เอง ที่ถูกมองว่าเป็นพรรค NLD สาขาสอง ผู้นำล้วนเป็นแกนนำ NLD มาก่อน เน้นการบริหารจัดการในกลุ่มของตนเอง พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ NLD ยังมีภาพเป็นพรรคการเมืองแบบเก่า แม้จะเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกรัฐประหารไปก็จริง

Advertisement

หลัง NUG ดำเนินงานมาได้ 2 ปีเศษ ผู้สนับสนุน NUG และประชาชนที่ต้องการให้พม่ากลับไปเป็นประชาธิปไตยต่างเรียกร้องให้ NUG ปฏิรูปตนเองอย่างเร่งด่วน คำวิจารณ์ที่ได้ยินบ่อยที่สุดคือรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวงในรัฐบาล NUG ไม่มีความเหมาะสม และคนกลุ่มนี้ทำงานไม่แอ๊กทีฟเพียงพอ ในปัจจุบัน รายได้หลักของ NUG ยังมาจากเงินบริจาคจากชาวพม่าโพ้นทะเลทั่วโลก รวมทั้งประชาชนในพม่าจำนวนมากที่ยังบริจาคเงินให้ NUG ในแต่ละเดือนแบบลับๆ ในช่วงแรก หรือ 2 ปีแรกของ NUG ผู้สนับสนุนต่างหลีกเลี่ยงไม่วิพากษ์วิจารณ์ NUG เลย เพราะทุกคนเข้าใจว่า NUG เป็นองค์กรที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ มีทั้งทรัพยากรและประสบการณ์จำกัดมาก แต่เมื่อกำลังจะเข้าปีที่ 3 หลังรัฐประหาร ประชาชนก็เริ่มเบื่อหน่าย และประโยคที่เราได้ยินคนพม่าพูดตลอดเวลาว่า “อ๊านา บา เด่” (anar ba deh) หรือ “เกรงใจจัง” ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นความอัดอั้นตันใจ

NUG ใส่ชื่อของด่อ ออง ซาน ซูจี ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ และอู วิน มยิ้น ในฐานะประธานาธิบดี ไว้ในรายชื่อผู้บริหารของ NUG แต่ในความเป็นจริง ยังไม่มีใครทราบว่าใครที่ทำหน้าที่กำหนดทิศทางและเป็นผู้นำที่แท้จริงของ NUG ภาพของ NUG ที่ไม่มีความชัดเจนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนต้องเริ่มตั้งคำถาม และเรียงร้องให้ NUG เปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายใน เพื่อขับเคลื่อนขบวนการประชาธิปไตย และทำให้การบริหารการเงินสำหรับ NUG และ PDF มีความโปร่งใสที่สุด อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดของ NUG คือการมอบตำแหน่งรัฐมนตรีหลายตำแหน่งให้ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้น การสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งก็อาจทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเกิดความไม่พอใจได้

ในทางปฏิบัติ NUG มีภาพลักษณ์ที่ดีในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศ เพราะสามารถร่วมกดดันให้ชาติตะวันตกคว่ำบาตรตัวบุคคลและองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐประหาร อีกทั้งภาพของเอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ (ที่ปัจจุบันเป็นตัวแทนของ NUG) ที่ไปชูสามนิ้วกลางที่ประชุมในต้นปี 2021 ยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนทั่วโลก นอกจากนี้ ในระดับชาติ NUG ยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก แน่นอนว่าฉันทามติของสังคมพม่าในปัจจุบันคือความหวังว่าพม่าจะกลับไปเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง แม้ความเชื่อมั่น NUG จะยังมีอยู่เต็มเปี่ยม แต่การที่เราเริ่มเห็นคำวิจารณ์ NUG ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าความเชื่อมั่นทั้งในตัวองค์กร ตัวบุคคล และเป้าหมายเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว

ความเบื่อหน่ายที่ประชาชนเริ่มรู้สึกกับ NUG แท้จริงคือความกลัวว่าพม่าจะไม่มีทางกลับไปสู่หนทางแห่งสันติภาพอีก และชีวิตของพวกเขาหรือลูกหลานของเขาก็จะอยู่ในภาวะแช่แข็งอย่างนี้ตลอดไป ครั้งหนึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของ NUG ออกมาเรียกร้องไม่ให้ประชาชนส่งบุตรหลานไปเรียนในโรงเรียนของรัฐ เพราะนั่นหมายถึงประชาชนยอมแพ้และยอมให้กับอำนาจของคณะรัฐประหาร แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าๆ ประชาชนก็ไม่มีทางเลือก และนำบุตรหลานกลับเข้าไปเรียนในโรงเรียนของรัฐ ตราบใดที่ไม่มีตัวเลือกอื่นๆ ให้กับประชาชน ประชาชนก็จำเป็นต้องช่วยเหลือตัวเอง และสมยอมให้กับอำนาจของรัฐบางอย่าง เพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่าให้พวกเขา

ท้ายที่สุด NUG มีสถานะเป็น “รัฐบาลคู่ขนาน” ที่มีสิทธิสั่งการให้ประชาชนทำหรือไม่ทำสิ่งที่ตนเองต้องการ ตามแนวทางการต่อต้านรัฐประหารที่ตนวางไว้ แต่ในทางปฏิบัติ NUG ไม่มีอำนาจที่แท้จริงที่จะจัดหาบริหารภาครัฐ หรือปกป้องชีวิตของประชาชนในพม่าได้จริงๆ เมื่อสถานการณ์เป็นดังนี้ หนทางเดียวที่ NUG จะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาคือการเร่งปฏิรูปตนเอง แต่ผู้เขียนเองก็ยังไม่เห็นทางที่ NUG จะเป็นรัฐบาลที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน และรับผิดชอบชีวิตของประชาชนในระยะยาวได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image