“นิวยอร์ก ไทม์ส” ตีแผ่ปัญหา “ป้อมมหากาฬ” ผ่านรายงาน “การต่อสู้ด้วยสิ่งที่เหลือจากอดีต”

เว็บไซต์นิวยอร์ก ไทม์ส เผยแพร่บทความรายงานพิเศษเกี่ยวกับปัญหายืดเยื้อระหว่างกรุงเทพมหานคร กับชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ในโครงการปรับปรุงชุมชนป้อมมหากาฬเป็นพื้นที่สาธารณะ เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ในชื่อว่า “การต่อสู้กับการบูรณะพื้นฟูด้วยการยึดติดกับสิ่งที่เหลือจากอดีต” เปิดมุมมองสองด้าน การต่อสู้ระหว่าง การให้ความหมายของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ กับความหมายของการอนุรักษ์

เซธ ไมแดนส์ ผู้สื่อข่าวของนิวยอร์กไทม์ส นำเสนอเรื่องราวของปัญหาความขัดแย้งที่ป้อมมหากาฬในกรุงเทพมหานครที่ยืดเยื้อกันมาเป็นเวลา 24 ปี ด้านชาวบ้านในชุมชนหลังป้อมปฏิเสธที่จะย้ายออก ขณะที่กำหนด “เส้นตาย” ที่กทม.ประกาศจะรื้อชุมชนในเดือนกุมภาพันธ์ก็กำลังจะมาถึง

รายงานระบุว่า ป้อมมหากาฬเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นหนึ่งในสองป้อมที่เหลืออยู่จากยุคอดีตที่เคยมีมากถึง 14 ป้อม ขณะที่ชาวบ้านที่เหลืออยู่เพียง 44 หลังคาเรือน และชาวบ้านราว 300 คน ปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งรัฐบาลที่ระบุให้ย้ายออกเพื่อเปิดทางในการก่อสร้างสวนสาธารณะ

รายงานอ้าง ชาตรี ประกิตนนทการ รองศาตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรที่ระบุว่า ตนไม่แน่ใจนักว่าเส้นตายดังกล่าวจะเป็นเส้นตายที่แท้จริงหรือไม่ และระบุถึงปัญหาในป้อมมหากาฬว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่าง ความหมายของสถานที่ทางประวัติศาสตร์ กับความหมายของการอนุรักษ์
“ความหมายของประวัติศาสตร์ของรัฐบาลคือวังและวัด” รศ.ชาตรี ระบุ และว่า “ในความหมายของรัฐบาลชุมชนไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์”

Advertisement

รศ.ชาตรี ระบุด้วยว่า ปัญหาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการตั้งคำถามถึงชนชั้น ที่คนในชุมชนที่ยากจนมักจะถูกไล่ที่หรือถูกบังคับโดยค่าครองชีพที่จะต้องย้ายออกไปจากใจกลางเมืองและต้องเผชิญกับการเดินทางเพื่อเข้ามาทำงาน
“พื้นที่ชุมชนเล็กๆเหล่านี้จะกลายเป็นพื้นที่ที่รับใช้ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง และนักท่องเที่ยว” รศ.ชาตรี ระบุ และว่า “มันไม่ใช่เมืองสำหรับทุกๆคน สำหรับชนชั้นกลางอย่างเรา เราต้องการคนที่จะเก็บขยะ กวาดถนน หากคุณไม่เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้อยู่ในเมือง ก็เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม”

ไมแดนส์ ระบุผ่านรายงานว่า แรงกดดันชุมชนป้อมมหากาฬระลอกล่าสุดมีขึ้นในเวลาเดียวกับที่รัฐบาลมีนโยบายเคลียร์พื้นที่ทางเท้าให้ปราศจากแผงค้าและรถเข็ญที่ไม่เป็นระเบียบ โดยนับถึงเดือนตุลาคม มีร้านค้าถูกขับออกจากพื้นที่สาธารณะแล้ว 19,678 ร้าน จากที่สาธารณะ 223 จุดใน 42 เขต นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนจะปรับปรุงทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะต้องทำให้ครอบครัว 309 ครัวเรือนใน 12 ชุมชนต้องย้ายออกจากพื้นที่ด้วย

รศ.ชาตรี ระบุว่า นั่นเป็นหลักคิดของรัฐบาลทหารที่จะต้องมีกฎ ระเบียบ ความเรียบร้อย กำจัดสิ่งไม่เป็นระเบียบออกไป

Advertisement

ด้านไมเคิล เฮิร์ซเฟลด์ อาจารย์คณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า ตนคิดว่ากรุงเทพมหานครดำเนินการภายใต้โมเดลความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่ปราศจากผู้คน “พวกเขาลืมไปว่าเมืองนั้นมีเพื่ออะไร ชีวิตเมืองก็ต้องมีความไม่เป็นระเบียบที่ยอมรับได้อยู่บ้าง” เฮิร์ชเฟลด์ ระบุ

เฮิร์ซเฟลด์ ระบุว่า “ผู้วางแผนเมืองอยู่กับโลกจินตนาการของชนชั้นกลางที่ทำได้ยากในโลกความเป็นจริง” และว่าความพยายามดังกล่าวเป็นเพียงการเคลียร์พื้นที่เท่านั้น

รายงานของไมแดนส์ ระบุว่า ชาวชุมชนป้อมมหากาฬได้ทำงานและแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถทำให้เพื้นที่มีความสะอาดและติดป้ายให้ความรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษบนตัวอาคารที่เก่าแก่และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้ด้วย เช่นป้ายที่ระบุว่าเป็นสถานที่โรงลิเกเก่าแก่ที่ปัจจุบันกลายเป็นร้ายขายอาหารไปแล้ว หรืออาคารที่เคยเป็นธุรกิจหลอมทองที่เปลี่ยนมาทำธุรกิจส่งน้ำแล้วในปัจจุบัน ขณะที่อีกหลายๆอาคารที่ระบุว่าเคยเป็น ร้านเครื่องปั้นดินเผาเก่า สถานีตำรวจเก่า และอื่นๆแสดงให้เห็นถึงการค้าขายที่เคยมีในพื้นที่แห่งนี้

ไมแนส์ ทิ้งท้ายว่า เศษเสี้ยวอดีตที่หลงเหลืออยู่เหล่านี้มีฉากหลังที่รายล้อมเป็นสิ่งที่อาจเป็นอนาคตของชุมชนป้อมมหากาฬ นั่นก็คือซากบ้าน 12 หลังที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐรื้อทิ้งไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image