คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: อุตสาหกรรม 4.0 (2) การต่อสู้ของคนกับเครื่องจักร

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเราคุยกันถึงคุณลักษณะของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่นำไปสู่สิ่งที่เรียกกันว่า “อุตสาหกรรม 4.0” ซึ่งต่อยอดมาจากระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (ออโตเมชั่น) ในยุค 3.0 ภายใต้การเหนี่ยวนำสำคัญของปัจจัยหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พัฒนาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ และการเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายภายใต้เทคโนโลยีเน็ตเวิร์กรุ่นใหม่ ที่นำไปสู่ การมาถึงของ “ปัญญาประดิษฐ์” (เอไอ) และ “อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” (ไอโอที) ที่หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเข้ากับระบบการผลิตอัตโนมัติก่อนหน้านี้ ทำให้โรงงานผลิตกลายเป็น “สมาร์ท แฟคตอรี” ระบบการผลิตวิวัฒน์ไปสู่ “สมาร์ท โปรดักชั่น ซิสเต็ม”

เราถกกันถึงความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และยกระดับตัวเองเพื่อรองรับการก้าวสู่ยุคสมัยใหม่นี้ เพราะทุกอย่างที่รายล้อมอยู่โดยรอบตัวเรา สังคมของเรา และประเทศของเรา เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง เราจำเป็นต้องก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งของ “ปฏิวัติ” นี้ หากไม่ต้องการกลายเป็นผู้ที่ถูกการปฏิวัติครั้งนี้ “โค่นล้ม”

ทั้งหมด “พูด” ง่ายกว่า “ทำ” มากมายนัก เพราะในความเป็นจริงแล้วส่วนที่ยากเย็นที่สุดเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 ก็คือการทำความเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้ก่อให้เกิดขึ้นในทุกๆ ด้าน และตระเตรียมแนวทาง หรือแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นดังกล่าวเหล่านั้นไว้ทันท่วงที

คำถามก็คือ แล้วอุตสาหกรรม 4.0 มาถึงเราเร็วแค่ไหนกัน? คำตอบก็คือเร็วมาก เร็วเพราะกว่าจะรู้สึกตัวอีกที ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปจนหมดแล้ว

Advertisement

เซบาสเตียน ทรุน ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านเทคโนโลยี แห่งมหาวิทยาลัยเดลฟ์ท สหรัฐอเมริกา ผู้ให้กำเนิด “กูเกิล เซลฟ์-ไดรวิง คาร์” ให้ทรรศนะเอาไว้ประการหนึ่งว่า แม้แต่อุตสาหกรรมที่ลงหลักปักฐานมั่นคงในช่วงที่ผ่านมา ยังปรับธุรกิจของตัวเองได้ไม่เร็วพอที่จะรองรับกับความเปลี่ยนแปลงใหม่นี้

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ การมาถึงของอุตสาหกรรม 4.0 เร็วมากเสียจนกระทั่งเรายังไม่มีศัพท์เรียกขานสิ่งใหม่ที่มาถึงนี้ชนิดที่ครบถ้วนสมบูรณ์ แม้แต่ในภาษาอังกฤษ

กระนั้น อุตสาหกรรม 4.0 ก็ไม่ได้ผุดขึ้นมาแบบลอยๆ และไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคำกล่าวบอกเล่าเพียงไม่กี่คำ หากแต่มีพัฒนาการเป็นขั้นเป็นตอนอยู่ชัดเจน

Advertisement

คิมเบอร์ลีย์ นิคเคิล รองประธานฝ่ายวิจัยของ ไอดีซี บริษัทวิจัยธุรกิจชื่อดัง ยืนยันเอาไว้ว่า การก้าวสู่ยุค 4.0 ไม่ว่าจะที่ใด ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจใด จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนสำคัญที่สุดประการหนึ่งทุกครั้งไป นั่นคือการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล (ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น)

ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น ที่หัวใจสำคัญประกอบด้วย เทคโนโลยีคลาวด์, บิ๊กดาตา อนาไลติคส์, โซเชียล บิซิเนส โมเดล และโมบายล์ เทคโนโลยี

“คลาวด์” กับ “โมบายล์ เทคโนโลยี” เราเข้าใจและคุ้นเคยกันอยู่ แม้แต่ “บิ๊กดาตา อนาไลติคส์” กับ “โซเชียล บิซิเนส โมเดล” ก็เป็นสิ่งที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน เพียงแต่เราไม่รู้จักคำเรียกขานและมองไม่เห็นรูปลักษณ์ของมันที่อยู่เบื้องหลังของชื่ออย่าง กูเกิล เฟซบุ๊ก หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ อาทิ ไลน์ เป็นต้น

นิคเคิลเชื่อว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลดังกล่าวนี้ ทำให้บริษัทหรือธุรกิจต่างๆ สามารถก้าวกระโดดไปอีกขั้นไปสู่การผลิตในยุคใหม่ได้

เทคโนโลยีใหม่ๆ และการเสริมสมรรถนะของเทคโนโลยีเดิมต่างๆ เหล่านั้น ช่วยเปิดโอกาสให้บรรดาบริษัทต่างๆ สามารถก้าวไปข้างหน้าและเริ่มนำเอาสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นของ “ยุคต่อไป” เพื่อยังประโยชน์สูงสุดให้เกิดขึ้นได้ ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านซีเคียวริตี้, อ็อกเมนต์ และเวอร์ชวล เรียลิตี้, อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์, ค็อกนิทีฟ คอมพิวติ้ง ซิสเต็ม, โรโบติคส์ และระบบการพิมพ์ 3 มิติ

ทั้งหมดนั้นประกอบกันขึ้นเป็นกระบวนการผลิตสำหรับโรงงานผลิตในยุคใหม่ ที่ไม่เพียงเปลี่ยนการผลิต แต่ยังเปลี่ยนทุกอย่างตั้งแต่ สำนักงานเพื่อการผลิต โรงงาน เรื่อยไปจนถึงทุกๆ ขั้นตอนที่เกี่ยวเนื่องตั้งแต่ “ต้นน้ำ” อย่างผู้ผลิตวัตถุดิบไปจนกระทั่งถึง “ปลายน้ำ” ที่เป็นผู้บริโภค เปลี่ยนแม้แต่กระทั่งศักยภาพของ “กระบวนการตัดสินใจ”

เพื่อให้เห็นกระบวนการทั้งหมดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ผู้เชี่ยวชาญต่างช่วยกันจำลองรูปแบบของกระบวนการผลิตที่กำลังจะเกิดขึ้นเอาไว้ให้เข้าใจกันได้มากขึ้น ดังนี้

เริ่มต้นจาก “บิ๊กดาตา” และกระบวนคิดแบบ “อนาไลติค” อัลกอริธึมต่างๆ จะช่วยให้เราสามารถนำเอาข้อมูลมหาศาลจากคลังข้อมูลที่อยู่บนพื้นฐานของการผลิต จำหน่าย และปฏิกิริยาต่อผลผลิตในประวัติศาสตร์ มาใช้ประโยชน์เพื่อ “ควบคุมคุณภาพ” ทั้งของสินค้าและกระบวนการผลิต ลดปริมาณความเสียหายจากกระบวนการผลิตลง

การจำลองสายพานการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยซอฟต์แวร์อัจฉริยะควบคู่กับเทคโนโลยี เออาร์/วีอาร์ ช่วยให้สามารถออกแบบไลน์การผลิตที่อำนวยประโยชน์สูงสุดได้

การตัดสินใจเลือกวัตถุดิบ เป็นไปได้โดยง่ายเมื่อเครือข่ายผู้ผลิตวัตถุดิบทั้งหลายปรากฏอยู่บนโลกออนไลน์ในรูปของ “สมาร์ท ซัพพลาย เน็ตเวิร์ก” อาทิ ช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบวัตถุดิบได้ในทุกมิติตามต้องการ

“หุ่นยนต์” ที่อยู่ในรูปของ “ฮิวมานอยด์” ที่มีความยืดหยุ่นสูงจากระบบ “ค็อกนิทีฟ คอมพิวติ้ง ซิสเต็ม” ที่สามารถสื่อสารพูดคุยซึ่งกันและกัน ทั้งยังสื่อสารกับ “แบ๊ก ออฟฟิศ” ได้แบบเรียลไทม์ คือผู้ที่ทำหน้าที่ที่เหลือทั้งหมดในกระบวนการผลิต อาทิ “การประกอบผลผลิต” และ “แพคเกจจิ้ง”

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่สามารถพิมพ์ “สิ่งของ” ออกมาได้ตามรูปแบบที่ต้องการ ตามวัสดุที่เลือกใช้ จะเอื้อให้การจัดทำชิ้นส่วนของสินค้าที่ซับซ้อนแล้วเสร็จลงในขั้นตอนเดียว ทำให้สายพานการผลิตไม่เพียงรวดเร็ว ไม่สะดุดรอ แต่ยังสามารถมีสายการผลิตได้มากเท่าที่ต้องการอีกด้วย

ระบบโลจิสติกส์อัตโนมัติเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นไปได้จากเทคโนโลยีรถยนต์ “อัจฉริยะ” ทำหน้าที่ประกอบกันขึ้นเป็นระบบขนส่งอัตโนมัติที่ไม่มีวันหยุดทั้งภายในโรงงาน (และโครงข่ายภายนอก อาทิ การลำเลียงวัตถุดิบและ/หรือการจัดส่งสินค้า)

“อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาทุกชิ้นติดตั้งอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบการทำงานจากระยะไกล (รีโมต มอนิเตอริง) ได้ ทำให้สามารถรู้สภาพของสินค้าล่วงหน้า และแจ้งให้ซ่อมแซมก่อนที่จะถึงจุดที่ทำให้เกิดการขัดข้องได้

ซึ่งทำให้ผู้ผลิตไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังขาย “บริการ” รวมไว้ในสินค้าทุกตัวด้วย รวมทั้งบริการทำนุบำรุงสินค้าให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีตลอดเวลา

อีกครั้งที่การให้บริการและการซ่อมบำรุงสินค้า สามารถใช้ประโยชน์จาก “ออกเมนต์ เรียลิตี” สำหรับแนะนำวิธีการในการซ่อมบำรุงต่อผู้ใชโดยตรงจากระยะไกล นอกเหนือจากการจัดส่งเอกสารเป็นคู่มือให้แล้ว

หลายๆ อย่างดังกล่าวทำให้การผลิตอยู่ในรูปของ “เซลฟ์-ออร์แกไนซิง โปรดักชั่น” กระบวนการผลิตที่จัดระบบทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง จัดการทำให้จักรกลทุกส่วนก่อประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด

คำถามสำคัญอันสืบเนื่องจากกระบวนการผลิตทั้งหมดเหล่านี้ก็คือ แล้ว “คน” ไปอยู่ตรงไหน?

คนที่เคยแบกลังขึ้นรถ คนที่เคยถือประแจขันนอต คนที่เคยถือหัวแร้งบัดกรีแผงเซอร์กิต จะไปทำอะไรกัน?

ประเด็นว่าด้วยเรื่องของ “คน” กับ “จักรกล” คืออุทาหรณ์ที่ดีที่สุดเพื่อแสดงให้เห็นว่า “อุตสาหกรรม 4.0” ส่งผลสะเทือนมากมายทั้งในทางกว้างและทางลึกได้อย่างไร เคลาส์ ชว็อบ ที่ครุ่นคิดในเรื่องนี้อย่างรอบด้าน บอกเอาไว้ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ก็เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีศักยภาพในอันที่จะยกระดับรายได้ของทั้งโลกให้สูงขึ้น ผลักดันให้คุณภาพชีวิตของคนบนโลกดีขึ้น เทคโนโลยีสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ บริการใหม่ๆ เป็นไปได้ สร้างความพึงพอใจ เพิ่มประสิทธิภาพให้กับปัจเจกบุคคล

ทุกวันนี้เราสามารถเรียกแท็กซี่, จองตั๋วเครื่องบิน, ซื้อข้าวของอย่างที่อยากได้, จ่ายเงิน, ฟังเพลง, ชมภาพยนตร์ หรือเล่นเกม ได้จากเก้าอี้ตัวโปรดในห้องนั่งเล่นที่สุขสบายในบ้านของตัวเอง

ในอนาคต นวัตกรรมทางเทคโนโลยีสามารถนำโลกไปสู่สิ่งที่ชว็อบเรียกว่า “ซัพพลาย-ไซด์ มิราเคิล” ที่ทำให้ผลิตภาพและประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นในระยะยาว ต้นทุนการขนส่ง การสื่อสารจะลดลง โลจิสติกส์และซัพพลายเชนของโลกจะยิ่งทวีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการลดลง ตลาดเกิดใหม่มีมากมายและเศรษฐกิจขยายขึ้นเป็นเงาตามตัว

แต่นักเศรษฐศาสตร์อย่าง เอริค บรินจอล์ฟส์สัน และแอนดรูว์ แมคอาฟี ก็ชี้ให้เห็นว่าในเวลาเดียวกันนั้น อุตสาหกรรม 4.0 ก็สามารถก่อให้เกิดความไม่เสมอภาครุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดแรงงาน จักรกลจะเข้าไปแทนที่แรงงานทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ ผลักดันคนงานออกมาจากตำแหน่งหน้าที่ที่คุ้นเคย เกิดช่องว่างมหึมาระหว่างผลผลิตที่ได้จากจักรกลกับผลที่ได้จากแรงคน

ในทรรศนะของ เคลาส์ ชว็อบ ในโลกอนาคต “ความสามารถพิเศษ” ของคนจะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งยวดต่อการผลิตมากกว่า “เงินทุน” ผลลัพธ์จะลงเอยด้วยการที่ตลาดแรงงานแยกออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน ส่วนแรก เป็นกลุ่ม “ทักษะต่ำ/ค่าจ้างต่ำ” ตรงกันข้ามกับอีกกลุ่มที่ “ทักษะสูง/ค่าตอบแทนสูง”

สังคมจะตกอยู่ในภาวะ “ตึงเครียด” อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นอกจากนั้นยังเป็นไปได้ว่าเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับรายได้ให้กับคนกลุ่มหนึ่ง อาจทำให้รายได้ของคนอีกกลุ่มหนึ่งหยุดชะงัก หรืออาจลดลงอย่างฮวบฮาบ

สังคมมีแต่ส่วน “สูงสุด” กับ “ต่ำสุด” ส่วนตรงกลาง “กลวงเปล่า” โดยสิ้นเชิง

ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าไปสู่สภาวะเศรษฐกิจแบบ “วินเนอร์-เทก-ออลล์” ในที่สุด

อุทาหรณ์เชิงลบจากผลกระทบของอุตสาหกรรม 4.0 เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า การก้าวไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่นี้จะเกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้ หรือตระเตรียมเพียงโครงสร้างทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างข้างต้นดังกล่าวคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของประสบการณ์ที่ “ชนชั้นกลาง” ในบางประเทศมองการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่าเป็น “ภัยคุกคาม” และเป็นที่มาของความ “ไม่เป็นธรรม” เป็นอะไรบางอย่างที่จำกัดการเข้าถึงของชนชั้นกลาง ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นสูตรผสมของ “ประชาธิปไตยที่ป่วยไข้” และส่วนของสังคมที่ “ถูกทอดทิ้ง”

เมื่องานเปลี่ยน ลักษณะการทำงานเปลี่ยน ค่านิยมเรื่องความสามารถในการทำงานย่อมต้องเปลี่ยนตาม นั่นหมายถึงตัวแรงงานที่ต้องการมีงานทำก็ต้องเปลี่ยน

การเปลี่ยนแปลงคนงานเพื่อให้มีขีดความสามารถใหม่ รองรับกับงานในรูปแบบใหม่ อาจไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การ “รีเทรน” หรือการฝึกอบรมใหม่ทั้งหมดเท่านั้น แต่อาจหมายถึงระบบการศึกษาที่สร้างคนขึ้นมาในระบบก็อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนการศึกษาทั้งระบบ ไม่ง่ายเหมือนเปลี่ยนเทคโนโลยีจาก 4จี เป็น 5จี แน่นอน สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเพียงด้านเดียวเท่านั้น

อุตสาหกรรม 4.0 ยังก่อให้เกิดผลกระทบอีกมากมายหลายด้านนัก!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image