ไฮไลต์โลก : ต้องตัดอุปสงค์

การลักลอบค้าสัตว์ป่า เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่มีการกระทำผิดมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 4 รองจากการลักลอบค้าอาวุธ ค้ายาเสพติด และค้ามนุษย์ อ้างจากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมกันสะท้อนปัญหาในการประชุมประจำปีของสมาคมอเมริกันเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ จัดที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อ 2 วันก่อน ซึ่งปัญหาการลักลอบค้างาช้าง เป็นหนึ่งในประเด็นที่วงประชุมแสดงความวิตกกังวล

เหล่าผู้เชี่ยวชาญสะท้อนให้เห็นถึงการลักลอบค้างาช้างในทวีปแอฟริกาที่คุกคามชีวิตช้างว่าเกิดขึ้นในพื้นที่ฮอตสปอตเพียงไม่กี่จุดที่มีความเชื่อมโยงกันทางภูมิศาสตร์และอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มผู้มีอิทธิพลเพียงไม่กี่กลุ่ม

แซมมวล วาสเซอร์ นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน หนึ่งในผู้ร่วมวงประชุม ที่ใช้วิธีการศึกษาผ่านการวิเคราะห์ทางพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ในการติดตามรอยการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย บอกว่า จากการศึกษาด้วยวิธีการนี้ทำให้พบข้อมูลที่น่าแปลกใจว่าแหล่งลักลอบค้างาช้างขนาดใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เดียว โดยตัวการใหญ่ของขบวนการมีอยู่ไม่กี่คน ที่ควบคุมการค้าผิดกฎหมายนี้ที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กรณีศึกษาที่มีการตีพิมพ์ในวารสาร “ไซน์ซ” เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งวาสเซอร์เป็นหนึ่งในทีมวิจัย ตีแผ่ให้เห็นเป็นครั้งแรกว่าการค้างาช้างผิดกฎหมายส่วนใหญ่มาจาก 2 ภูมิภาคสำคัญในทวีปแอฟริกา คือถ้าไม่มาจากเขตพื้นที่คุ้มครองที่ครอบคลุมจากประเทศแคเมอรูน คองโก ไปจนถึงกาบอง ก็จะมาจากแอฟริกาตะวันออก โดยเฉพาะจากแทนซาเนีย

Advertisement

การสืบจากรอยดีเอ็นเองาช้างตัวอย่างราว 200 กิ่งที่ยึดได้นับแต่ปี 2006 แสดงให้เห็นว่าขบวนการลักลอบค้าช้างสามารถเคลื่อนย้ายของกลางออกไปจากพื้นที่ฮอตสปอตได้อย่างรวดเร็วมาก อย่างใน “มอมบาซา” เมืองใหญ่อันดับ 2 ของเคนยา ที่เป็นจุดขนถ่ายงาช้างเถื่อนแหล่งใหญ่ที่สุดในตลาดแอฟริกา ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีผู้ค้ารายใหญ่เพียงแค่ 1 หรือ 2 รายเท่านั้นที่สามารถกระจายของกลางออกไปจากพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว

การศึกษายังพบว่าในแต่ละปีมีช้างที่ถูกล่าในแอฟริกามากถึงราว 50,000 ตัว ทำให้ขณะนี้มีช้างที่หลงเหลืออยู่ในภูมิภาคนี้ราว 450,000 ตัว

เท่านั้น ขณะที่การค้าผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมีมูลค่าราว 20,000 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นเงินที่ได้จากการค้างาช้างผิดกฎหมายราว 3,000 ล้านดอลลาร์

Advertisement

อัลแลน ธอร์นตัน ประธานสำนักงานสอบสวนด้านสิ่งแวดล้อมบอกว่าข้อมูลหลักฐานที่รวบรวมมาได้ทั้งหมดบอกเราว่าไม่สามารถจัดการการค้างาช้าง และกลุ่มคนเหล่านี้ทรงอิทธิพลมาก ความพยายามบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการค้างาช้างที่ผ่านมาถือว่าล้มเหลว มีเพียงมาตรการเดียวที่เคยทำและเห็นผลคือ มาตรการห้ามค้างาช้างที่บังคับใช้เป็นเวลา 8 ปีเริ่มจากปี 1989 แต่หลังจากมีการยกเลิกมาตรการนี้ไปในปี 1997 ภายใต้การกดดันของญี่ปุ่น การล่าช้างเพื่อเอางาก็หวนกลับอีก และยิ่งนับจากปี 2008 หลังอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) เปิดทางให้การค้างาช้างจาก 3 ชาติแอฟริกันส่งไปยังญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นตลาดสำคัญได้ ยิ่งทำให้เห็นการล่าช้างเพิ่มหนักขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญบางคนอย่างวาสเซอร์เสนอแนวทางแก้ปัญหาว่าควรมุ่งไปที่การกวาดล้างขบวนการค้างาช้างผิดกฎหมายให้หมดสิ้น แต่ก็มีอีกหลายเสียงที่มองว่าควรแก้ที่ต้นตอของปัญหา นั่นคือตัดอุปสงค์หรือความต้องการงาช้างลง โดยเฉพาะในตลาดใหญ่อย่างจีน ที่มีอุปสงค์งาช้างคิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ของอุปสงค์งาช้างในตลาดโลกรวมกัน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image