ทูตไทยประจำอียู
เดินหน้าสร้างแนวร่วม
ขจัดอุปสรรค EUDR
///
หมายเหตุ “มติชน” นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป (อียู) ชี้แจงความคืบหน้าของการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free Products Regulation-EUDR) และประเด็นที่ 17 ประเทศรวมถึงไทยได้ส่งหนังสือเรียกร้องให้มีการทบทวนการปฏิบัติตามกฎมายดังกล่าว
///
๐กฎหมาย EUDR ของอียูสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ประกอบการไทยมากพอสมควร ล่าสุดทราบว่าประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทยได้มีการดำเนินการร่วมกันในประเด็นนี้
กฎหมายของอียูว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม่ทำลายป่ามีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 มีสาระสำคัญกำหนดให้ผู้นำเข้าและผู้ผลิตของอียูในสินค้า 7 ประเภท ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เนื้อวัว ไม้ กาแฟ โกโก้ ถั่วเหลือง และสินค้าปลายน้ำบางรายการต้องยื่น Due Diligence statement รับรองว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้มาจากพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่า (deforestation-free) โดยผู้ส่งออกสินค้าข้างต้นไปยังอียูจะต้องส่งพิกัดภูมิศาสตร์ และข้อมูลหลักฐานประเภทที่ดินให้แก่บริษัทนำเข้าของอียู เพื่อบริษัทดังกล่าวใช้ประกอบการจัดทำรายงานเพื่อยืนยันว่าสินค้าเหล่านั้นถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งจะเพิ่มขั้นตอนและค่าใช้จ่ายอย่างมาก ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเกษตรกรและผู้ส่งออกของไทยจำนวนกว่า 1.7 ล้านครัวเรือน ตลอดจนมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม 7 ประเภทไปอียู คิดเป็น 6.2 หมื่นล้านบาทในปี 2564 โดยเฉพาะยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราซึ่งมียอดส่งออกมากที่สุดโดยมีมูลค่าถึง 6 หมื่นล้านบาท
ล่าสุด 17 ประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทยได้ร่วมกันยื่นหนังสือเรียกร้องให้อียูทบทวนการปฏิบัติตามกฎหมาย EUDR โดยสาระสำคัญของหนังสือที่ประเทศกำลังพัฒนา 17 ประเทศ ประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิล โบลิเวีย โคลัมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ กัวเตมาลา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เม็กซิโก ไนจีเรีย ปารากวัย เปรู กานา โกตติวัวร์ ฮอนดูรัส และไทย ส่งถึงผู้นำสูงสุดของ 4 สถาบันของสหภาพยุโรป ปะกอบด้วย 1.ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป 2.ประธานคณะมนตรียุโรป 3.ประธานรัฐสภายุโรป และ 4.ประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งโดยสเปน เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังนี้
1. แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อกฎหมาย EUDR ที่มิได้คำนึงถึงกฎหมาย อุปสรรคและความท้าทาย สภาพของท้องถิ่น ความสามารถในการแข่งขัน และความพยายามของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้ผลิตซึ่งพยายามป้องกันและกำจัดการตัดไม้ทำลายป่าอยู่แล้ว โดยอียูจะเป็นผู้พิจารณาแต่ฝ่ายเดียวเพื่อกำหนดว่า ประเทศใดมีความเสี่ยงในการตัดไม้ทำลายป่า (unilateral benchmarking) เพื่อเลือกปฏิบัติต่อแต่ละประเทศอย่างที่อาจไม่สอดคล้องกับพันธกรณีขององค์การการค้าโลก (WTO)
2. กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้ผู้ส่งออกและผู้ผลิตต้องปฏิบัติตาม EUDR ต้องเริ่มปฏิบัติตามเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 4 ของปี ค.ศ. 2024 ซึ่งหมายความว่าจะมีเวลาเพียง 16 เดือนนับจากนี้ที่จะเตรียมตัว ทั้งที่อียูยังไม่ได้ประกาศแนวปฏิบัติ (guidelines) ที่ชัดเจนว่าทุกฝ่ายต้องดำเนินการอย่างไร ในระหว่างที่อียูกำลังยกร่างแนวปฏิบัตินี้ อียูจึงควรหารือเพื่อรับฟังประเทศผู้ผลิต เพื่อให้แนวปฏิบัติที่จะออกมาพิจารณาลดผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยให้ข้อกำหนดมีความยืดหยุ่นทั้งในเรื่องการแสดง due diligence การให้ข้อมูลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของการเพาะปลูก การตรวจสอบย้อนกลับ การออกใบรับรองต่าง ๆ ขั้นตอนทางศุลกากร ซึ่งเป็นอุปสรรคการค้าสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
3. หากอียูไม่หารือกับประเทศกำลังพัฒนาและให้ความยืดหยุ่นข้างต้น กฎระเบียบและแนวทางของอียูจะเพิ่มขั้นตอนและภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้นำเข้าและผู้ผลิตอย่างมาก ทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่ากฎหมายนี้จะสามารถลดอัตราการตัดไม้ทำลายป่าได้จริง แต่ผลที่จะเกิดอย่างแน่นอนคือผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาให้ต้องรับภาระและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดอียูได้อย่างที่เคยเป็นมา ถูกกีดกันออกจากห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกิดความยากจนและเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยังยืนของสหประชาชาติ
4. การถูกกีดกันออกจากห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศดังกล่าว มิได้มีสาเหตุจากเกษตรกรรายย่อยเหล่านั้นเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่าตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แต่เกิดจากการไม่สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นภาระเกินความจำเป็น ประเทศผู้ร่วมลงนามจึงเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจนของสินค้าทั้ง 7 ประเภท โดยคำนึงถึงข้อจำกัดของประเทศกำลังพัฒนา
5. ประเทศกำลังพัฒนาก็มีเป้าหมายต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าและยึดมั่นในพันธกรณีตลอดจนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศเดียวเช่นกับอียู แต่อียูก็ต้องดำเนินการในเรื่องนี้โดยไม่ละเลยวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และหลักการ principle of common but differentiated responsibilities จึงขอเรียกร้องให้อียูร่วมมือกับหุ้นส่วนต่างๆ อย่างจริงจังเพื่อร่วมกันแก้ไขผลกระทบของ EUDR และอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย
๐นอกจากจดหมายดังกล่าวแล้ว ได้มีการพูดคุยกับภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
ผมได้ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่รับตำแหน่ง ก่อนหน้าที่จะส่งจดหมายในนาม 17 ประเทศข้างต้น เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ก็ได้ไปหารือกับผู้บริหารสมาคมยางของยุโรป (European Tyre & Rubber Manufacturers Association-ETRMA) ที่ตั้งอยู่ในบรัสเซลส์ ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทเอกชนผู้ผลิตยางรถยนต์อย่าง มิชลิน กู๊ดเยียร์ และคอนติเนนทอล รวมทั้งสมาชิกสมาคมผู้ผลิตสินค้ายางระดับเอสเอ็มอี เขาก็อยู่ระหว่างขอรับความชัดเจนจากกระทรววสิ่งแวดล้อมของอียูในหลายประเด็นเช่นกัน อาทิ เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับยาพารา
การที่เราไปพูดคุยกับเขาก็เพื่อแสดงความห่วงกังวลของเรา แลกเปลี่ยนนข้อมูลว่าเขาได้ไปคุยกับอียูมากน้อยแค่ไหน และยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการจัดเก็บภูมิศาสตร์ของฝ่ายไทย พร้อมกับแจ้งให้ทราบว่าไทยมีข้อมูลหลักฐานประเภทที่ดินที่ก้าวหน้า และพูดถึงข้อกังวลของฝ่ายไทยที่ได้หารือกับกรรมาธิการ (กมธ.) อียูด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว เรายังเสนอให้ ETRMA ประสานกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ด้วย
เมื่อวันที่ 4 กันยายน ประธาน กยท.และผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยพร้อมคณะ ก็ได้เดินทางมาที่บรัสเซลส์และได้มาหารือกับผมเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการ โดยเน้นให้ กมธ.อียูด้านสิ่งแวล้อมทราบถึงความสำคัญที่ไทยให้กับสิ่งแวดล้อม การรักษาป่า การดำเนินการของไทยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเอ็น และความพร้อมของไทยในแง่กฎหมายไทยที่จะรับรองการตรวจสอบว่าไม่ได้มีการรุกรานป่า กยท.เขามีความพร้อม โดยที่เขาเป็นสมาคมก็น่าจะมีน้ำหนักในการอธิบายกับอียู และชูประเด็นจุดแข็งของไทยว่ายางพาราของเราไม่ได้มาจากการรุกป่าไม้ พร้อมกับแนะให้เขาอธิบายถึงความสำคัญของยางพารากับภาคเกษตรกรชาวสวนของไทยด้วย
นอกจากนี้ยังแนะนำว่าหากมีหนังสือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยางในไทยถึง กมธ.ยุโรปด้วยจะมีน้ำหนักมากขึ้น หลังจากที่ทูต 17 ประเทศได้ทำหนังสือไปแล้ว เพื่อให้อียูเห็นว่าไทยสามารถเป็นโมเดลด้านการตรวจสอบที่สอดคล้องกับการไม่รุกรานป่า และยังแนะนำให้ กทย.ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอินโดนีเซียและมาเลเซีย ให้ไปหาแนวร่วมกับทั้งสองประเทศซึ่งถือเป็นประเทศผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของโลก
๐ในส่วนของคณะทูต 17 ประเทศ จะมีการดำเนินการใดๆ เพิ่มเติมหลังจากร่วมกันลงนามในหนังสือไปแล้ว
ทูตทั้ง 17 ประเทศได้นัดหารือต่อกับผู้บริหารระดับสูงเทียบเท่าปลัดกระทรวงด้านสิ่งแวดล้อมของอียูในวันที่ 18-19 กันยายนนี้ ต่อไป ขณะนี้อียูยังอยู่ระหว่างการร่างแนวปฏิบัติ เราต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับเขาว่าเขาต้องรับฟังข้อห่วงกังวลของเราว่ามีอะไรบ้าง ไทยถือว่ามีประสบการณ์และมีความก้าวหน้าพอสมควรว่าสินค้ายางพาราของเราไม่ได้มาจากการรุกรานป่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับไทยจะสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการยกร่างแนวปฏิบัติของเขาได้ เพราะถึงแม้ EUDR จะเป็นกาบังคับใช้กับ 27 ประเทศสมาชิกอียู แต่มีผลกระทบต่อประเทศที่ส่งออกสินค้าไปยังอียูทั้งหมด
๐ดูเหมือน EUDR จะมีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนของแนวปฏิบัติ หลังจากที่ได้ 17 ประเทศส่งเรื่องไปท่าทีของฝ่ายอียูเป็นเช่นไร
สิ่งที่เราทำคือการพยายามหาแนวร่วม ที่สำคัญคือเราต้องการให้เขาฟังข้อกังวลของประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รัผลกระทบ และขอให้ผู้ที่จะออกแนวปฏิบัติมีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และพูดคุยกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับบผลกระทบ ที่ผ่านมาผมก็พบกับในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการค้าของอียู ก็หยิบยกเรื่องนี้มาคุยโดยตลอด นอกจากนี้เรายังหาแนวร่วมและคุยกับภาคเอกชนของยุโรป อาทิ สภาธุรกิจอียู-อาเซียนและกมธ.สิ่งแวดล้อมของอียู เพราะกฎหมายนี้ก็กระทบกับภาคเอกชนของยุโรปด้วย
แน่นอนว่าในหลักการมันจำเป็นที่จะต้องไม่มีการรุกรานป่า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไทยก็มีส่วนร่วมในเวทีนานาชาติหลายเวทีและเราก็ปฏิบัติตามพันธกรณีเหล่านั้น เราไม่ขัดเรื่องเจตนารมย์ แต่ขอให้คำนึงถึงผลลบที่อาจเกิดขึ้นกันสินค้าและเกษตรกรของเราซึ่งไม่เป็นผลดี
๐มีความเห็นอย่างไรที่มีคนมองว่า EUDR ก็เป็นเสมือนมาตรการกีดกันทางการค้าอีกอย่างหนึ่ง
ในจดหมายของทูต 17 ประเทศก็ระบุแล้วว่ามันอาจขัดกับ WTO ผมเคยหารือกับอียูว่ากฎหมายนี้และกฎหมายอื่นๆ ของอียูเป็นการสร้างกระแสของการกีดกันทางการค้า เราไม่ต้องการให้กฎหมายนี้กลายเป็นการสร้างกำแพงและกีดกันทางการค้า และสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อไม่ให้มันเป็นเช่นนั้น เพราะไทยอียูก็กำลังจะเจรจาเอฟทีเอรอบแรกในเร็วๆ นี้ ขณะที่อาเซียน-อียูก็เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ ความร่วมมือระหว่างกันกำลังเดินหน้าไปในทางที่ดี เราไม่อยากให้เรื่องนี้มาบั่นทอนทิศทางความร่วมมือในทางบวกที่มีอยู่ระหว่างกัน