‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’เผยนโยบายปี’60 ดัน’การทูตไทย 5S’

หมายเหตุ “มติชน” นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมของการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศในปีที่ผ่านมา และเป้าหมายที่จะทำต่อไปในปี 2560

พื้นฐานการต่างประเทศของไทยคือทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ดี ซึ่งมีทั้งแบบทวิภาคีคือสองฝ่าย และหลายฝ่ายคือพหุภาคี และมีเรื่องต่างๆ มากมายรอบด้าน เพราะทุกเรื่องในโลกปัจจุบันสามารถเชื่อมโยงกันได้หมด พูดได้ว่าการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศไม่มีก้อนอิฐก้อนใดที่เราไม่พลิกขึ้นมาดู ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการทำงานภายใต้งบประมาณที่กระทรวงได้รับคือ 0.3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

พูดถึงกรอบพหุภาคี เสาหลักของไทยก็คืออาเซียน ขณะนี้ไม่มีนโยบายต่างประเทศใดที่เราจะไม่คิดถึงอาเซียน แต่จะพูดว่าจะต่อยอดอาเซียนกับใคร อย่างไร เกินไปกว่านั้นก็เป็นความร่วมมือขององค์กรที่ใหญ่ขึ้น อาทิ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) การประชุมเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) และความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ยังมีกลุ่มย่อยต่างๆ สุดท้ายคือ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ขณะที่ในปีที่ผ่านมาไทยยังมีบทบาทในฐานะประธานกลุ่ม 77 ประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-ยูเอ็น และประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู)

ขณะนี้เชื่อว่าทุกภูมิภาคมองมาสู่ภูมิภาคนี้ เรียกได้ว่าเป็นศตวรรษแห่งเอเชียแปซิฟิก มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังจาก ค.ศ.2000 ว่าภูมิภาคนี้กำลังเจริญ มีประชากรสูงกว่าที่อื่น มีโอกาสในการเจริญก้าวหน้ามากกว่าที่อื่น ซึ่งเราเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

Advertisement

ในส่วนของทวิภาคี เราก็มีสัมพันธภาพระหว่างกันซึ่งราบรื่นเกินกว่าที่คนจะเข้าใจ ตั้งแต่ปี 2557 ที่รัฐบาลนี้เป็นเป้าสายตาในเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน แต่เวลาที่ล่วงเลยผ่านไป ปรากฏว่ามีการยอมรับอย่างกว้างขวางขึ้นเป็นลำดับ ในปี 2559 การยอมรับของทุกประเทศแสดงออกในแง่ของความร่วมมือสาขาต่างๆ และความสัมพันธ์ที่ไม่ได้เพียงแค่เดินหน้า แต่เป็นการเดินอย่างสง่างามไปเรื่อยๆ

วันนี้หัวหน้าคณะทูตานุทูตประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตชิลีมาลากลับประเทศเนื่องจากอยู่ครบวาระ เขาบอกว่าประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่คนชิลีเดินทางมาเป็นอันดับ 3 หรือเพิ่มขึ้น 600% ความนิยมในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นมาก คนที่มาไม่ได้มาเที่ยวอย่างเดียว แต่มาหาโอกาสในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่มีทั้งศักยภาพและมีข้อได้เปรียบในแง่ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ผู้ที่มามีทั้งนักธุรกิจ นักวิจัย นักพัฒนา มาเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและนำกลับไปพัฒนาที่บ้านเขา

หากพูดถึงรายประเทศ แต่ละทวีป ทางอเมริกาใต้ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ โคลอมเบีย บราซิล อาร์เจนตินา เริ่มมีความสัมพันธ์กับไทยในด้านต่างๆ สหรัฐอเมริกาขณะนี้ก็มีการเปลี่ยนผ่านผู้บริหาร เรารอดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่เชื่อว่าความสัมพันธ์ 184 ปีจะเป็นหลักประกันที่ดีต่อความสัมพันธ์ที่จะก้าวหน้าต่อไป ทางฝั่งยุโรปไม่มีอะไรผิดจากปี 2559 นอกจากจะดีขึ้นตามลำดับ

Advertisement

เราเห็นได้ชัดขึ้นหลังการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม เพราะโดยมาตรฐานสากลทั้งการลงคะแนนเสียง เมื่อประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนมาก ทุกอย่างโปร่งใส เชื่อถือได้ ก็เรียกความเชื่อมั่น ตีความได้ว่าประเทศไทยเดินหน้าไปด้วยดี และได้รับความยอมรับจากประชาชน ให้น้ำหนักจากสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลทำ และมีการพูดกันในวงการต่างๆ ว่ากำลังมีการปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้น เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม รัฐมนตรีจากประเทศในสหภาพยุโรปมาประชุมกันที่กรุงเทพฯ แต่เรามีเหตุการณ์ในวันที่ 13 ตุลาคม ทุกอย่างจึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาประชาสัมพันธ์กันมาก แต่การประชุมก็เดินหน้าไปตามปกติ

ทางตะวันออกกลางและคาบสมุทรอาระเบีย ความสัมพันธ์ของแต่ละประเทศกับเราดีขึ้นเป็นลำดับ สำหรับซาอุดีอาระเบีย นอกจากจะเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบียเยือนไทย และมีการพบกับผมและท่านนายกรัฐมนตรี โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีบาห์เรนเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ทางซาอุดีอาระเบียยังได้เชิญ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีไปเยือนด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ อิหร่านก็ดีขึ้นทุกเรื่อง

ในส่วนของเอเชียใต้ อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน ก็มีการเสด็จเยือนและมีการเยือนของผู้นำหลายท่าน ประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ถือว่ามีความใกล้ชิดกับไทยมากขึ้น ในส่วนของอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เราเห็นอนาคตร่วมกันที่จะทำต่อไป ดังนั้นในปี 2560 เมื่อดูจากปรากฏการณ์ที่ผ่านมาในปี 2559 เรามีความเชื่อว่าก้าวเดินต่อไปไม่ว่าจะในกรอบทวิภาคี หรือพหุภาคีก็จะแจ่มใส

หากถามว่าอะไรที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เราต้องยอมรับว่านอกจากคุณค่าของประเทศไทยที่มีพลังสะสมอยู่นานตั้งแต่อดีต ประชาชนไทยได้รับความชื่นชมจากนานาประเทศก็มีส่วนอย่างมาก แน่นอนว่ายังมีกรณีที่มีปัญหา แต่ภาพใหญ่ของคนไทยดีขึ้นมาก รัฐบาลมีความเอาใจใส่ พยายามทำงาน นี่ก็เป็นภาพที่ทุกคนยอมรับ ซึ่งไม่ใช่แค่สัมผัสได้ในบ้านเรา แต่ต่างประเทศก็ยอมรับ เขามองว่าผู้นำไทย ประเทศไทยมี healthy balanced policy หรือมีนโยบายที่สมดุลแข็งแรง นี่คือมุมมองของต่างประเทศที่มองเข้ามาและรับทราบถึงพัฒนาการต่างๆ เขาชื่นชมเราอย่างชนิดที่เราควรจะมีความภาคภูมิใจ

เรื่องที่เรามักจะมองข้ามและไม่ได้คิดเพราะคุ้นเคยกับมัน คือ soft power หรืออำนาจละมุนของไทย ซึ่งเป็นอีกอำนาจที่มีประสิทธิภาพอยู่ในวัฒนธรรม วิถีชีวิตของไทย สิ่งที่เราเห็นรอบตัว แม้แต่อาหารไทยที่เป็นตัวเอกในทุกมุมโลก ขณะนี้พูดได้ว่าน่าจะอยู่ใน 5 อันดับแรกของอาหารที่ได้รับความนิยมทั่วโลก มวยไทย ความสวยงามของภูมิประเทศ อะไรหลายอย่างที่เรามีอยู่มากมาย ซึ่งทำให้ไทยไปได้ไกลเกินกว่าที่คนเมื่อ 10 ปีที่แล้วจะเข้าใจได้

การต่างประเทศของเราในทุกมิติเดินไปข้างหน้าทั้งหมด แต่อยู่ในศูนย์รวมเดียวกัน คือเชื่อมโยงมาสู่ประโยชน์สำหรับคนไทย

ในปี 2560 กระทรวงการต่างประเทศมองว่ากระทรวงการต่างประเทศจะเป็นการทูต 5S ซึ่งก็คือ 1.Security ความมั่นคง เป็นพื้นฐานของงานด้านต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งในยุคนี้ไม่ใช่แค่ความมั่นคงในรูปแบบเดิมๆ แต่ยังรวมถึงภัยคุกคามความมั่นคงในรูปแบบใหม่ อาทิ โรคภัยไข้เจ็บ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยาเสพติด การก่อการร้าย 2.Sustainability ความยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมทุกรูปแบบ ตั้งแต่การค้า การลงทุน และการพัฒนาที่มีความต่อเนื่องยั่งยืน ซึ่งขณะนี้มองว่าความยั่งยืนเป็นอีกด้านของเหรียญ เป็นความเจริญก้าวหน้า ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ 3.Standard มาตรฐาน ขณะนี้เราอยู่ไม่ได้ด้วยวิธีเดิมๆ แต่จำเป็นที่จะต้องยกระดับทุกอย่างไปสู่มาตรฐานสากล ไม่ว่า ไอยูยู ไอเคโอ การค้ามนุษย์ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องพัฒนาและยกระดับให้มีมาตรฐานสากล ซึ่งเราจะเดินไปในทางนั้น

4.Status สถานภาพ เราต้องยกระดับจากสิ่งที่เรามี คือมีศักยภาพในฐานะจุดศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่ในจุดกึ่งกลางที่เป็นเหมือนศูนย์ถ่วงของภูมิภาค บทบาทด้านกายภาพดังกล่าวทำให้เรามีอะไรให้ทำอีกมาก ซึ่งเราจะยกระดับสถานภาพของไทยในทุกเวที ขณะนี้เราเป็นประเทศผู้ให้ ซึ่งต่างจากเดิมที่เราเป็นประเทศผู้รับ เรามีความสามารถด้านวิชาการ และมีภูมิปัญญาท้องถิ่น เราไม่ได้บอกว่าจะเป็นผู้ให้ทุกเรื่อง แต่ทุกอย่างต้องปรับเพื่อให้เรามีบทบาทที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนภูมิภาค เพื่อนำไปสู่อนาคตที่ชัดเจนและมีความหลากหลายมากขึ้น

5.Synergy บูรณาการ คือร่วมกันทำงานในลักษณะประชารัฐ รวมพลังกับภาคส่วนต่างๆ คือภาคธุรกิจ องค์กร และแนวร่วมอื่นๆ มีการประสานงานเพื่อให้เรารุดไปข้างหน้าและมีเป้าหมายในแต่ละด้านที่ชัดเจน การต่างประเทศ 5S ของไทยในภายภาคหน้าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนงานทุกด้านของประเทศ โดยมีภาคส่วนต่างๆ มาเชื่อมโยงกัน

ยังมีประเด็นอะไรหนักใจหรือไม่

ทุกคนมักจะพูดว่าแต่ละปีต้องมีอะไรดีขึ้น ต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่บางทีของเดิมๆ มันเป็นของดีอยู่แล้ว แน่นอนว่าเราต้องกลับมาลับคมอยู่เสมอ ซึ่งเราก็ทำอยู่ การกำหนดการทูต 5S ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่เราทำให้ชัดเจนขึ้น เห็นปลายทางว่าจะไปอย่างไร ที่ผ่านมาเราไม่เคยพูดว่าเราต้องทำตัวให้เป็นสากล แต่ขณะนี้ก็มีแล้ว หรือเรื่องความยั่งยืน เพราะการพัฒนาเกิดขึ้นในทุกประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกแห่งจะพอใจกับสิ่งที่ทำอยู่

แต่ความยั่งยืนจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่เราโหยหา

ในช่วงที่ไทยเป็นประธานกลุ่ม 77 เราได้นำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนไปเผยแพร่ และทำให้โลกยอมรับว่านี่คือวิธีการหนึ่งที่จะเป็นคำตอบสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศก็มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศที่สนใจ ซึ่งในอนาคตอาจขยายเป็นความร่วมมือในลักษณะไตรภาคีกับประเทศที่ 3 ซึ่งขณะนี้ก็มีแล้วกับเยอรมนีที่แสดงความสนใจจะร่วมให้ความช่วยเหลือติมอร์เลสเต อนาคตเราอาจขยายความร่วมมือไปยังเอเชียใต้และแอฟริกาต่อไป

ถ้าถามว่าไทยจะได้อะไรจากการทำเช่นนี้ สิ่งที่ได้คือ เราได้เพื่อน ได้ตลาด ถ้าเขาทำอะไรร่วมกับเรา เขาก็จะเชื่อมั่นว่าเราพร้อมจะขยายความร่วมมือไปยังเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสด้านการค้า การลงทุน และด้านต่างๆ อีกมาก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image